posttoday

การสังหารหมู่ที่จลิยานวาลาบาค อังกฤษติดหนี้ชีวิตคนอินดีย

21 เมษายน 2565

เมื่อผู้นำอังกฤษกดดันอินเดียต้านรัสเซีย แต่อินเดียทวงคำขอโทษสังหารหมู่

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษเดินทางเยือนอินเดียในวันนี้ (21 เม.ย.) เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างสองประเทศ และขอให้ นเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย สนับสนุนการดำเนินการของชาติตะวันตกเพื่อตอบโต้รัสเซีย ตลอดจนเสนอตัวเพื่อช่วยอินเดียลดการพึ่งพาน้ำมันและยุทโธปกรณ์ของรัสเซีย ซึ่งถือเป็นการเยือนอินเดียครั้งแรกของจอห์นสันในฐานะนายกรัฐมนตรีด้วย

รายงานจากรอยเตอร์สระบุว่าอินเดียซึ่งนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียและเป็นผู้ซื้ออาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลก งดออกเสียงในการลงคะแนนเสียงของสหประชาชาติที่ประณามรัสเซียสำหรับการบุกรุกยูเครน และไม่ได้ร่วมมือกับชาติตะวันตกในการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ซึ่งแม้ว่าอินเดียจะใกล้ชิดกับตะวันตกมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ยังต้องพึ่งพาอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากจากรัสเซีย ท่ามกลางความตึงเครียดกับจีนและปากีสถาน

ขณะที่อินเดียยังคงทวงคำขอโทษจากอังกฤษสำหรับเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่จลิยานวาลาบาคเมื่อกว่า 100 ปีก่อน

Zee News เว็บไซต์ข่าวของอินเดียรายงานในเดือนนี้ว่าภายหลัง เหตุการณ์สังหารหมู่ที่จลิยานวาลาบาค ในปี 1919 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน อินเดียยังไม่เคยได้รับคำขอโทษอย่างเป็นทางการจากอังกฤษ และยังคงเป็นบาดแผลบนความสัมพันธ์ของอินเดียและอังกฤษจวบจนทุกวันนี้ แม้ว่าจะผ่านมานานกว่า 103 ปีแต่เหตุการณ์นี้ยังคงเป็น "วันที่มืดมนที่สุด" ในหน้าประวัติศาสตร์ของอินเดีย

เหตุการณ์นองเลือดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 1919 ที่สวนสาธารณะจลิยานวาลาบาค ในเมืองอมฤตสระ รัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย เมื่อนายพลเรจินัลด์ ไดเยอร์ สั่งการให้กองกำลังทหารของกองทัพบริติชอินเดียเปิดฉากกราดยิงเข้าใส่พลเมืองชาวอินเดียผู้ปราศจากอาวุธ

โดยในวันนั้นชาวอินเดียหลายพันคนรวมตัวกันที่สวนสาธารณะจลิยานวาลาบาค เพราะหลายคนไม่พอใจกับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมโดยจักรวรรดิอังกฤษ และการจับกุมผู้นำท้องถิ่น 2 คน ซึ่งจุดชนวนให้เกิดการประท้วงอย่างรุนแรงเมื่อ 3 วันก่อน แม้นายพลไดเยอร์ได้ออกประกาศห้ามประชาชนรวมกลุ่มชุมนุม แต่ประกาศนี้ไม่ได้ถูกเผยแพร่ไปอย่างทั่วถึงจึงมีชาวบ้านจำนวนมากรวมตัวกันที่สวนสาธารณะแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีประชาชนที่มาที่นี่เนื่องในวันเวสาขี เทศกาลสำคัญของชาวฮินดูและซิกข์ ส่งผลให้ขณะนั้นมีผู้คนอยู่ที่นั่นราว 20,000 คน ตามรายงานของ Aljazeera

นายพลไดเยอร์ไปถึงที่นั่นพร้อมกับทหารหลายสิบนายพร้อมปิดกั้นทางออก และสั่งการให้ยิงปราบปรามประชาชนมือเปล่าโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า ท่ามกลางเสียงกรีดร้องของประชาชนที่พยายามหนีตาย บ้างก็ปีนกำแพง บ้างก็กระโดดลงบ่อน้ำ

"ซากศพจำนวนมากกองอยู่ตรงนั้น หงายหน้าบ้าง คว่ำหน้าบ้าง หลายคนเป็นเพียงเด็กไร้เดียงสาผู้น่าสงสาร" หนึ่งในผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์กล่าว พร้อมเผยว่าสามีของเธอก็เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ด้วย

การสังหารหมู่ที่จลิยานวาลาบาค อังกฤษติดหนี้ชีวิตคนอินดีย

รัฐบาลได้รับการยืนยันผู้เสียชีวิตจากเหตุสังหารหมู่อยู่ที่ 379 คน ผู้บาดเจ็บประมาณ 1,200 คน โดย 192 คนบาดเจ็บสาหัส ขณะที่พรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย (INC) ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 1,000 คน และได้รับบาดเจ็บมากกว่า 1,500 คน

เหตุการณ์นี้กลายเป็นช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ของขบวนการเอกราชของอินเดียที่ผลักดันให้อินเดียหลุดพ้นจากการปกครองของอังกฤษในที่สุด

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ตรัสว่าเหตุการณ์นี้น่าวิตกอย่างยิ่ง ขณะที่วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษเรียกว่าเป็นความโหดร้ายป่าเถื่อน เช่นเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ซึ่งแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมองว่าเป็น "รอยแผลเป็นที่น่าอับอายในประวัติศาสตร์บริติชอินเดีย"

อย่างไรก็ตาม นายพลไดเยอร์ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นองเลือดปกป้องการกระทำของตัวเองโดยเขียนในจดหมายว่าเขาโจมตีฝูงชนเพราะพวกเขา "รวมตัวกันก่อบกฏต่อราชบัลลังก์อังกฤษอย่างเปิดเผย"

ที่น่าเศร้ายิ่งกว่านั้น นายพลไดเยอร์ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นเมื่อเขากลับไปยังอังกฤษ และได้รับมอบดาบประดับเพชรพร้อมจารึกว่า "ผู้กอบกู้ปัญจาบ" (Saviour of Punjab) เขาไม่เคยเข้าคุกหรือได้รับการลงโทษใดๆ สำหรับการอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สังหารหมู่

หลังจากนั้นในปี 1947 อินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ แต่อย่างไรก็ตาม Zee News ระบุว่ากว่า 100 ปีที่ผ่านมาอินเดียไม่เคยได้รับคำขอโทษอย่างเป็นทางการจากผู้นำอังกฤษเลย และเหตุการณ์นี้ยังคงเป็นบาดแผลบนความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา Times of India รายงานว่าสตีเฟน บอนนาร์ สมาชิกรัฐสภาของอังกฤษเรียกร้องให้อังกฤษขอโทษต่อเหตุการณ์สังหารหมู่ที่จลิยานวาลาบาค โดยกล่าวว่าประเทศในเครือจักรภพยังคงรอคำขอโทษอย่างเป็นทางการ

ภาพ: พิธีอาลัยเนื่องในโอกาสครบรอบ 103 ปีเหตุการณ์สังหารหมู่ที่จลิยานวาลาบาค เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2021 (NARINDER NANU / AFP)