posttoday

ทำไมฟินแลนด์รอดเงื้อมมือรัสเซียและเป็นกลางได้? (แต่หลังจากนี้จะไม่เป็นอีกแล้ว)

13 เมษายน 2565

ฟินแลนด์กำลังพิจารณายุติสถานะเป็นกลางด้านการทหารที่ธำรงมาได้นานหลายทศวรรษ และกำลังจะพิจารณาเป็นสมาชิกของนาโต โดยชี้ว่าการรุกรานยูเครนทำให้ฟินแลนด์ต้องเปลี่ยนท่าทีไปตลอดกาล

1. สิ่งที่ทำให้ฟินแลนด์รักษาเอกราชมาได้แทนที่จะถูกผนวกโดยสหภาพโซเวียต/รัสเซีย คือหลักการที่เรียกว่า "การทำให้เป็นฟินแลนด์" (Finlandization) ซึ่งทุกวันนี้หมายถึงการที่ประเทศที่มีอำนาจประเทศหนึ่งทำให้ประเทศเพื่อนบ้านที่มีขนาดเล็กกว่าละเว้นจากการต่อต้านหลักการนโยบายต่างประเทศของประเทศใหญ่ ส่วนประเทศใหญ่ก็จะปล่อยให้ประเทศเล็กที่ไม่ทำตัวเป็นศัตรูกับตนรักษาความเป็นอิสระเล็กน้อยและระบบการเมืองของตนเองเอาไว้ได้

2. Finlandization เกิดขึ้นจากการใช้อิทธิพลของสหภาพโซเวียตที่มีต่อนโยบายของฟินแลนด์ในช่วงสงครามเย็น ก่อนหน้านั้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียตแม้ว่าจะทำข้อตกลงกับนาซีเยอรมันแต่ก็ระแวงว่านาซีจะเป็นศัตรูกับสหภาพโซเวียตเช่นกัน และมองว่าฟินแลนด์คือจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ต้องยึดกุมไว้เพื่อต้านทานการบุกของนาซีที่อาจเกิดขึ้นได้ สหภาพโซเวียตจึงต่อรองของพื้นที่จากฟินแลนด์ แต่ตกลงกันยังไม่ได้ สหภาพโซเวียตก็รุกรานฟินแลนด์เสียก่อนเรียกว่า "สงครามฤดูหนาว" ซึ่งฟินแลนด์สามารถต้านทานได้อย่างเหลือเชื่อ

3. แต่หลังจากนั้นนาซีเยอรมันรุกรานสหภาพโซเวียตในที่สุด แต่ทว่าต้องพ่ายแพ้กลับไป กอปรกับสหภาพโซเวียตกลายเป็นพันธมิตรกับชาติตะวันตกแล้ว ฟินแลนด์ที่ต้องถ่วงดุลมหาอำนาจทุกฝ่ายอย่างยากลำบาก แม้จะต้านสหภาพโซเวียตเอาไว้ได้ ก็เริ่มคิดว่าตนเองเริ่มอยู่ตามลำพังไม่มีมหาอำนาจไหนมาช่วย จึงเริ่มคิดหาแนวนโยบายใหม่ที่จะทำให้ตนรักษาเอกราชเอาไว้ได้ เพราะเพื่อนบ้านรอบๆ ตัวหากไม่ถูกสหภาพโซเวียตผนวกไป (เช่น เอสโตเนีย ลัทเวีย และลิทัวเนีย) ก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลอำนาจของสหภาพโซเวียต (เช่น โปแลนด์)

4. หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงไม่นาน ฟินแลนด์จึงใช้หลักการนโยบายต่างประเทศที่เรียกว่า "หลักกการพาอาซิคิวี-เคกโคเนน  (Paasikivi–Kekkonen doctrine) ตามชื่อของประธานาธิบดียูโฮ คุสติ พาอาซิคิวี (Juho Kusti Paasikivi) แห่งฟินแลนด์ และผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากเขา คือ ประธานาธิบดีอูร์โฮ  เคกโคเนน (Urho Kekkonen) หลักการนี้มุ่งเป้าไปที่ความอยู่รอดของฟินแลนด์ในฐานะประเทศอิสระที่ปกครองโดยมีอธิปไตยโดยสมบูรณ์ และใช้ระบอบประชาธิปไตยและทุนนิยมแม้จะตั้งอยู่ประชิดกับสหภาพโซเวียต 

5. แม้จะต้านทานการรุกรานได้ แต่เพื่อรักษาเอกราชเอาไว้จากการถูกรุกรานเต็มที่ ฟินแลนด์ต้องยอมตกลงกับสหภาพโซเวียต โดยยกพื้นที่เกือบ 10% ของอาณาเขตของตนรวมถึงเมืองวิอิพูริ เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของฟินแลนด์ ให้สหภาพโซเวียต จ่ายเงินจำนวนมาก การชดใช้ค่าเสียหายจากสงครามแก่สหภาพโซเวียต ดังนั้น เพื่อรักษาสถานะของตัวเองหลังสงครามให้มั่นคงยิ่งขึ้น ฟินแลนด์จึงต้องทำข้อตกลงกับสหภาพโซเวียตให้ชัดเจนกันอีกครั้ง

6. ฟินแลนด์และสหภาพโซเวียตได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพปารีสในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 เนื้อหาคือ 

  • การจำกัดขนาดของกองกำลังป้องกันประเทศฟินแลนด์
  • ยกพื้นที่เพตซาโม บนชายฝั่งอาร์กติกให้เป็นของสหภาพโซเวียต
  • การปล่อยเช่าคาบสมุทรพอร์กกาคา นอกกรุงเฮลซิงกิให้กับโซเวียตเพื่อใช้เป็นฐานทัพเรือเป็นเวลา 50 ปี (ต่อมาคืนก่อนกำหนด)
  • การให้สหภาพโซเวียตเดินทางขนส่งโดยเสรีในพื้นที่นี้ไปยังทั่วอาณาเขตของฟินแลนด์
  • และการชดใช้ค่าเสียหายจากสงครามให้กับสหภาพโซเวียตเป็นเงิน 300 ล้านดอลลาร์ทองคำ

7. ต่อมา ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2491 ฟินแลนด์ได้ลงนามในข้อตกลงมิตรภาพ "ความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันกับสหภาพโซเวียต" ภายใต้ข้อตกลงช่วยเหลือซึ่งกันและกันนี้ ฟินแลนด์มีพันธะที่จะต้องต่อต้านการโจมตีด้วยอาวุธโดย "เยอรมนีหรือพันธมิตร" (หมายถึงนาโต) ต่อฟินแลนด์หรือต่อสหภาพโซเวียตผ่านทางฟินแลนด์ (และหากจำเป็นฟินแลนด์ต้องรับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียต)

8. ข้อตกลงนี้ แลกกับการที่สหภาพโซเวียตยอมรับความปรารถนาของฟินแลนด์ที่จะอยู่นอกเหนือความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจต่างๆ ข้อตกลงนี้ได้รับการต่ออายุเป็นเวลา 20 ปีในปี พ.ศ. 2498 ในปี พ.ศ. 2513 และอีกครั้งในปี พ.ศ. 2526 ทำให้ฟินแลนด์สามารถรักษาเอกราชในกิจการภายในได้ เช่น ระบบรัฐสภาหลายพรรค และไม่เข้าร่วมกลุ่มยุโรปตะวันออก (ภายใต้อิทธิพลโซเวียต) และห้ามเข้าร่วมนาโตหรือร่วมเป็นพันธมิตรอื่นๆ อย่างเปิดเผยกับตะวันตก และนโยบายต่างประเทศของฟินแลนด์มักถูกจำกัดด้วย

9. แม้จะมีข้อตกลงพวกนี้ แต่กองทัพโซเวียตมีหน่วยเฉพาะที่จะใช้เตรียมพร้อมที่จะบุกเฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์จากทาลลินน์ เมืองหลวงของเอสโตเนีย (ในขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต) ในกรณีที่เกิดสงคราม แผนซึ่งมีการอัปเดตตลอดนี้ ถูกทิ้งไปหลังการถอนทหารโซเวียตออกจากเอสโตเนีย หลังจากที่เอสโตเนียได้รับเอกราชในปี 2534

10. หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ฟินแลนด์ก็ยังพยายามรักษา "ความเป็นกลาง" เอาไว้อย่างเข้มงวด จนถึงช่วงที่รัสเซียเริ่มที่ผงวดขึ้นมาอีกครั้งหลังการมีอำนาจของวลาดิมีร์ ปูติน ฟินแลนด์ก็ยังไม่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของนาโต ทั้งๆ ที่นาโตใช้นโยบาย "รุกตะวันออก" เพื่อเก็บเกี่ยวสมาชิกใหม่ซึ่งเป็นประเทศใกล้เคียงฟินแลนด์ที่เคยถูกสหภาพโซเวียตผนวกไป (เช่น เอสโตเนีย ลัทเวีย และลิทัวเนีย) หรือที่อยู่ใต้อิทธิพลอำนาจของสหภาพโซเวียต (เช่น โปแลนด์)

11. ฟินแลนด์รักษาสถานะ Finlandization อย่างมั่นคง จนกระทั่งรัสเซียแทรกแซงยูเครนครั้งแรกและตามด้วยการเพิ่มกำลังรายล้อมยูเครนในปี พ.ศ. 2564 ทำให้ฟินแลนด์เริ่มที่จะแสดงท่าทีใหม่ แต่ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียได้กดดันฟินแลนด์ (รวมถึงสวีเดนที่ยังไม่เป็นสมาชิกนาโต) ให้ละเว้นจากการเข้าร่วมนาโต รัสเซียอ้างว่าการที่นาโตเชิญทั้งสองประเทศเข้าร่วมกลุ่มอย่างไม่ลดละ จะมีผลกระทบทางการเมืองและการทหารที่สำคัญ ซึ่งจะคุกคามเสถียรภาพในภูมิภาคนอร์ดิก นอกจากนี้ รัสเซียมองว่าการรวมฟินแลนด์เป็นสมาชิกนาโต เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติของรัสเซีย เนื่องจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มว่าจะสามารถปรับใช้ยุทโธปกรณ์ทางทหารในฟินแลนด์ได้หากฟินแลนด์เข้าร่วมนาโต

12. อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ประธานาธิบดี เซาลี นีนิสเตอ (Sauli Niinistö) ของฟินแลนด์ได้ยืนยันอำนาจอธิปไตยของฟินแลนด์อีกครั้งโดยระบุว่ารัฐบาลฟินแลนด์สงวนสิทธิ์ในการสมัครสมาชิกนาโต นอกจากนี้ นีนิสเตอ ยังกล่าวว่า ข้อเรียกร้องของรัสเซียคุกคาม "ระเบียบความมั่นคงของยุโรป" นอกจากนี้ เขาเชื่อว่าจำเป็นต้องมีความร่วมมือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อรักษาอำนาจอธิปไตยและความมั่นคงของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปบางประเทศ รวมทั้งฟินแลนด์ หลังการรุกรานยูเครนของรัสเซียในปี 2022 การสนับสนุนจากชาวฟินแลนด์ในการเป็นสมาชิกนาโตก็เพิ่มขึ้น

13. ณ วันที่ 13 เมษายน 2565 Reuters รายงานว่านายกรัฐมนตรีซานนา มาริน แห่งฟินแลนด์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดนว่าฟินแลนด์จะตัดสินใจว่าจะสมัครเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรนาโต 30 ประเทศในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าหรือไม่ โดยกล่าวว่า “มีมุมมองที่แตกต่างกันในการสมัครสมาชิกนาโต หรือไม่ควรสมัคร และเราต้องวิเคราะห์สิ่งเหล่านี้อย่างระมัดระวัง”

รายงานโดย ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์