posttoday

เกลือจิ้มเกลือ มาดูวิธีที่จีนแก้เผ็ดประเทศจอมแทรกแซง

10 กุมภาพันธ์ 2565

บทความทัศนะ - หลังจากที่อังกฤษทำตัวเป็นพ่อพระด้วยการเป็นห่วงเป็นใยฮ่องกงจนจีนเตือนไม่ให้มายุ่งกับกิจการภายใน หลังจากรอโอกาสมานาน จีนสวนกลับแบบที่อังกฤษนิ่งไม่อยู่

ในพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่ง มีผู้นำคนหนึ่งที่อาจจะอยู่นอกเรดาร์ความสนใจ คือ ประธานาธิบดีอัลแบร์โต เฟร์นันเดซ แห่งอาร์เจนตินา

งานนี้มีผู้นำ 2 คนที่มาร่วมพิธีเปิดด้วยและคุยเรื่องยุทธศาสตร์กับสีจิ้นผิงไปพร้อมๆ กัน หนึ่งคือวลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งสป็อตไลท์จับไปที่เขาคนนี้ อีกหนึ่งคือเฟร์นันเดซนั่นเอง

เฟร์นันเดซคุยกับสีจิ้นผิงเรื่อง "ความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง" เรื่องการลงนามโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งเรื่องนี้เป็นการย้ำว่าอาณ์เจนตินาเอียงมาทางจีนหนักมากในระยะหลัง เพียงแต่โลกไม่ค่อยสนใจนัก ส่วนหนึ่งอาร์เจนตินา "ไกลเกินไป" จากเกมส์มหาอำนาจ

แต่มันใกล้ตัวขึ้นมาทันทีเมื่อแถลงการณ์ของเฟร์นันเดซ์กับสีจิ้นผิง

จีนย้ำการสนับสนุนการอ้างสิทธิ์ของอาร์เจนตินาเหนือหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ขณะที่อาร์เจนตินาก็ย้ำการสนับสนุนนโยบายจีนเดียว ซึ่งหมายความว่าไม่ยอมรับไต้หวัน

ในแถลงการณ์จีนใช้คำว่า "หมู่เกาะมัลบินัส" ซึ่งเป็นชื่อที่อาร์เจนตินาใช้เรียกหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ การเลือกชื่อนี้เท่ากับไม่ยอมรับการเคลมของอังกฤษที่เป็นเจ้าของเกาะในขณะนี้

ขณะที่ท่าทีของอาร์เจนตินาต่อนโยบายจีนเดียวยังอาจตีความได้ด้วยว่าไม่สนับสนุนการแทรกแซงของชาติใดต่อฮ่องกง หรือ "ชาติที่ทำตัวเหมือนยังเป็นเจ้าของฮ่องกง" ซึ่งจะป็นใครไม่ได้นอกจากอังกฤษ

แถลงกาณ์ร่วมนี้มีสาระอยู่ที่ "อังกฤษคือคู่กรณีร่วมกันของจีนกับอาร์เจนตินา"

และบอกเป็นนัยๆ ว่า "อังกฤษยังไม่เลิกนิสัยเป็นเจ้าอาณานิคม"

อาร์เจนตินาเคยยกประเด็นสหประชาชาติพิจารณากรณีความเป็นเจ้าของหมู่เกาะฟอล์กแลนด์/มัลบินัส แต่อังกฤษบอกว่าอธิปไตยของอังกฤษเหนือดินแดนนี้ "เป็นสิ่งที่ต่อรองไม่ได้"

อังกฤษพยายามแก้ปัญหาด้วยการจัดการลงประชามติให้ชาวเกาะเลือกอนาคตตัวเองในปี 2013 ปรากฏว่า 99.8% ของชาวเกาะเลือกที่จะอยู่กับอังกฤษ

แต่อาร์เจนตินาไม่ยอมการลงประชามิตแบบนี้ เพราะถือหลักว่าประชากรบนเกาะไม่ใช่คนท้องถิ่น แต่เป็นผู้ที่อพยพมา

จนถึงทุกวันนี้อาร์เจนตินาพยายามยกเรื่องการ "ยึดครอง" หมู่เกาะฟอล์กแลนด์/มัลบินัสว่าเป็นการล่าอาณานิคม และประเทศที่เข้าข้างอาร์เจนตินานอกจากจีนก็ยังมีรัสเซีย

รัสเซียเคยแสดงท่าทีเห็นใจอาร์เจนตินาในเรื่องนี้ ผู้นำอาร์เจนตินาก็ตอบแทนด้วยการตำหนิประเทศที่คัดค้านการลงประชามติของชาวไครเมียในปี 2014 ที่เลือกจะอยู่กับรัสเซีย หลังจากรัสเซีย "ยกทัพไปปกป้อง" ไครเมียจากยูเครน

ปูตินตอบสนองด้วยการบอกให้อังกฤษคืนเกาะฟอล์กแลนด์/มัลบินัสให้อาร์เจนตินาไปเสีย จนอังกฤษโกรธจัด

คราวนี้ก็เหมือนกัน อังกฤษโกรธอีกที่จีนเชียร์หมู่เกาะฟอล์กแลนด์/มัลบินัสให้เป็นของอาร์เจนตินา

ลิซ ทัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษบอกว่า “เราปฏิเสธการตั้งคำถามใดๆ เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของหมู่เกาะฟอล์กแลนด์โดยสิ้นเชิง หมู่เกาะฟอล์กแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวชาวอังกฤษ และเราจะปกป้องสิทธิ์ในการตัดสินใจของตนเอง จีนต้องเคารพอธิปไตยของหมู่เกาะฟอล์คแลนด์”

เฉินเว่ยหัวนักข่าวของ China Daily ของทางการจีนจึงสวนกลับว่า “แต่มันเป็นเรื่องโอเคงั้นหรือที่ สหราชอาณาจักรจะท้าทายอำนาจอธิปไตยของจีนในทะเลจีนใต้ด้วยการส่งเรือของกองทัพเรือมา? อย่างน้อยจีนไม่ได้ส่งกองทัพเรือของตนไปใกล้มัลบินัส หรือสิ่งที่คุณเรียกว่าฟอล์กแลนด์สัดกหน่อย”

สิ่งที่จีนทำจะเรียกว่าเป็นเกลือจิ้มเกลือก็ว่าได้ เพราะอังกฤษทำกับจีนไว้แสบสันตอนประท้วงฮ่องกง

คงจะจำกันได้ว่าตอนที่มีประท้วงฮ่องกงใหม่ๆ ประเทศตะวันตกเข้ามาขวางจีนต่างๆ นานา โดยเฉพาะอังกฤษที่เป็นเจ้าอาณานิคมเก่าของฮ่องกง ทำตัวเจ้ากี้เจ้าการเหมือนยังเป็นเจ้าของฮ่องกง ย้ำแล้วย้ำอีกว่าจีนจะต้องทำตาม "ปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษ" ซึ่งเป็นประหนึ่งสนธิสัญญาที่อังกฤษทำกับจีนตอนที่จะส่งมอบฮ่องกงคืนให้จีน

สาระสำคัญหลักๆ ของข้อตกลงนี้คือจีนจะให้อำนาจฮ่องกงปกครองตนเองในระดับหนึ่งตามหลัก "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ซึ่งต่อให้ไม่มีอังกฤษ จีนก็ต้องทำอยู่แล้ว เพราะฮ่องกงไม่สามารถใช้ระบบเดียวกับจีนได้ทันที ตามข้อตกลงนี้ฮ่องกงจะอยู่ในสภาพเดิมๆ ต่อไปอีก 50 ปีหลังจากกลับคืนสู่จีน

แต่ตั้งแต่ปี 2014 แล้วที่จีนพิจารณาว่า "ปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษ" หมดสภาพทางกฏหมาย แม้ว่าอังกฤษจะไม่ยอมให้มันหมดภาระผูกพันธ์ก็ตาม เอาจริงๆ จีนจะแหกปฏิญญานี้โดยไม่แยแสอังกฤษก็ทำได้ เพราะอังกฤษทำอะไรจีนไม่ได้อยู่แล้ว

หลังจากฮ่องกงวุ่นวายหนักเมื่อปี 2019 - 2020 ตามด้วยการเข้ามาวุ่นวายของอังกฤษ จีนอดทนรอเกือบปี จึงฟาดเปรี้ยงเข้าให้ด้วยการใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ กวาดล้างผู้ประท้วง ไล่ล่าแกนนำ กวาดจับผู้ที่กระด้างกระเดื่อง

แต่นั้นมาต่างชาติที่แย็บจีนเรื่องฮ่องกงก็ไปต่อไม่เป็น เพราะเห็นว่าจีนยอมเสียฮ่องกงดีกว่าปล่อยให้เป็นเป้าให้ชาติอื่นมาใช้โจมตีตน

พอดีเกิดการระบาดใหญ่ ฮ่องกงปิดตัวเองแน่นหนา แบบที่คนใดออกไม่ได้ คนนอกเข้าไม่ได้ การกวาดล้างจับกุมยิ่งหนักขึ้น การปิดฮ่องกงนั้นเหนียวแน่นจนกระทั่งบริษัทต่างชาติทนไม่ไหว ทยอยกันปิดสำนักงานในฮ่องกงแล้วย้ายไปสิงคโปร์

สื่อตะวันตกยิงข่าวโจมตีฮ่องกงในทำนองขู่ว่าถ้าไม่เปิดล่ะก็จะเสียท่าให้สิงคโปร์ แต่ฮ่องกงก็ก็ไม่ยอมแง้มประตูบ้าน

ฮ่องกงตอนนี้เดิมตามจีนทุกก้าว ชาติตะวันตกไม่สามารถครอบงำมันได้อีก เมื่ออยู่ในกำมือจนมั่น มันจึงเป็นโอกาสที่จีนจะสวนกลับเสียที

พออังกฤษเจอเล่นด้วยกลเม็ดตัวเองบ้างก็เต้นไม่เป็นส่ำ แต่ก็แค่โวยวายจีนไปแค่นั้น เพราะกำลังวุ่นวายกับกรณียูเครน แถมยังต้องคอยระวังเรื่องบินรบและเรือรบของรัสเซียที่มักไปป้วนเปี้ยนแถวบ้านตัวเอง

เหมือนกับที่เฉินเว่ยหัวบอก อังกฤษส่งเรือมาป้วนเปี้ยนที่ทะเลจีนใต้ได้ แต่พอคนอื่นส่งเรือมาแถวบ้านตัวเองก็โวยวายเหมือนกัน เรื่องนี้ไม่ต้องไปหาคนผิดคนถูก เพราะแต่ละประเทศทำแบบเดียวกันทั้งนั้น

ถามกันตรงๆ ว่าอังกฤษเกี่ยวกับกรณีพิพาททะเลจีใต้ตรงไหนถึงต้องส่งเรือรบมา?

ย้อนกลับไปตอนปี 2020 ที่การประท้วงในฮ่องกงกำลังพีคๆ หลิวเสี่ยวหมิง เอกอัครราชทูตรจีนประจำสหราชอาณาจักรในเวลานั้นกล่าวว่า "สหราชอาณาจักรแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างโจ่งแจ้งและฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศและหลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ควบคุมจีนไม่เคยแทรกแซงกิจการภายในของสหราชอาณาจักรสหราชอาณาจักรควรทำเช่นเดียวกันกับจีน ไม่เช่นนั้นจะต้องรับผลที่ตามมา"

หลังจากนั้นอังกฤษนอกจากจะไม่รามือ ยังส่งเรือรบมาเย้ยจีนด้วยซ้ำทั้งผ่านทะเลจีนใต้และช่องแคบไต้หวัน

พอจีนสวนกลับเบาๆ เรื่องเกาะมัลบินัสเท่านั้นถึงกับโอดครวญ จนลืมไปว่าตัวเองคเยทำอะไรกับเขาไว้บ้าง

บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Argentinian Presidency / AFP