posttoday

นักวิทย์อึ้ง! พบเสียงที่อัดจากดาวอังคารเดินทางด้วย 2 ความเร็ว

02 เมษายน 2565

นักวิทย์เผยเสียงบนดาวอังคารเดินทางด้วยความเร็ว 2 ความเร็วทำให้ได้ยินต่างกัน

สำนักข่าว AFP รายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์เผยผลการศึกษาเสียงที่บันทึกบนดาวอังคารครั้งแรกโดยไมโครโฟน 2 ตัวที่ติดตั้งอยู่บนยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverance) ขององค์การนาซาที่ลงจอดบนดาวอังคารเมื่อเดือน ก.พ.ปีที่แล้ว โดยพบว่าเสียงบนดาวอังคารเดินทางด้วย 2 ความเร็ว

นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์เสียงความยาว 5 ชั่วโมงที่ได้จากไมโครโฟนทั้งสองตัว โดย ซิลเวสเตอร์ มอรีซ ผู้เขียนหลักของงานวิจัยและหัวหน้าการสร้าง SuperCam กล้องพร้อมไมโครโฟนที่ติดตั้งบนเสาของยานสำรวจเผยว่า มีเสียงความปั่นป่วนของสภาพอากาศบบนดาวอังคารที่ไม่เคยค้นพบมาก่อน

มอรีซเผยกับ AFP ว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ฟังเสียงการบินของเฮลิคอปเตอร์จิ๋ว อินเจนูอิตี (Ingenuity) และได้ยินเสียงยานสำรวจยิงเลเซอร์เจาะก้อนหินบนดาวอังคารเพื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของหิน ซึ่งมีเสียงแหลมดังแกร๊กๆ

นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์เสียงที่เดินทางระหว่างจุดกำเนิดเสียงและจุดรับเสียงระยะห่างราว 6-16 เมตร และยืนยันเป็นครั้งแรกว่า ความเร็วของเสียงช้าลงเมื่ออยู่บนดาวอังคาร โดยเดินทางด้วยความเร็ว 240 เมตรต่อวินาที เมื่อเทียบกับความเร็วบนโลกที่ 340 เมตรต่อวินาที

การค้นพบดังกล่าวไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย เนื่องจากชั้นบรรยากาศของดาวอังคารมีคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 95% เมื่อเทียบกับโลกที่มีเพียง 0.04% และมีชั้นบรรยากาศเบาบางกว่าโลกถึง 100 เท่า ทำให้เสียงเบากว่าบนโลก 20 เดซิเบล

แต่ที่สร้างความประหลาดใจให้นักวิทยาศาสตร์คือ เสียงที่เกิดจากเลเซอร์เจาะหินเดินทางด้วยความเร็ว 250 เมตรต่อวินาที เร็วกว่าที่คาด 10 เมตร

มอรีซเผยว่า “ผมประหม่าเล็กน้อย ผมบอกตัวเองว่าการวัด 1 ใน 2 ครั้งอาจผิดพลาด เพราะบนโลกเสียงเดินทางด้วยความเร็วเดียว”

นักวิทยาศาสตร์พบว่า บนพื้นผิวของดาวอังคาร เสียงเดินทางด้วยความเร็ว 2 ความเร็วคือ ความเร็วหนึ่งสำหรับเสียงที่มีความถี่สูงอย่างเสียงยิงเลเซอร์ และอีกความเร็วหนึ่งสำหรับเสียงความถี่ต่ำอย่างเสียงการหมุนของใบพัดเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งหมายความว่าหูของมนุษย์จะได้ยินเสียงที่มีความถี่สูงก่อนเสียงที่มีความถี่ต่ำเล็กน้อย

“บนโลกเสียงจากวงออเคสตราจะเดินทางถึงคุณด้วยความเร็วเดียวกันไม่ว่าจะเป็นเสี่ยงต่ำหรือเสียงสูง แต่หากอยู่บนดาวอังคารแล้วคุณอยู่ไกลจากเวทีหน่อย มันจะเกิดการดีเลย์มากเลยล่ะ” มอรีซกล่าว

ด้านสถาบันวิจัย CNRS ของฝรั่งเศสระบุในแถลงการณ์ว่า “ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้จะทำให้การสนทนากันของคนสองคนที่อยู่ห่างกันในระยะ 5 เมตรเป็นเรื่องยาก”

NASA/JPL-Caltech/Handout via REUTERS