posttoday

ศรีลังกามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? วิกฤตหนักจนขุนคลังทำงานวันเดียวลาออก

05 เมษายน 2565

วิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกาสั่นคลอนประเทศอย่างหนัก รัฐบาลยังไม่ยอมออก แต่คณะรัฐมนตรีออกกันแบบรายวัน

อาลี ซาบรี รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของศรีลังกา ลาออกหลังจากสาบานตนเข้ารับตำแหน่งได้แค่วันเดียว ท่ามกลางความไม่พอใจประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายลง

“ข้าพเจ้าขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยมีผลทันที” ซาบรีกล่าวในจดหมายถึงประธานาธิบดีซึ่งเห็นโดยรอยเตอร์

ประธานาธิบดีโคตาบายา ราชปักษา แต่งตั้งซาบรีในวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังจากยุบคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ รวมถึงบาซิล ราชปักษา น้องชายของเขา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังมาก่อนหน้านี้ 

ขณะเดียวกัน พรรคร่วมรัฐบาลของประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา แห่งศรีลังกาสูญเสียเสียงข้างมากในรัฐสภาเมื่อวันอังคาร หลังจากสมาชิกสภานิติบัญญัติอย่างน้อย 41 ออกจากกลุ่มพันธมิตร ท่ามกลางความไม่สงบที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ 

“พรรคของเราอยู่เคียงข้างประชาชน” ไมตรีปาละ สิริเสนา หัวหน้าพรรคเสรีภาพศรีลังกา ซึ่งถอนการสนับสนุนพรรคผสมของราชปักษะ กล่าว

การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ราชปักษามีรัฐบาลส่วนน้อย ซึ่งอาจทำให้การตัดสินใจมีความท้าทายมากขึ้น แม้ว่าผู้ร่างกฎหมายอิสระยังคงสามารถสนับสนุนข้อเสนอของรัฐบาลต่อไปได้

ศรีลังกามามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

นักวิจารณ์กล่าวว่ารากเหง้าของวิกฤตครั้งนี้ เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ อยู่ที่การจัดการที่ผิดพลาดทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องโดยรัฐบาล ซึ่งก่อให้เกิดภาวะขาดดุลซ้ำซ้อน คืองบประมาณขาดดุลควบคู่ไปกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

"ศรีลังกาเป็นเศรษฐกิจที่มีการขาดดุลคู่แฝดแบบคลาสสิก" เอกสารการทำงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียปี 2019 กล่าว "การขาดดุลสองประการส่งสัญญาณว่ารายจ่ายของประเทศหนึ่งมีมากกว่ารายได้ประชาชาติ และการผลิตสินค้าและบริการที่ซื้อขายได้ไม่เพียงพอ"

แต่วิกฤตในปัจจุบันถูกเร่งด้วยการลดหย่อนภาษีอย่างหนักตามที่ประธานาธิบดีราชปักษาสัญญาไว้ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งปี 2019 ซึ่งประกาศใช้เป็นเวลาหลายเดือนก่อนการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของศรีลังกาบางส่วนทรุดลง

ด้วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เคยสร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศและการส่งเงินกลับของแรงงานต่างชาติที่ถูกกำจัดโดยการระบาดใหญ่ หน่วยงานจัดอันดับเครดิตจึงปรับลดอันดับประเทศศรีลังกาและทำให้ศรีลังกาเข้าไม่ถึงแหล่งทุนจากต่างประเทศไปโดยปริยาย ทำให้ยิ่งขาดรายได้เข้าไปอีก

ในทางกลับกัน โครงการจัดการหนี้ของศรีลังกา ซึ่งขึ้นอยู่กับการเข้าถึงตลาดเหล่านั้น ทำให้ทุนสำรองที่ลดลงเกือบ 70% ในเวลาสองปี

การตัดสินใจของรัฐบาลราชปักษาที่จะห้ามใช้ปุ๋ยเคมีทั้งหมดในปี 2021 ก็ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมของประเทศเช่นกัน และทำให้การปลูกข้าวเผชิญกับวิกฤต แม้จะเปลี่ยนการตัดสินใจห้ามใช้ปุ๋ยในเวลาต่อมาก็ตาม

จะเกิดอะไรขึ้นกับหนี้ต่างประเทศของศรีลังกา?

ณ เดือนกุมภาพันธ์ ประเทศศรีลังกาเหลือเงินสำรองเพียง 2.31 พันล้านดอลลาร์ แต่ต้องเผชิญกับการชำระหนี้ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 ซึ่งรวมถึงพันธบัตรระหว่างประเทศ (ISB) มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ที่จะครบกำหนดในเดือนกรกฎาคม

ISB เป็นหนี้ต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของศรีลังกาที่ 12.55 พันล้านดอลลาร์ โดยมีธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ญี่ปุ่น และจีนเป็นผู้ให้กู้รายใหญ่รายอื่นๆ

ในการทบทวนเศรษฐกิจของประเทศที่เผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้ว IMF  กล่าวว่าหนี้สาธารณะของศรีลังกาเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ "ระดับที่ไม่ยั่งยืน" และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศไม่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้ระยะสั้น

ในบันทึกเมื่อปลายเดือนที่แล้ว Citi Research กล่าวว่าบทสรุปของรายงาน IMF และมาตรการล่าสุดของรัฐบาลศรีลังกาไม่เพียงพอที่จะฟื้นฟูความยั่งยืนของหนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึง "ความจำเป็นในการปรับโครงสร้างหนี้"

ใครที่จะเข้ามาช่วยศรีลังกา?

เป็นเวลาหลายเดือนที่ฝ่ายบริหารของราชปักษาและธนาคารกลางของศรีลังกา (CBSL) ต่อต้านการเรียกร้องของผู้เชี่ยวชาญและผู้นำฝ่ายค้านให้ขอความช่วยเหลือจาก IMF แม้ว่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

แต่หลังจากที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นภายหลังการรุกรานยูเครนของรัสเซียในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ในที่สุดรัฐบาลก็ร่างแผนเข้าหา IMF ในเดือนเมษายน

IMF จะเริ่มหารือกับทางการศรีลังกาเกี่ยวกับโครงการเงินกู้ที่เป็นไปได้ใน "ไม่กี่วันข้างหน้า" โฆษก IMF กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม

ก่อนมุ่งหน้าไปขอความช่วยเหลือจาก IMF ศรีลังกาได้ลดค่าเงินของประเทศลงอย่างมาก กระตุ้นเงินเฟ้อและเพิ่มความเจ็บปวดให้กับประชาชน ซึ่งหลายคนต้องทนกับความยากลำบากและต้องต่อคิวยาวเพื่อซื้อสิ่งของที่จำเป็น

ในระหว่างนี้ ราชปักษายังได้ขอความช่วยเหลือจากจีนและอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความช่วยเหลือด้านเชื้อเพลิงจากฝ่ายหลัง การจัดส่งน้ำมันดีเซลภายใต้วงเงิน 500 ล้านดอลลาร์ที่ลงนามกับอินเดียในเดือนกุมภาพันธ์คาดว่าจะมาถึงในวันเสาร์ที่ 9 เมษายน

ศรีลังกาและอินเดียได้ลงนามในวงเงินสินเชื่อ 1 พันล้านดอลลาร์สำหรับการนำเข้าสิ่งจำเป็น ซึ่งรวมถึงอาหารและยา และรัฐบาลราชปักษาได้แสวงหาเงินอีกอย่างน้อย 1 พันล้านดอลลาร์จากรัฐบาลนิวเดลี

ส่วนจีน หลังจากทำสวอป 1.5 พันล้านดอลลาร์กับธนาคารกลางศรีลังกา และเงินกู้ร่วม 1.3 พันล้านดอลลาร์แก่รัฐบาลศรีลังกา จีนกำลังพิจารณาที่จะเสนอวงเงินสินเชื่อ 1.5 พันล้านดอลลาร์แก่ศรีลังกาและให้เงินกู้แยกต่างหากสูงสุด 1 พันล้านดอลลาร์

Photo -  REUTERS/Dinuka Liyanawatte TPX IMAGES OF THE DAY