posttoday

คาลินินกราด ดินแดนรัสเซียใจกลางยุโรปที่อาจตั้งฐานยิงนิวเคลียร์ถล่มยุโรปได้

09 เมษายน 2565

ดินแดนของรัสเซียใจกลางยุโรป อาจกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญหากเกิดสงครามนิวเคลียร์

คาลินินกราด เป็นเขตการปกครองของสหพันธรัฐรัสเซีย ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลบอลติก ซึ่งแม้จะเป็นของรัสเซียแต่ดินแดนแห่งนี้ ไม่ได้อยู่ติดกับแผ่นดินใหญ่รัสเซีย แต่มีชายแดนติดกับโปแลนด์และลิทัวเนีย เรียกได้ว่าเป็นดินแดนของรัสเซียที่อยู่ใจกลางยุโรปเลยทีเดียว

สำคัญอย่างไร?

ในขณะที่ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครนยังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยุโรปที่ทวีคูณขึ้น เชื่อกันว่ารัสเซียมีการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์อยู่ที่คาลินินกราด ดินแดนของรัสเซียที่อยู่ใจกลางยุโรป ซึ่งจะช่วยรับรองความปลอดภัยให้กับรัสเซียได้

TRT World ระบุว่านักวิเคราะห์ทางทหารบางคนเชื่อว่าหากนาโตเข้าแทรกแซงความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในปัจจุบัน หรือหากรัสเซียเบนเป้าหมายไปที่อดีตสาธารณรัฐโซเวียตอื่นๆ ที่จัดหาอาวุธให้กับยูเครน คาลินินกราดอาจเป็นฐานที่ตั้งสำหรับการโจมตีประเทศเหล่านั้น

ซาราห์ ไวท์ นักวิเคราะห์อาวุโสจากสถาบันเล็กซิงตันมองว่า "การโจมตีอาจเกิดขึ้นตามแนวชายแดนทางตะวันออกสุดของนาโต โดยเฉพาะชายแดนของโปแลนด์กับเบลารุส หรือหนึ่งในกลุ่มประเทศบอลติก จากแคว้นคาลินินกราดที่มีอาวุธหนัก"

ไวท์กล่าวว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียที่เตรียมความพร้อมกองกำลังนิวเคลียร์ตั้งแต่เริ่มโจมตียูเครน อาจใช้ขีปนาวุธนิวเคลียร์ Iskander ที่เชื่อว่ามีอยู่ในคาลินินกราดกำหนดเป้าหมายไปยังเมืองหลวงในยุโรป หากความขัดแย้งบานปลายไปสู่สงครามนิวเคลียร์

คาลินินกราด ดินแดนรัสเซียใจกลางยุโรปที่อาจตั้งฐานยิงนิวเคลียร์ถล่มยุโรปได้

ด้านรัสเซียไม่ได้ยอมรับแต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่ามีการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในคาลินินกราด โดยดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซียกล่าวเมื่อปี 2018 ว่า "การติดตั้งอาวุธใดๆ หรือหน่วยทหารในอาณาเขตของรัสเซีย เป็นเรื่องของสหพันธรัฐรัสเซียเท่านั้น"

แต่เจ้าหน้าที่อาวุโสส่วนหนึ่งรวมถึงประธานาธิบดีของลิทัวเนีย ยืนยันว่ารัสเซียติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในคาลินินกราด

ขณะที่ ฮันส์ คริสเตนเซ่น ผู้อำนวยการโครงการข้อมูลนิวเคลียร์ของสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน (FAS) กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้จากภาพถ่ายทางดาวเทียมทำให้เชื่อได้ว่ามีสถานที่จัดเก็บอาวุธนิวเคลียร์ในคาลินินกราด

ยิ่งไปกว่านั้น ก่อนที่จะควาขัดแย้งในยูเครนจะปะทุขึ้น ดมิทรี เมดเวเดฟ รองประธานสภาความมั่นคงรัสเซียและอดีตประธานาธิบดี กล่าวว่ารัสเซียสามารถนำอาวุธนิวเคลียร์ไปใช้ในคาลินินกราด เพื่อตอบสนองต่อการติดตั้งขีปนาวุธของนาโตในโปแลนด์และยุโรปตะวันออก

นอกจากนี้ คาลินินกราดยังมีท่าเรือที่ปราศจากน้ำแข็งตลอดทั้งปีเพียงแห่งเดียวของทะเลบอลติก ทำให้เป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญกับทั้งรัสเซียและกลุ่มประเทศบอลติกอย่างเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย ในการรับประกันการขนส่งและการค้าทั่วทั้งภูมิภาค

อยู่ใจกลางยุโรปแต่ทำไมเป็นของรัสเซีย?

นอกจากความสำคัญเชิงกลยุทธ์และการทหารแล้ว คาลินินกราดยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากมายสำหรับทั้งประวัติศาสตร์ยุโรปและรัสเซีย

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 คาลินินกราดเคยมีชื่อว่า เคอนิชส์แบร์ค (Konigsberg) ในภาษาเยอรมันแปลว่าหุบเขาแห่งกษัตริย์ และเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรปรัสเซียหรือที่กลายมาเป็นเยอรมนีในปัจจุบัน จนกระทั่งปี 1701 เมื่อราชวงศ์ย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงเบอร์ลิน

อย่างไรก็ตาม ปรัสเซียเคยสูญเสียเคอนิชส์แบร์คให้กับรัสเซียในช่วงปี 1758 แต่ก็สามารถยึดคืนมาได้ในอีก 4 ปีต่อมา จนกระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองนี้เป็นสนามรบที่รุนแรงระหว่างกองกำลังโซเวียตและนาซีเยอรมนี

ในที่สุดเมืองนี้ก็ตกเป็นของสหภาพโซเวียตในปี 1945 และถูกเปลี่ยนชื่อเป็นคาลินิน ซึ่งมาจาก มิคาอิล คาลินิน ผู้นำคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ และรัฐบุรุษซึ่งเป็นประมุขอย่างเป็นทางการของสหภาพโซเวียตระหว่างปี 1922-1946

หลังได้เมืองคาลินินกราดมาเป็นที่เรียบร้อย โซเวียตบังคับให้ชาวเยอรมันในเมืองนี้อพยพไปยังเยอรมนี จนกระทั่งสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 คาลินินกราดก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมาจนถึงปัจจุบัน

ประชากรทั้งหมดในคาลินินกราดปัจจุบันอยู่ที่เกือบ 1 ล้านคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพมาจากส่วนต่างๆ ของรัสเซีย

ภาพ: ปราสาทเคอนิชส์แบร์ค (Königsberg Castle and Courtyard, c. 1900/Unknown author/Wikipedia)

รายงานโดย ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์