posttoday

อเมริกันคือเจ้าแห่งแปซิฟิก เมื่อจีนเข้าไปมีหรือไฟสงครามจะไม่ปะทุ

25 เมษายน 2565

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของจีนเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ชาติตะวันตกกำลังจับตาไปที่สถานการณ์ในยูเครน ส่วนจีนสงวนท่าทีเกี่ยวกับตะวันตก แต่แล้วกลับตะครุบชาติตะวันออกมาอยู่กับตัว

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐยังไม่คิดจะเป็นเจ้าเข้าเจ้าของมหาสมุทรแปซิฟิกสักเท่าไร มีเพียงฟิลิปปินส์กับฮาวายเท่านั้นที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของอเมริกันในแถบนี้

แต่เมื่อญี่ปุ่นแสดงความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เอาชนะจีนได้ในสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ. 1894 – 1895) จนได้ไต้หวันมาครอง เอาชนะรัสเซียได้ในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (1904 - 1905) จนได้เกาหลีและภาคอีสานของจีนมาครอง จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ญี่ปุ่นยังได้หมู่เกาะแปซิฟิกมาครองโดยยึดจากเยอรมนี

สหรัฐก็เริ่มหวาดวิตก เพราะกลัวว่าญี่ปุ่นจะจ้องฟิลิปปินส์และหมู่เกาะแปซิฟิกอื่นๆ ที่ครอบครองโดยสหรัฐและพันธมิตรเป็นรายต่อไป และต้องทำข้อตกลงกันถึงสองรอบเพื่อให้สัญญากันเป็นมั่นเหมาะว่าจะไม่ล้ำเส้นกัน

แต่สหรัฐมองญี่ปุ่นเป็นภัยคุกคามมาโดยตลอด ฝ่ายญี่ปุ่นก็เช่นกัน รู้ตัวว่าสักวันหนึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปะทะกับสหรัฐ

แม้ญี่ปุ่นจะทำสงครามรุกรานจีนในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 โดยที่สหรัฐวางตัวเป็นกลาง แต่สหรัฐก็หาเรื่องคว่ำบาตรญี่ปุ่นโดยไม่ส่งน้ำมันให้ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นที่ขาดน้ำมันเพื่อทำสงครามต่อจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากรุกรานอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบริเตน (พม่า) และเนเธอร์แลนด์ (อินโดนีเซีย) เพื่อยึดแหล่งน้ำมัน พร้อมกันนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐแทรกแซง ญี่ปุ่นยังโจมตีฐานทัพเรือแปซิฟิกของสหรัฐที่ฮาวายและยึดครองฟิลิปปินส์ เพื่อซื้อเวลาก่อนที่สหรัฐจะตั้งตัวมาช่วยฝรั่งด้วยกันในเอเชีย

แต่สุดท้ายอย่างที่เรารู้ ญี่ปุ่นไม่สามารถต้านไหว ต้องพ่ายแพ้ให้แสนยานุาภอันยิ่งใหญ่ในแปซิฟิกของสหรัฐ ดินแดนในแปซิฟิกของญี่ปุ่นก็ถูกโอนมาอยู่ในสหรัฐ (ในฐานะ Trust Territory of the Pacific Islands) จนถึงทุกวันนี้

ที่เอ่ยถึงญี่ปุ่นกับสหรัฐเสียยืดยาว เพราะมันคล้ายกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีนในเวลานี้

แน่นอนว่า สหรัฐยังเป็นเจ้าแปซิฟิก ไม่ใช่มีแค่กองเรือที่ใหญ่โต แต่ฐานทัพในแปซิฟิก เช่น ที่กวมยังแกร่งและยิ่งแกร่งกว่าเดิมเมื่อตั้งพันธมิตร AUKUS โดยมีออสเตรเลียมาช่วยหนุนในพื้นที่นี้ เป้าหมายก็คือ เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บของออสเตรเลียให้มีเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ ร่วมกันมีอาวุธไฮเปอร์โซนิก (ความเร็วเหนือเสียง) และระบบต่อต้านอาวุธไฮเปอร์โซนิก

ถามว่าจะไปรบกับใคร ตอบว่าก็เตรียมรบกับจีนนั่นแหละ

เรื่องรบกันนี้สหรัฐอาจจะไม่กระโตกกระตากนัก เพราะอาจจะคิดว่าแสนยานุภาพของตนในแปซิฟิกยังไร้เทียมทาน แต่ฝ่ายที่ร่ำๆ พูดถึงเรื่องรบมากกว่าคือออสเตรเลีย ที่ช่วงหลังไม่ญาติดีกับจีนเอาเสียเลย และยังแสดงความเป็นปรปักษ์อย่างซึ่งหน้า

ในระดับวิชาการความมั่นคง มีบางสถาบันในออสเตรเลียเคยทำการศึกษาด้วยซ้ำว่าจีนมีศักยภาพในการโจมตีฐานทัพของสหรัฐในเกาะกวมด้วยขีปนาวุธ รวมถึงฐานที่มั่นอื่นๆ ของสหรัฐในแปซิฟิก

แม้ว่าจะเป็นการประเมินทางวิชาการ แต่มันก็อาจทำให้ชาติอื่นระแวงจีนอยู่ตะหงิดๆ

ในวันรำลึกทหารผ่านศึกออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ หรือ Anzac Day ปีนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย ปีเตอร์ ดัตตัน บอกว่า "วิธีเดียวที่คุณจะรักษาสันติภาพได้คือการเตรียมพร้อมสำหรับการทำสงครามและเข้มแข็งในฐานะประเทศชาติ ไม่ย่อท้อ ไม่คุกเข่า แสดงความอ่อนแอ นั่นคือความจริง”

ดัตตันหมายถึงรัสเซีย เพราะเขาพูดถึงการรุกรานยูเครน และเทียบรัสเซียว่าทำตัวประหนึ่งพวกนาซี พร้อมกับกล่าวว่า "ผมคิดว่านั่นคือบทเรียนของประวัติศาสตร์"

เหมือนกับที่ดัตตันว่าไว้ จะเข้าใจสถานการณ์ทุกวันนี้ บางทีต้องย้อนกลับไปในอดีต เหมือนที่อย่างที่ผู้เขียนยกประวัติศาสตร์เสียยาวจนผู้อ่านอาจจะคร้านที่จะอ่าน

แต่ขอบอกกว่ามันจำเป็นอย่างนี้

ดัตตันยังบอกว่า "มันเหมือนเป็นการรีเพลย์บางสิ่งที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1930" ซึ่งหมายถึงช่วงก่อนถึงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 

ตะวันตกไม่เฉพาะแค่ออสเตรเลียมองว่าการารุกรานยูเครนเหมือนกันฉายซ้ำการรุกรานโปแลนด์ของนาซีเยอรมันจนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 

ทศวรรษที่ 30 เช่นกันที่ความระแวงของสหรัฐต่ออิทธิพลของญี่ปุ่นในแปซิฟิกเพิ่มมากขึ้น ในวันนี้เราแค่เปลี่ยนจากญี่ปุ่นมาเป็นจีนเท่านั้น

เขาบอกว่าตอนนี้จีนกำลังมีโปรเจกต์ที่อยู่นอกเหนือชายฝั่งของตัวเอง ซึ่งเขาอาจหมายถึงการกระชับสัมพันธ์หว่างจีนกับหมู่เกาะโซโลมอนในแปซิฟิก จนสหรัฐและออสเตรเลียกลัวว่าจีนจะมาตั้งฐานทัพในพื้นที่นี้

ซึ่งมันก็แปลก สหรัฐกับออสเตรเลียสามารถทำได้ แต่จีนกลับทำไม่ได้ แม้ว่าจะดีลกับหมู่เกาะโซโลมอนอย่างชอบธรรมก็ตาม

แน่นอนว่าความชอบธรรมในแง่กฎหมายมันเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับคนที่พูดกันด้วยแสนยานุภาพ ดังนั้น เรื่องถูกไม่ถูกไม่ใช่ประเด็น ประเด็นอยู่ที่ว่า "จีนเป็นใครไยถึงกล้ามาซ่าในถิ่นแปซิฟิกของพวกเรา?"

สก็อต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียบอกไว้หนึ่งวันก่อนหน้าว่า จะต้องไม่มีฐานทัพเรือของจีนในแปซิฟิก และ "กำลังทำงานร่วมกับพันธมิตรของเราในนิวซีแลนด์และแน่นอนว่าร่วมถึงสหรัฐฯ ผมมีเส้นสีแดงเส้นเดียวกันกับที่สหรัฐฯ มีในประเด็นเหล่านี้"

"เส้นสีแดง" ที่ว่านี้ก็คือเส้นตายที่จีนห้ามล้ำเข้ามา นั่นคืออย่ามีฐานทัพเรือในแถบนี้เด็ดขาด

แต่นั่นมันเป็นเส้นที่ออสเตรเลียกับสหรัฐขีดเอาเอง จีนจะยอมอ่อนข้อให้ทั้งสองประเทศนี้หรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง

ก่อนอื่นต้องเท้าความกันก่อนว่าจีนมาถึงหมู่เกาะโซโลมอนได้อย่างไร

แต่เดิมนั้น หมู่เกาะโซโลมอนมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังคบกับไต้หวันอย่างเป็นทางการ หลังจากสหประชาชาติหันมายอมรับสาธารณรัฐประชาชนจีนแทนไต้หวัน

จนกระทั่งเมื่อปี 2019 หมู่เกาะโซโลมอนก็เปลี่ยนใจหันมาสานสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแทน ซึ่งมีรายงานข่าวของ The Guardian สื่อในอังกฤษว่าจีนเสนอเงินมหาศาลให้นักการเมืองหมู่เกาะโซโลมอนเพื่อให้เปลี่ยนนโยบาย

ในช่วง 2 - 3 ปีหลังมานี้จีนยังเดินเกมชิงประเทศที่คบหากับไต้หวันมาเป็นของตนอย่างต่อเนื่อง ที่สำเร็จแบบเหนือความคาดหมายทั้งไต้หวันและสหรัฐมากที่สุดคือการชิงนิคารากัวเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

แต่นั่นยังไม่เท่ากับการได้หมู่เกาะโซโลมอนมาเป็นพวก และยังไม่เท่ากับที่จีนบรรลุข้อตกลงกับหมู่เกาะโซโลมอนเมื่อต้นเดือนเมษายนปีนี้ หนึ่งในดีลคือเปิดทางให้จีนส่งเจ้าหน้าที่ทหารมาประจำการได้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของจีนและพลเมือนจีนในหมู่เกาะโซโลมอน และอนุญาตให้เรือรบจีนมาจอดแวะเพื่อเติมเสบียง

ข้อตกลงนี้ไม่ได้บอกว่าจีนจะมาตั้งฐานทัพ แต่ออสเตรเลียและพันธมิตรของออสเตรเลียระแวงไปแล้วว่าจีนจะมาตั้งฐานทัพถาวรที่หมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งใกล้กับออสเตรเลียแค่ปลายจมูก ต่อให้มีฐานทัพเรือที่หมู่เกาะโซโลมอน จีนก็จะคล้ายญี่ปุ่นช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แค่นิดหน่อย ไม่ถึงขั้นเดียวกับญี่ปุ่นที่มีดินแดนของตัวเองในแปซิฟิก

ขนาดญี่ปุ่นฐานที่มั่นจ่อคอหอยออสเตรเลียขนาดนั้น ก็ยังทำอะไรออสเตรเลียไม่ได้ แล้วจีนมีแค่ที่จอดเรือรบได้ไม่กี่ลำจะไปต้านทานพันธมิตร AUKUS ได้อย่างไร?

ความระแวงหรือปั่นให้ระแวงของพันธมิตรต้านจีนเหล่านี้ ยังเห็นได้จากกรณีของการที่จีนปล่อยเงินกู้ให้กับศรีลังกาซึ่งศรีลังกาจ่ายคืนไม่ไหวจึงยกท่าเรือฮัมบัตโตตาให้จีนเช่า จนชาติที่ระแวงจีนปั่นข่าวว่าจีนจะใช้ที่นี่เป็นท่าเรือ ซึ่งชาติที่ปั่นเรื่องนี้จนคนระแวงไปทั่วคืออินเดียที่มีเรื่เองระหองระแหงกับจีนอยู่แล้ว

สื่ออินเดียและนักวิชาการอินเดียก็ยังปั่นต่อว่านอกจากจะมาตั้งฐานทัพแล้ว จีนนั่นแหละที่ทำให้ศรีลังกาพังพินาศทางเศรษฐกิจ ทั้งๆ สถาบันการเงินและสถาบันการศึกษาระดับโลกชี้ให้เห็นว่าไม่เป็นความจริง

อินเดียนั้นกลัวว่าจีนจะมาปักหมุดในมหาสมุทรอินเดียอันเป็นถิ่นของตน ซึ่งเป็นเรื่องทีเข้าใจได้ในฐานะคู่กรณีกัน แต่ขึ้นอยู่กับเราแล้วว่าจะต้องระมัดระวังในการจับตาสถานการณ์ให้ดี เพราะข่าวลือข่าวปล่อยเพื่อจ้องทำลายกันมันเยอะเหลือเกิน

ความทะเยอทะยานทางการทหารของจีนก็เรื่องหนึ่ง แต่การหวาดระแวงของบรรดามหาอำนาจในแปซิฟิกอาจกลายเป็นการบีบให้จีนไม่มีทางเลือกเหมือนญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เหมือนกัน

หากจีนไม่อดทนพอ ก็จะลงเอยแบบรัสเซียที่อ้างว่าถูกนาโตบีบคั้นต้องบุกยูเครนจนกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาชาวโลก

แต่จีนมีความอดทนสูงกว่า และจากการประเมินทั้งระดับผู้นำในอดีตจนถึงนักวิชาการปัจจุบันจีนยอมรับว่า "ยัง" สู้สหรัฐไม่ได้ในแง่การรบ

หากจีนบอกตัวเองบ่อยๆ ว่ายังไม่พร้อม เอเชียแปซิฟิกก็จะสามารถหลีกเลี่ยงมหาสงครามไปได้ อย่างน้อยก็ในช่วงทศวรรษนี้

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo - AFP / NICOLAS ASFOURI