posttoday

จะเกิดอะไรขึ้นหากสหรัฐ-รัสเซียเปิดฉากสงครามนิวเคลียร์

07 มีนาคม 2565

ภาพจำลองจากทีมวิจัย จะเกิดอะไรขึ้นหากสหรัฐ-รัสเซียเปิดฉากสงครามนิวเคลียร์

• ทีมวิจัยจากโครงการ Science and Global Security ของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา ได้สร้างการจำลองที่เรียกว่า Plan A เมื่อปี 2019 เพื่อประเมินว่าจะเกิดอะไรขึ้นบนโลกหากสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐและรัสเซียเปิดฉากขึ้นจริงๆ

• อย่างที่ทราบกันดีว่าสหรัฐและรัสเซียเป็นประเทศที่มีหัวรบนิวเคลียร์มากเป็นอันดับแรกของโลก โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2021 พบว่ารัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์พร้อมใช้งานราว 6,257 ลูก ส่วนสหรัฐอยู่ที่ประมาณ 5,550 ลูก ขณะที่สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนขณะนี้ทำให้หลายคนพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาไปสู่สงครามนิวเคลียร์ นอกจากนี้แหล่งข่าวรัสเซียยังอ้างว่าสหรัฐกำลังช่วยยูเครนพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ด้วย

• แบบจำลองที่เรียกว่า Plan A ถูกสร้างขึ้นขณะที่สหรัฐเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรง ซึ่งทีมวิจัยระบุว่าความเสี่ยงในการเกิดสงครามนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากทั้งสองประเทศเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ชนิดใหม่ ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียยอมรับว่า ความสัมพันธ์กับสหรัฐกำลังตกต่ำ และแย่ลงเรื่อยๆ ช่วงเวลาเดียวกับที่สหรัฐประกาศส่งทหาร 1,000 นายไปยังโปแลนด์

• ทีมวิจัยได้ประเมินกำลังนิวเคลียร์ของสหรัฐและรัสเซีย รวมถึงจำนวนหัวรบ แผนการทำสงคราม และเป้าหมาย ของทั้งสองประเทศ โดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนั้นเพื่อสร้างแบบจำลองและพบว่า หากเกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐและรัสเซียขึ้นจริง อาจทำให้ผู้คน 34.1 ล้านคนเสียชีวิต และอีก 57.4 ล้านคนได้รับบาดเจ็บ ภายในไม่กี่ชั่วโมงแรกของการทำสงครามนิวเคลียร์

• แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด ทีมวิจัยระบุว่ายอดผู้เสียชีวิตโดยรวมจะสูงขึ้นอีกเนื่องจากผลกระทบระยะยาวของสงครามนิวเคลียร์ รวมถึงกัมมันตภาพรังสีที่ตกลงมา การเย็นตัวของชั้นบรรยากาศโลก การขาดแคลนอาหาร และผลกระทบระยะยาวอื่นๆ

Plan A ตอกย้ำให้เห็นถึงความร้ายแรงในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ขณะที่นักรณรงค์จำนวนไม่น้อยสนับสนุนสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์

• คณะกรรมการรณรงค์เพื่อยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า "สิ่งที่น่าตกใจพอๆ กับจำนวนผู้เสียชีวิตจากการจำลองสงครามนิวเคลียร์ครั้งนี้ คือความน่าจะเป็นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่มันจะกลายเป็นความจริง"

หลุยซา โรดริเกซ (Luisa Rodriguez) นักวิจัยอาวุโสที่ Rethink Priorities เขียนบทความเรื่อง "สงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐและรัสเซียมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด" ในปี 2019 ปีเดียวกับที่ปูตินยอมรับว่าความสัมพันธ์กับสหรัฐกำลังแย่

• โรดริเกซระบุว่า แม้สงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐและรัสเซียจะดูเหมือนยังไม่ใกล้เข้ามา แต่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศกำลังไม่ปลอดภัย โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความขัดแย้งในซีเรีย การผนวกไครเมีย และการกล่าวหาว่ารัสเซียแทรกแซงการเมืองของสหรัฐ ซึ่งหากความสัมพันธ์เลวร้ายลงไปอีก ความตึงเครียดอาจทวีความรุนแรงไปสู่สงคราม แต่จะเป็นสงครามนิวเคลียร์หรือไม่นั้นยังไม่ชัดเจน แต่ก็มีความเสี่ยง

• โรดริเกซชี้ว่าหากประเทศใดประเทศหนึ่งตัดสินใจที่จะเริ่มการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ก็มีความเป็นไปได้สูงอย่างยิ่งที่จะต้องเผชิญกับการตอบโต้ด้วยนิวเคลียร์อย่างแน่นอน และในขณะที่ทั้งสหรัฐและรัสเซียดูเหมือนจะเพ่งเล็งไปที่กองกำลังนิวเคลียร์ของกันและกัน

• พร้อมเสริมว่าหากเรารวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มุมมองและการประมาณการของผู้เชี่ยวชาญ เราสามารถเริ่มเห็นภาพคร่าวๆ ว่าสงครามนิวเคลียร์มีความน่าจะเป็นมากน้อยเพียงใด ซึ่งโรดริเกซระบุว่าโอกาสที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์บนโลกอยู่ที่ประมาณ 1.1% ในแต่ละปี ส่วนสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐและรัสเซียมีโอกาสเกิดขึ้นราว 0.38% ต่อปี

• Great Power Conflict Report โครงการศึกษาประวัติศาสตร์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งเผยแพร่ในปี 2015 ขอให้ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงแห่งชาติ 50 คนจากทั่วโลกประเมินความน่าจะเป็นในการเกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐและรัสเซีย โดยพบว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าความน่าจะเป็นอยู่ที่ประมาณ 4.72% หรือ 0.24% ต่อปี

• นอกจากสงครามนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นโดยเจตนาแล้ว โรดริเกซยังได้พูดถึงสงครามโดยบังเอิญหรือไม่ได้ตั้งใจให้เกิดสงคราม โดยนับตั้งแต่มีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง อุปกรณ์ทำงานผิดปกติ และความผิดพลาดขิงมนุษย์ที่ทำให้โลกเข้าใกล้สงครามนิวเคลียร์ ตัวอย่างเช่นในปี 1961 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ที่บรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ 2 หัวเกิดแตกออกจากกันกลางอากาศเหนือเมืองงโกลด์สโบโร รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา "จึงไม่ยากที่จะจินตนาการว่าความผิดพลาดของมนุษย์หรือเทคโนโลยีอาจนำเราไปสู่สงคราม" บทความระบุ

Photo by Science and Global Security