posttoday

จีนพบฟอสซิลปลาหน้าคล้ายอีโมจิอายุ 438 ล้านปี

02 เมษายน 2565

คณะนักวิจัยจีนค้นพบฟอสซิลปลาโบราณ 2 สายพันธุ์ที่มีหน้าตาคล้าย “อีโมจิ” ในมณฑลเจียงซีทางตะวันออกของประเทศ

บทความวิจัยที่เผยแพร่ผ่านวารสารเจอร์นัล ออฟ เอเชียน เอิร์ธ ไซแอนซ์ (Journal of Asian Earth Sciences) เมื่อไม่นานนี้ คาดการณ์ช่วงอายุของปลาข้างต้นว่าน่าจะอยู่ในยุคเทลีเคียน (Telychian) หรือช่วงเดียวกับหินตะกอนทะเลสีแดงยุคไซลูเรียน (Silurian) ตอนล่าง ซึ่งมีอายุย้อนหลังไปราว 438 ล้านปี นับเป็นการค้นพบฟอสซิลปลาสายพันธุ์ยูจาเลียสปิฟอร์ม (eugaleaspiform) ที่โบราณและเก่าแก่ที่สุดในปัจจุบัน

รายงานระบุว่าปลาสองสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว มีชื่อเรียกว่า “ชิงสุ่ยอัสปิ จวิ้นชิงกิ” (Qingshuiaspis junqingi) และ “อันจี๋อัสปิ เอริเชียส” (Anjiaspis ericius)

หินตะกอนทะเลสีแดงยุคไซลูเรียนตอนล่างกระจัดกระจายและพบได้ทั่วไปในภูมิภาคแยงซี โดยมีการดำเนินการศึกษาเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับการลำดับชั้นหินตามชีวภาพ วิทยาหิน และตะกอนวิทยาของยุคไซลูเรียนตอนต้นในจีน ขณะที่อายุทางธรณีวิทยาและความเกี่ยวโยงเชิงภูมิภาคของหินชนิดดังกล่าวในภูมิภาคยังคงเป็นที่ถกเถียง เนื่องจากการขาดหลักฐานฟอสซิลที่น่าเชื่อถือ

อนึ่ง ผลการศึกษาข้างต้น ซึ่งดำเนินการโดยคณะนักวิจัยจากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษยวิทยาบรรพกาล (IVPP) สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (CAS) ถือเป็นหลักฐานฟอสซิลชิ้นสำคัญที่เกี่ยวโยงกับหินตะกอนทะเลสีแดงยุคไซลูเรียนตอนล่าง

ที่มา: xinhuathai