posttoday

ปูตินกับม้าไม้เมืองทรอย ทะลวงยุโรปให้แตกแยก

07 เมษายน 2565

หรือว่าเขาผู้นี้อาจจะเป็นกาวประสานให้รัสเซียกับยุโรปยอมคุยกันดีๆ อีกครั้ง นี่คือเรื่องราวของ "วิกโตร์ โอร์บาน" นายกรัฐมนตรีฮังการี ผู้ที่ได้ชื่อว่า "โปรปูติน" ที่สุดในหมู่ผู้นำยุโรป

ทันทีที่วิกโตร์ โอร์บาน ชนะการเลือกตั้งและรั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของฮังการีได้อีกครั้งเป็นสมัยที่ 4 ยุโรปและสหรัฐถึงกับนั่งไม่ติด

โอร์บานเป็นนักการเมืองฝ่ายขวาที่ออกจะจัดจ้าน บั่นทอนเสรีภาพต่างๆ ในประเทศไม่หยุดหย่อน จนฮังการีแทบจะกลายเป็นแกะดำท่ามกลางสหภาพยุโรปที่อิงประชาธิปไตยเสรีนิยม โอร์บานไม่แยแส ยังเชิดชูแนวทาง "ประชาธิปไตยไม่เสรีนิยม" ของเขาต่อไป ผลก็คือ ชาวประชาชอบใจ และเลือกเขากลับมาอีกครั้ง

โอร์บานเป็นคนตรงไปตรงมา เขารังเกียจจอร์จ โซรอสแค่ไหนก็บอกออกมาตรงๆ ดังในแถลงประกาศชัยชนะล่าสุดเขาบอกว่า "พวกฝ่ายซ้ายที่บ้าน (ฮังการี) ฝ่ายซ้ายนานาชาติที่กลาดเกลื่อน พวกข้าราชการบรัสเซลส์ จักรวรรดิโซรอสกับเงินทั้งหมดของมัน พวกสื่อกระแสหลักระหว่างประเทศ และท้ายที่สุด แม้แต่ประธานาธิบดียูเครน”

ในสายตาโอร์บานนั่นพวกที่เป็นเสรีประชาธิปไตย เป็นพวก "ซ้าย" ทั้งหมด ทั้งพวกที่บรัสเซลส์คือสหภาพยุโรป พวกโซรอส พวกสื่อตะวันตกทั้งหลายแหล่ และแม้แต่เซเลนสกี

ฝ่ายซ้ายในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแนวคิดสังคมนิยม แต่หมายถึงประชาธิปไตยแบบที่ไม่เน้นชาตินิยมอย่างที่โอร์บานชอบ พวก "ประชาธิปไตยซ้าย" เหล่านี้ชอบให้ประเทศอื่นเปิดเสรีมันทุกสิ่งทุกอย่างโดยอ้าง "ความสวยงามของประชาธิปไตย" เพื่อตัวเองจะได้เข้าไปทะลวงถึงไส้ถึงพุง แล้วลากเอาผลประโยชน์ของประเทศนั้นมาสวาปาม

จอร์จ โซรอสนั้นเป็นลูกหลานฮังการีมาแต่เดิมแต่ต่อมาระหกระเหินไปอเมริกา จนกระทั่งสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นเศรษฐีใหญ่ พร้อมกับชูธงส่งเสริมประชาธิปไตยไปทั่วโลก แต่บางคนมองว่าโซรอสไม่ได้แค่รักประชาธิปไตย แต่ได้ประโยชน์จาก "เสรีนิยมประชาธิปไตย" ที่บีบให้บางประเทศต้องเปิดเสรีเศรษฐกิจด้วย ซึ่งนายทุนอยางเขาได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ

คนที่ชอบประชาธิปไตยแบบเปิดประเทศอ้าซ่าให้นายทุนเข้ามาหากินแบบนี้เชิดชูกโซรอสกันใหญ่ แต่โอร์บานชิงชังโซรอสที่สุด ไม่สนเลยว่าเขาผู้นำเข้ามาทำประโยชน์ให้บ้านเกิดคือฮังการีแค่ไหน และสร้างชื่อให้ฮังการีเพียงใด

ในความคิดพวกชาตินิยมหรือ "ประชาธิปไตยฝ่ายขวา" แบบโอร์บานนั้น ต่อให้เอาเงินมากองให้บ้านเกิดสูงท่วมภูเขา แต่หากอุดมการณ์ของคนๆ นั้นเป็นอันตรายต่อบ้านเมืองในระยะยาว ก็คงยากที่จะยกย่องเชิดชู

คำว่า "อันตรายต่อบ้านเมืองในระยะยาว" ก็เป็นคำกึ่งยากจะฟันธงอยู่เหมือนกัน เพราะฝ่ายหนึ่งก็คิดว่าตัวเองทำถูก อีกฝ่ายก็ยืนยันว่าตัวเองไม่ได้ขายชาติ เรื่องนี้คือความยอกย้อนทางการเมืองที่เราทุกคนต้องแยกแยะกันเองให้ดีเมืองไทยก็เกิดกรณีแบบนนี้บ่อยๆ คืออ้างว่ารักชาติ แต่พฤติกรรมไปคนละทาง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

กลับมาที่โอร์บาน ความเขาที่ "call out" เซเลนสกีประหนึ่งว่าเป็นลูกไล่ของพวกฝ่ายซ้ายนิยมเปิดเสรี ทำให้เซเลนสกีนั่งไม่ติด และสวนกลับในพลันว่า “เขาเป็นเพียงคนเดียวในยุโรปที่ให้การสนับสนุนปูตินอย่างเปิดเผย”

เปิดเผยหรือไม่เปิดเผยเราจะว่ากันต่อไป แต่คนแรกๆ ที่แสดงความยินดีกับชัยชนะของโอร์บานเป็นปูตินจริงๆ

ขณะที่โอร์บานก็ตอบสนองด้วยการขอให้หยุดยิงและเชิญปูตินมาเจรจาสันติภาพที่ฮังการีเสียเลย หลังจากสวมบทพระเอกคนกลางแล้ว ก็ยังขอเพิ่มการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียเสียเลยโดยไม่ต้องทำเป็นกระมิดกระเมี้ยนอีก ในขณะที่ยุโรปที่เหลือยังละล้าละลังว่าควรจะนำเข้าก๊าซจากรัสเซียต่อไปดีไหม เพราะตัวองก็คว่ำบาตรรัสเซียมันเกือบจะทุกด้านแล้ว ยกเว้นด้านพลังงานที่ขาดรัสเซียไม่ได้เลยไม่กล้าทำ

เซเลนสกีรำคาญจัดถึงกับบอกว่าถ้าจะคว่ำบาตรก็ทำให้มันจริงๆ จังๆ หน่อย และยังกระแทกไปถึงฮังการีด้วยว่ากำลังช่วยเหลือรัสเซีย

กระทรวงการต่างประเทศยูเครนบอกว่าดีลก๊าซของฮังการีกับรัสเซียนั้นเป็น “การตัดสินใจทางการเมืองชัดๆ ไม่มีอะไรผสม และไร้เหตุผลทางเศรษฐกิจ (มีเจตนา) เพื่อสนับสนุนเครมลิน ในขณะที่ส่งผลเสียต่อผลประโยชน์ของประเทศยูเครนและความสัมพันธ์ระหว่างยูเครน-ฮังการี”

ช่วงหลังนี้ เซเลนสกีและรัฐบาลของเขาเดินสายพูดแบบวันต่อวันและวันละหลายรอบ หลายครั้งเป็นการพูดเอามันจนเกินไป จนหลายคนเริ่มที่จะเบื่อ กรณีของฮังการีก็เช่นกัน จะไปว่าฮังการีก็ไม่ถูกเพราะมันมีเหตุผลทางเศรษฐกิจจริงๆ ในยุคก๊าซแพงดั่งทอง และถ้าจะด่าฮังการีเรื่องดีลก๊าซคงต้องด่าทั้งยุโรปที่คอยเชียร์ยูเครนด้วย

เรื่องก๊าซและสงครามนั้นจะเป็นกุญแจสำคัญของการเลือกตั้งในยุโรป เพราะผู้คนเจ็บปวดหันมากจากข้าวของแพง แต่ยังพยายามอดกลั้นเพราะรังเกียจการทำสงครามของรัสเซีย

แต่อุดมการณ์กับปากท้องคนยุโรปอย่างไหนจะแกร่งกว่ากันนั้น อีกไม่นานก็จะชัดขึ้น

อย่างกรณีของฮังการี ตั้งแต่ตอนหาเสียงกัน ฝ่ายค้านของฮังการีเตือนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสมอถึงเรื่องที่โอร์บานมักจะมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปูตินและมีดีลกันต่างๆ นานา ในระยะ 12 ปีที่เขาอยู่ในอำนาจ หนึ่งในดีลที่ "ถูกแฉ" คือสัญญาก๊าซระยะยาวระหว่างฮังการีและรัสเซียเพื่อแลกกับราคาที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับพันธมิตรในยุโรป

เรื่องค่าไฟที่ถูกลงเป็นประเด็นหาเสียงสำคัญของโอร์บาน และมันทำให้เขาได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง นั่นย่อมหมายความว่าชาวฮังการีไม่สนเรื่อง "แฉ" และยอมให้ตัวองเป็นอียูประเทศแรกๆ ที่สนใจปากท้องมากกว่าสงครามแล้ว

แน่นอนว่า มันย่อมมีมูลเรื่องโอร์บานเป็นพันธมิตรกับปูตินด้วย

ว่ากันเรื่องรสนิยมทางการเมืองก่อน ทั้งสองคนนี้คิดอะไรคล้ายๆ กัน เรื่องชาตินิยม เรื่องต่อต้านความหลากหลายทางเพศ เรื่องระแวงพวกสากลนิยมทั้งหลาย ทั้องค์กรข้ามชาติและสื่อตะวันตก สองคนนี้ยังถูกกล่าวหาว่าเล่นการเมืองพ่วงระบอบเล่นพรรคเล่นพวก และถูกกล่าวหาว่าเป็น "ศัตรูของระบอบประชาธิปไตย" เหมือนกัน

แต่ก็อย่างที่บอกไป โอร์บานก็มีประชาธิปไตยในแนวของเขา และยังด่าว่าประชาธิปไตยของพวกฝ่ายซ้าย (อย่างโซรอส เซเลนสกี และพวกนักการเมืองอียูที่บรัสเซลส์) นั้นเป็นอันตราย

เรื่องที่โอร์บานถูกกล่าวหาว่าเชียร์ปูตินนั้น มันก็พอจะบอกว่าเป็นการ "เชียร์" ได้ และปูตินย่อมมองเห็นศักยภาพของโอร์บานในฐานะ "ม้าไม้เมืองทรอย" เพื่อใช้เขาเป็นตัวแทรกแซงเข้าไปในสหภาพยุโรป เพื่อใช้โอร์บานปั่นหัวให้ยุโรปแตกคอกันเอง ซึ่งรอยร้าวนั้นมีอยู่ แต่พยายามอำพรางกันเอาไว้ได้บ้างไม่ได้บ้าง

โปรดทราบว่ายิ่งประเทศไหนในยุโรปมีการเลือกตั้ง เรื่องความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับการคว่ำบาตรรัสเซียจะยิ่งชัดเจนขึ้น นอกจากฮังการีแล้วก็ยังมีฝรั่งเศสอีกหนึ่งราย

แต่อย่าลืมว่าโอร์บานก็เป็นส่วนหนึ่งของผู้นำสหภาพยุโรป ความที่เผชิญความขัดแย้งมาหลายศตวรรษเรื่องชาติใหญ่กลืนชาติ สัญชาติญาณหนึ่งของคนยุโรปประเทศเล็กๆ นั้นก็คือต้องรู้จักถ่วงดุลอำนาจ โอร์บานก็น่าจะเป็นคนประเภทนั้น

ขณะที่โอร์บานดูเหมือนจะเข้าข้างรัสเซียและบอกว่าการคว่ำบาตรไม่เวิร์ก แต่เขาก็คล้อยตามอียูด้วยการคว่ำบาตรรัสเซียเหมือนกัน แต่รัสเซียไม่โกรธ แถมปูตินยังแสดงความยินดีกับชัยชนะของโอร์บาน

คนแบบโอร์บานนั้นหากมีมากกว่านี้ บางทีสงครามอาจจะไม่เกิด

จะเห็นได้จากการที่โอร์บานบอกว่า ความแตกต่างระหว่างรัสเซียและนาโตเกี่ยวกับกรณียูเครนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่ "สามารถเชื่อมโยง" และเสริมว่าทุกฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงที่จะรับประกันความมั่นคงของรัสเซียและเป็นที่ยอมรับของประเทศสมาชิกนาโตได้ด้วย

การที่ผู้นำฮังการีพูดอกมาแบบนี้มันสะท้อนถึงความไม่ลงรอยในยุโรปเช่นกัน ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่จะชนกับรัสเซียลูกเดียว กับฝ่ายที่อยากจะเคลียร์กันโดยไม่ใช้กำลัง ถ้าตัดเรื่องโอร์บานเชียร์ปูตินออกไป คำพูดของเขาก็ยิ่งมีน้ำหนัก

ฮังการีนั้นหนุนให้ยูเครนเป็นสมาชิกอียูเร็วๆ ด้วยซ้ำ แต่ขวางไม่ให้ยูเครนเป็นสมาชิกนาโต แต่พอเกิดสงครามขึ้นมาก็คว่ำบาตรรัสเซียเพื่อรักษาเอกภาพของอียูไว้ นี่แสดงว่าฮังการี "รู้อะไรควรไม่ควร"

หากเรามองที่การเมืองระหว่างประเทศตามความเป็นจริงว่าเป็นเรื่องของดุลอำนาจ ท่าทีแบบโอร์บานนี่แหละที่จะช่วยดับไฟสงครามได้

แต่เพราะโอร์บานตกอยู่ในสภาพเหมือนปูติน คือเป็นพวกคนละฝ่ายกับประชาธิปไตยกระแสหลักและเป็นคนที่สื่อกระแสหลักระแวงเกินเหตุ ทำให้เขาถูกหมายหัวในทันทีว่าเป็น "ภยันตรายอีกอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยในยุโรป" นอกเหนือจากปูติน

คำถามก็คือถ้าโอร์บานเป็นอันตรายกับระบอบประชาธิปไตย แล้วระบอบแบบไหนที่เลือกเขาเข้ามาเป็นผู้นำครั้งแล้วครั้งเล่า?

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Attila KISBENEDEK / AFP