posttoday

คุ้มครองยูเครนมากว่าพันปี คำทำนายโบราณชี้หากสิ่งนี้ยังอยู่ยูเครนจะไม่ล่มสลาย

01 เมษายน 2565

ภาพโมเสกขนาดใหญ่ที่รอดพ้นจากสงครามมาหลายศตวรรษ ชาวยูเครนเชื่อว่าตราบใดที่สิ่งนี้ยังมิถูกทำลาย ยูเครนก็จะยังคงยืนหยัดต่อไปได้เช่นกัน

ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียที่เดินหน้าโจมตีชุมชนต่างๆ ทั่วยูเครน คร่าชีวิตผู้คนหลายพันคน และทำให้อีกหลายล้านคนต้องอพยพ ขณะที่กองทัพรัสเซียเคลื่อนพลเข้าใกล้กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน คำทำนายทางศาสนาในสมัยโบราณก็ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง

Continual Reformation ระบุว่าชาวยูเครนหลายคนหันหาพระแม่มารีย์เพื่อขอให้คุ้มครองพวกเขา รวมถึงแคเทอรีนา ยูเชนโก (Kateryna Yushchenko) ภรรยาของอดีตประธานาธิบดียูเครน ซึ่งเบนความสนใจไปที่ภาพโมเสกของพระแม่มารีย์ ที่มหาวิหารเซนต์โซเฟีย ในกรุงเคียฟ โดยตำนานเล่าขานว่า นี่คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะช่วยปกป้องคุ้มครองประเทศ

คำทำนายโบราณระบุว่ายูเครนจะอยู่รอด และยังคงเป็นอิสระ ตราบใดที่ภาพโมเสกขนาดใหญ่ของพระแม่มารีย์ในมหาวิหารเซนต์โซเฟีย แห่งกรุงเคียฟ ซึ่งเป็นโบสถ์เก่าแก่ อายุกว่าพันปี ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ยังคงไม่บุบสลาย

ทว่า ที่น่าตกใจก็คือที่ตั้งของโบสถ์แห่งนี้อยู่ใกล้กับหน่วยงานรักษาความปลอดภัยในกรุงเคียฟ ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายการโจมตีของรัสเซีย

ภาพโมเสกขนาดใหญ่ความสูงราว 6 เมตร หรือที่เรียกว่า Oranta ในมหาวิหารเซนต์โซเฟีย แห่งกรุงเคียฟ รอดพ้นจากการทำลายล้างจากสงครามและการปฏิวัติมาหลายศตวรรษ ขณะที่ส่วนอื่นๆ ของโบสถ์ได้รับความเสียหาย และต้องสร้างขึ้นมาใหม่ รวมถึงการรุกรานกรุงเคียฟของบาตู ข่าน (Batu Khan) ในศตวรรษที่ 13 ก็ไม่ทำให้ เสียหายแต่อย่างใด

กำแพงที่มีภาพโมเสกของพระแม่มารีย์แห่งนี้จึงรู้จักกันในชื่อ "กำแพงที่ไม่สามารถทำลายได้" และเป็นสัญลักษณ์ของบูรณภาพแห่งกรุงเคียฟ

ชาวยูเครนจึงมีความเชื่อว่าตราบใดที่สิ่งนี้ยังมิถูกทำลาย เคียฟและยูเครนก็จะยังคงยืนหยัดต่อไปได้เช่นกัน

คุ้มครองยูเครนมากว่าพันปี คำทำนายโบราณชี้หากสิ่งนี้ยังอยู่ยูเครนจะไม่ล่มสลาย

ในปี 1990 ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียนมหาวิหารเซนต์โซเฟีย แห่งกรุงเคียฟ เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งแรกของยูเครน ซึ่งตอนนี้หน่วยงานด้านศาสนาแลวัฒนธรรมกำลังกังวลว่าที่นี่จะตกอยู่ในความเสี่ยงจากการรุกรานของรัสเซียด้วย

ราชินีแห่งยูเครน

บทความจากเว็บไซต์สารานุกรมบริแทนนิกา เขียนโดยเคย์ลา แฮร์ริส ระบุว่า ตามตำนานของนิกายออร์โธดอกซ์ พระแม่มารีย์ปรากฏตัวอย่างปาฏิหาริย์ที่โบสถ์แห่งหนึ่งในคอนสแตนติโนเปิล หรืออิสตันบูลในปัจจุบัน เมื่อเมืองถูกโจมตีในช่วงต้นศตวรรษที่ 10 พระแม่มารีย์ได้อธิษฐานและใช้ผ้าของท่านคลุมประชาชน จากนั้นกองทัพที่บุกรุกก็ถอยร่นออกไป

ประมาณหนึ่งศตวรรษต่อมาในปี 1037 ยาโรสลาฟ เดอะ ไวส์ (Yaroslav the Wise) มกุฏราชกุมารแห่งเคียฟได้อุทิศยูเครนให้แด่พระแม่มารีย์ จนถึงทุกวันนี้พระแม่มารีย์ยังเป็นที่รู้จักในนาม "ราชินีแห่งยูเครน"

จวบจนปัจจุบันมีหลายสิ่งที่มีความหมายพิเศษสำหรับชาวคริสเตียนยูเครน และหนึ่งในนั้นก็คือ Oranta ภาพโมเสกในมหาวิหารเซนต์โซเฟีย แห่งกรุงเคียฟ

แฮร์ริสยังระบุว่าเป็นเรื่องปกติที่สำหรับชาวคริสเตียนที่จะหันหาพระแม่มารีย์เมื่อต้องประสบกับความยากลำบาก ตัวอย่างเช่น 2 ปีที่ผ่านมาหลายคนทั่วโลกขอให้พระแม่มารีย์คุ้มครองจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกับในยูเครนขณะนี้ที่กำลังเผชิญกับสงครามที่โหมกระหน่ำ