posttoday

สงครามยูเครนผลักยุโรปเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ ที่มากไปกว่าวิกฤตพลังงาน

27 เมษายน 2565

นักวิเคราะห์ชี้ยุโรปต้องเผชิญความท้าทายที่มากไปกว่าวิกฤตพลังงานจากสงครามยูเครน

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่าบรรดานักวิเคราะห์เปิดเผยว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อยุโรปในระยะยาว นอกเหนือจากปัญหาอุปทานพลังงาน

ปัจจุบันผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรงอันใหญ่หลวงที่สุดจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนคือราคาพลังงาน โดยเฉพาะในเยอรมนีและอิตาลี สองผู้นำเข้าก๊าซรัสเซียรายใหญ่ที่สุดของยุโรป ขณะกลุ่มสื่อต่างประเทศระบุว่าสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติล่วงหน้าร่วงลงเล็กน้อยในสัปดาห์ก่อน หลังจากพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี

อย่างไรก็ดี เหล่านักวิเคราะห์เผยกับสำนักข่าวซินหัวว่าอีกไม่นานยุโรปจะต้องเผชิญกับความท้าทายอื่นๆ อาทิ ปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เพิ่มสูง ราคาอาหารปรับตัวขึ้น ปัญหานโยบายสิ่งแวดล้อม ตลอดจนคลื่นผู้อพยพระลอกใหม่

ลอเรนโซ โคดอกโน ผู้ก่อตั้งและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากแอลซี แมกโคร แอดไวเซอร์ส (LC Macro Advisors) และศาสตราจารย์รับเชิญประจำวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ลอนดอน กล่าวว่า “เราอาจลงเอยด้วยการเจอหลายปัญหาใหญ่ในหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานสำคัญ ซึ่งอาจเป็นภาคยานยนต์หรืออื่นๆ”

โคดอกโนระบุว่าเราต้องคำนึงถึงอาหารอย่างข้าวสาลีและข้าวโพดด้วย ซึ่งผลิตโดยทั้งรัสเซียและยูเครน ส่วนก๊าซไม่ได้ถูกใช้เพื่อผลิตพลังงานเท่านั้น แต่ยังใช้ในกระบวนการผลิตปุ๋ยที่มีความสำคัญต่อการเกษตรในตลาดทั่วโลกไม่ใช่แค่ยุโรป ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงถึงกัน

ริกคาร์โด ปุกลิซี ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณะจากมหาวิทยาลัยปาเวีย กล่าวว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจเด่นชัดที่สุดจากความขัดแย้งข้างต้นอาจเป็น “ความไม่แน่นอน”

ปุกลิซีเผยว่าความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน กำลังชะลอการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากปัญหาที่มีต้นตอมาจากการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) โดยความขัดแย้งดังกล่าวไม่ได้จุดชนวนปัญหาเดียว เราไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะดำเนินต่อไปนานแค่ไหน และผลกระทบระยะกลางหรือระยะยาวจะเป็นอย่างไร

ตอนนี้เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบด้านหนึ่งคือการใช้จ่ายทางทหารที่ดีดตัวขึ้น ซึ่งเพิ่มสองเท่าแล้วเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศในยุโรป โดยอยู่ที่ราวร้อยละ 2 และตัวเลขนี้อาจเพิ่มเป็นร้อยละ 2.5 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

“รัฐบาลอาจทำรายได้จากภาษีเพื่อชดเชยการใช้จ่ายทางทหารที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ ทว่างบประมาณเสริมตรงส่วนนี้ไม่เพียงพอจะชดเชยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่นานาประเทศจะเผชิญ” ปุกลิซีกล่าว

ด้านกลุ่มสิ่งแวดล้อมบางฝ่ายกังวลว่าการหันเหจากแหล่งพลังงานรัสเซียอย่างรวดเร็วเกินไป อาจทำให้การทดแทนพลังงานกลุ่มนี้ด้วยพลังงานหมุนเวียนทางเลือกเป็นเรื่องยาก สิ่งน่ากังวลคือการแสวงหาทางเลือกอื่น นอกเหนือจากก๊าซหรือปิโตรเลียม อาจทำให้หลายประเทศตกอยู่ในเงื่อนไขสัญญาระยะยาว ซึ่งจะขัดขวางการขยายตัวของพลังงานสะอาด

โคดอกโนเผยว่าปกติแล้วสถานการณ์วิกฤตต่างๆ มักสร้างความแตกแยกระหว่างประเทศ แต่ดูเหมือนคราวนี้จะไม่เป็นเช่นนั้น โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่าหากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ยังดำเนินต่อไปหลายเดือน สถานการณ์อาจทวีความไม่แน่นอนเนื่องด้วยปัญหาการอพยพ

“หากวิกฤตผู้อพยพในยูเครนยังเกิดขึ้นต่อไป สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น โรงเรียนและโรงพยาบาล จะแบกรับภาระหนักอึ้งชัดเจน” โคดอกโนระบุ “แต่ถ้านานาประเทศตกลงช่วยกันรับมือภาระจากผู้อพยพเหล่านี้ ผมคิดว่ามันก็อาจยังเป็นปัญหาใหญ่อยู่บ้าง ทว่าอยู่ภายในขอบเขตที่สามารถจัดการได้”

Photo by REUTERS/Serhii Nuzhnenko