posttoday

บุกก่อนได้เปรียบ จีนมาตั้งฐานทัพ พันธมิตรอเมริกาจะชิงยึดโซโลมอน 

28 เมษายน 2565

ออสเตรเลียถึงกับนั่งไม่ติดเรียกร้องให้ยกพลบุกโซโลมอนหลังโซโลมอนทำข้อตกลงด้านความมั่นคงกับจีน

ข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างจีนและโซโลมอนสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วแปซิฟิก เพราะสำหรับเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และสหรัฐซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในแปซิฟิก นี่เป็นการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในถิ่นของตัวเอง ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงในภูมิภาคนี้

สหรัฐและพันธมิตรในแปซิฟิกกลัวว่าจีนจะฉวยโอกาสเข้าไปตั้งฐานทัพในหมู่เกาะโซโลมอน (ซึ่งถ้าจีนทำจะเป็นฐานทัพแห่งแรกของจีนในแปซิฟิก) เพราะร่างสัญญาที่หลุดออกมาตอนหนึ่งระบุว่า เรือรบของจีนสามารถเทียบท่าในหมู่เกาะโซโลมอนได้ และรัฐบาลจีนสามารถส่งกองกำลังความมั่นคงมาช่วยเหลือในการรักษาความสงบเรียบร้อยทางสังคมได้

แม้จะไม่มีการพูดถึงการตั้งฐานทัพ แต่เพียงเท่านี้ก็ทำให้หลายคนนั่งไม่ติดแล้ว โดยเฉพาะในออสเตรเลียที่อยู่ห่างจากหมู่เกาะโซโลมอนราว 1,600 กิโลเมตร เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้ออสเตรเลียดำเนินการทางทหารอย่างการบุกโซโลมอนแบบเต็มรูปแบบ หรือการโค่นล้มรัฐบาลนายกรัฐมนตรี มานาสเซห์ โซกาแวร์

บางคนยังเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางการทหารของโซโลมอนกับประเทศที่ไม่ใช่มหาอำนาจตะวันตกกับวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา หลังจากที่ในช่วงทศวรรษ 1950 คิวบากลายเป็นประเทศแถบซีกโลกตะวันตกเพียงประเทศเดียวที่อยู่นอกอิทธิพลของอเมริกา

เดวิด ลีเวลลิน-สมิธ (David Llewellyn-Smith) อดีตเจ้าของนิตยสารเกี่ยวกับการต่างประเทศ The Diplomat คือแกนนำหลักที่เรียกร้องให้ออสเตรเลียบุกโซโลมอน เขาบอกว่า สกอตต์ มอร์ริสัน ควร “เผชิญหน้าโดยตรง” กับมหาอำนาจคอมมิวนิสต์ในกรณีโซโลมอนโดยใช้ “ทุกวิถีทางที่จำเป็น” เพื่อขับไล่จีนออกจากภูมิภาค

ลีเวลลิน-สมิธบอกว่า “ไม่มีทางที่ออสเตรเลียจะยอมให้ข้อตกลงนี้ดำเนินต่อไปได้ ถ้าจำเป็นออสเตรเลียควรบุกยึดเกาะกัวดัลคะแนลเพื่อที่เราจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในกรุงโฮนีอารา มันมีซอฟท์พาวเวอร์อื่นให้งัดออกมาใช้ก่อน และเราควรงัดออกมาอย่างแข็งขัน แต่เราควรเริ่มรวบรวมกองกำลังสะเทินน้ำสะเทินบกทันทีเพื่อเพิ่มแรงกดดัน”

เขายังบอกอีกว่า มันจะเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่หากจะอนุญาตให้รัฐเผด็จการจอดเรือและเรือบรรทุกเครื่องบินภายในระยะทางที่สามารถโจมตีทุกเมืองในฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย “เมื่อใดก็ตามที่ปักกิ่งไม่เห็นด้วยกับแคนเบอร์รา ก็จะเปิดประตูสำหรับขีปนาวุธร่อนที่อยู่ในโซโลมอน และขอให้เราทบทวนอีกครั้ง”

Military Watch Magazine ระบุว่า ท่าทีของลีเวลลิน-สมิธสะท้อนให้เห็นฉันทามติในออสเตรเลียเกี่ยวกับความจำเป็นในการพิจารณาการรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน หากนั่นเป็นวิธีเดียวที่จะป้องกันไม่ให้เพื่อนบ้านสร้างความสัมพันธ์ทางทหารกับจีน

Military Watch Magazine ระบุอีกว่า หากออสเตรเลียใช้มาตรการโจมตีก็จะซ้ำรอยความพยายามของสหรัฐในการรุกรานคิวบาก่อนหน้านี้ และการรุกรานเกรนาดาในปี 1983 ซึ่งมีเหตุผลคลายๆ กัน ซึ่งถูกมองว่าฝ่าฝืนกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ

ส่วนนายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน ก็ไม่ยอมเช่นกันโดยเผยว่า ออสเตรเลียมีเส้นตายเดียวกับสหรัฐในกรณีความเกี่ยวข้องของจีนในโซโลมอน ด้าน ปีเตอร์ ดัตตัน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเผยเมื่อวันจันทร์ (25 เม.ย.) ว่า “รัสเซียต้องเตรียมพร้อมสำหรับสงคราม” โดยอ้างว่าขณะนี้จีนรอบคอบและตั้งใจมาก

ขณะที่ท่าทีของสหรัฐบอกว่าไม่ตัดความเป็นไปได้ในการดำเนินการทางทหารหากจีนตั้งฐานทัพในหมู่เกาะโซโลมอน โดย แดเนียล คริเทนบริงค์ นักการทูตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐสำหรับกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกย้ำถึงความตั้งใจของสหรัฐที่จะดำเนินการหากจีนตั้งฐานทัพว่า “แน่นอนว่าเราเคารพอธิปไตยของหมู่เกาะโซโลมอน แต่เราต้องการให้พวกเขาทราบด้วยว่าหากมีการดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อสร้างฐานทัพถาวรโดยพฤตินัย หรือที่ทำการทหาร เราจะมีความกังวลอย่างมาก และเราจะตอบสนองต่อข้อกังวลเหล่านั้นโดยธรรมชาติ”

เมื่อถูกจี้ถามว่าจะปฏิเสธความเป็นไปได้หรือไม่ว่าสหรัฐอาจดำเนินการทางทหารต่อหมู่เกาะโซโลมอนหากมีการตั้งฐานทัพ คริเทนบริงค์เผยว่า “ไม่มีอะไรเพิ่มเติมมากกว่าที่ได้กล่าวไปแล้ว”

นักวิเคราะห์หลายคนกังวลเช่นเดียวกับสหรัฐและออสเตรเลียคือ ข้อตกลงฉบับนี้อาจเป็นเพียงก้าวแรกของแผนที่ใหญ่กว่า นั่นก็คือการตั้งฐานทัพในหมู่เกาะโซโลมอนของจีน

ชาร์ลส์ เอเดล ประธานออสเตรเลียและที่ปรึกษาระดับอาวุโสของ ศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (CSIS) เผยกับ The New York Times ว่า “จีนได้ขยายการปรากฎตัวและขยายอิทธิพลไปทั่วมหาสมุทรแปซิฟิกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และอย่างที่เคยทำมา ปักกิ่งกำลังตามล่าหาฐานทัพทหารในภูมิภาคนี้ ซึ่งจะทำให้จีนสามารถแสดงอำนาจออกไปภายนอกและมีอิทธิพลต่อการเมืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก”

มิไฮ โซระ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศออสเตรเลียจากสถาบันโลวีในออสเตรเลีย ยกกรณีของประเทศจิบูตีที่ทำข้อตกลงด้านความมั่นคงกับจีน ซึ่งต่อมาได้พัฒนาจนกลายมาเป็นการสร้างฐานทัพซึ่งปีกกิ่งเลี่ยงบาลีเรียกว่า “สิ่งอำนวยความสะดวกด้านลอจิสติกส์”

ขณะที่นักรัฐศาสตร์อย่าง ทาร์ซิเซียส คาบูเทาลาคา มองว่า จีนไม่น่าจะตั้งฐานทัพในหมู่เกาะโซโลมอนอย่างเป็นทางการ เพราะจะยิ่งทำให้จีนถูกชาวโซโลมอนและชาวโลกมองในแง่ลบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจีนจะไม่มีกองกำลังทหารในหมู่เกาะโซโลมอนแบบไม่เปิดเผย และหากจีนสามารถส่งเรือรบหรือบุคคลากรทางทหารเข้าไปในโซโลมอนได้ดังที่ร่างสัญญาที่หลุดออกมาระบุไว้ จีนก็ไม่จำเป็นต้องมีฐานทัพอย่างเป็นทางการ

ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

AFP / POOL / THOMAS PETER