posttoday

จริงหรือไม่ที่จีนทำให้ศรีลังกาต้องวิกฤต? เปิดความจริงของอุบาย 'กับดักหนี้'

10 เมษายน 2565

Global Times ชี้ว่า "ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับจีนที่สร้าง 'กับดักหนี้' ในศรีลังกา เป็นการสมคบกันใส่ร้ายป้ายสีของตะวันตกและอินเดียเพื่อต่อต้านโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

Global Times สื่อของทางการจีนระบุว่า ในขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจของศรีลังการุนแรงขึ้น ชาติตะวันตกและอินเดียก็ยิ่งรวมพลังกันต่อต้านโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI) ที่จีนเสนอ ซึ่ง Global Times ชี้ว่าการใส่ร้ายป้ายสีมาถึงจุดสูงสุดในช่วงนี้ โดยกล่าวหาว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นในศรีลังกาเป็นผลมาจากการสร้าง "กับดักทางยุทธศาสตร์ของจีน" ภายใต้โครงการ BRI 

"คนวงในและผู้สังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมกล่าวว่า การที่ฝ่ายตะวันตกโจมตี BRI ครั้งล่าสุดนั้น เกิดขึ้นในขณะที่มีการปรับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ซึ่งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับอินเดีย เป็นการโจมตีโดยเจตนาและเป็นระบบอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งไม่มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน - คล้ายกับที่ข่าวลือ โครงการที่ลงทุนโดยจีนของท่าเรือฮัมบันโตตา ที่ถูกโจมตีเมื่อย้อนไปในปี 2560" Global Times กล่าว

ทั้งนี้ "กับดักหนี้" (Debt-trap) หมายถึงการที่ประเทศเจ้าหนี้หรือสถาบันที่ยอมผ่อนคลายเงื่อนไขเงินกู้ให้ประเทศที่กู้ยืมเงินเพื่อแลกกับอำนาจทางการเมืองของผู้ให้กู้ และมักจะกล่าวกันว่าเป็นการวางแผนการกันไว้แล้วโดยพิจารณาว่าผู้กู้ไม่มีอำนาจชำระเงินและจะต้องคล้อยตามเงื่อนไขนี้ในที่สุด เป็นคำที่มักใช้โจมตีจีนว่าใช้อุบายนี้ในการครอบงำประเทศที่จีนปล่อยเงินกู้หรือร่วมลงทุนด้วย เช่น ประเทศในแอฟริกา ศรีลังกา หรือแม้แต่ลาว

แต่คำๆ นี้ ถูกวิจารณ์ว่ามีความลำเอียทางการเมืองและไม่ตั้งอยู่บนจ้อเท็จจริง โดยคำว่า Debt-trap ประดิษฐ์ขึ้นมาโดย Brahma Cellaney นักวิชาการชาวอินเดีย และต่อมานิยมใช้ในสหรัฐและประเทศตะวันตกเพื่อโจมตีจีนที่เข้าไปลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ 

กรณีท่าเรือฮัมบันโตตาของศรีลังกาที่ Global Times กล่าวถึงก็ถูกโจมตีว่าเป็น Debt-trap เนื่องจากหลังจากเป็นโครงการที่รับเงินกู้จากจีน ผ่าน ธนาคาร Exim Bank of China  ให้เงินสนับสนุน 85% ของโครงการในอัตราดอกเบี้ย 6.3% ต่อปี แต่หลังจากเริ่มสูญเสียเงิน และภาระการชำระหนี้ของศรีลังกาเพิ่มขึ้น รัฐบาลได้ตัดสินใจเช่าโครงการกับรัฐวิสาหกิจจีนคือ China Merchants Port โดยเช่าเป็นเงินสด 99 ปี โดยศรีลังกาใช้เงินจากสัญญาเช่า 1.12 พันล้านดอลลาร์เพื่อแก้ไขปัญหาดุลการชำระเงิน

แต่เรื่องนี้กลายเป็นที่จับตาของชาติฝ่ายตรงข้ามจีน เนื่องจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอินเดีย กังวลว่าท่าเรือดังกล่าวอาจถูกใช้เป็นฐานทัพเรือของจีนได้ และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ในอินเดียเริ่มมีการใช้คำว่า "กับดักหนี้" โจมตีจีนและในตะวันตกก็เริ่มใช้กันหลังจากนั้น

ล่าสุด สื่ออินเดีย India Today รายงานเมื่อวันที่ 6 เมษายนว่า วิกฤตของศรีลังกาเกิดจาก"หนี้ต่างประเทศและเงินกู้จากจีน" รายงานอ้างคำพูดของผู้นำฝ่ายค้านอินเดีย คือ สาชิต เปรมทาส (Sajith Premadasa) โดยกล่าวว่าศรีลังกามองหาความช่วยเหลือทางการเงินจากจีนหลัง "การทำสงครามกับกลุ่มกบฏในปี 2552 หนี้ต่างประเทศทั้งหมดของศรีลังกาเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 45,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งประมาณ 8,000 ล้านดอลลาร์มาจากประเทศจีน"

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลอย่างเป็นทางการสถาบัน Lowy Institute ในออสเตรเลียชี้ให้เห็นว่าเงินกู้จากจีนมีสัดส่วนเพียง 10% ของพอร์ตสินเชื่อของศรีลังกา ในขณะที่การกู้ยืมจากตลาดต่างประเทศและธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เป็นแหล่งที่มาของหนี้ต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด 2 แห่งของศรีลังกา และเงินกู้จากญี่ปุ่นยังคิดเป็น 10% ของหนี้ต่างประเทศ โดยอยู่ในระดับเดียวกับของจีน

นอกจากนี้ Chatham House หรือ Royal Institute of International Affairs สถาบันนโยบายอิสระระดับโลกที่มีสำนักงานใหญ่ในลอนดอน ตีพิมพ์รายงานการวิจัยในปี 2020 โดยสรุปว่าปัญหาหนี้สินของศรีลังกาไม่เกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้ของจีน แต่เป็นผลมาจาก "การตัดสินใจด้านนโยบายภายในประเทศ" ที่เอื้ออำนวยโดยการปล่อยกู้และนโยบายการเงินของตะวันตกมากกว่านโยบายของรัฐบาลจีน

รายงานยังไม่เชื่อว่าจีนสามารถใช้ท่าเรือฮัมบันโตตาเป็นฐานทัพเรือได้ (เรีรายงานระบุว่าเป็น "ผิดพลาดอย่างชัดเจน") และตั้งข้อสังเกตว่านักการเมืองและนักการทูตของศรีลังกาได้ยืนกรานซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าไม่เคยพูดถึงหัวข้อนี้กับจีน แบะไม่มีหลักฐานของกิจกรรมทางทหารของจีนที่หรือใกล้ท่าเรือฮัมบันโตตานับตั้งแต่การเช่าท่าเรือเริ่มต้นขึ้น

ไต้ หย่งหง ผู้อำนวยการสถาบันผลประโยชน์ต่างประเทศของจีน มหาวิทยาลัยเซินเจิ้น กล่าวกับ Global Times ว่า  “ใครกันที่ควรถูกตำหนิสำหรับความล้มเหลวทางเศรษฐกิจของศรีลังกา? ในด้านหนึ่ง การลงทุนของจีนได้สร้างโอกาสในการทำงานในท้องถิ่นมากมาย และเป็นตัวขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของศรีลังกาที่มีมายาวนานกว่าทศวรรษ ในทางกลับกัน การคว่ำบาตรฝ่ายเดียวของรัสเซียฝ่ายตะวันตกได้ผลักดันต้นทุนของพลังงานและสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจที่พึ่งพาต่างประเทศของศรีลังกาเปราะบางมากขึ้น” 

Photo -  REUTERS/Dinuka Liyanawatte TPX IMAGES OF THE DAY

รายงานโดย ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์