posttoday

เกาหลีเหนือเกิดคึกอะไรขึ้นมา ถึงยิงขีปนาวุธแบบรัวๆ?

31 มกราคม 2565

ความเห็นและท่าทีของรัฐบาลต่างๆ เกี่ยวกับการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือที่มีจำนวนครั้งมากที่สุดในรอบเดือนเดียว

เมื่อวันอาทิตย์ เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธที่ทรงพลังที่สุดนับตั้งแต่ปี 2017 ส่งผลให้จำนวนการยิงขีปนาวุธในเดือนมกราคม 2022 พุ่งสูงขึ้นเป็นครั้งที่ 7 จนทำลายสถิติไปแล้ว ท่ามกลางความกังวลว่าเกาหลีเหนือกำลังคิดทำอะไรอยู่? ขณะที่เกาหลีใต้เตือนว่าอาจมีการทดสอบนิวเคลียร์และขีปนาวุธระยะไกลในครั้งต่อไป

1. สำนักข่าว AFP รายงานอ้างทางการเกาหลีใต้กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า เกาหลีเหนือดูเหมือนจะดำเนินตาม "รูปแบบที่คล้ายคลึงกัน" กับเมื่อปี 2017 เมื่อความตึงเครียดมาถึงจุดแตกหักบนคาบสมุทรครั้งก่อน เตือนว่าเกาหลีเหนือจะเริ่มต้นการทดสอบนิวเคลียร์และขีปนาวุธข้ามทวีปอีกครั้งในไม่ช้า เช่นเดียวกับ ลีฟ-เอริก อีสลีย์ (Leif-Eric Easley) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยอีฮวา ในเกาหลีใต้ กล่าวว่า "รัฐบาลคิมได้ยินการพูดคุยจากภายนอกเกี่ยวกับจุดอ่อนภายในประเทศของตน" และ “เกาหลีเหนือต้องการเตือนสหรัฐและเกาหลีใต้ว่าการพยายามโค่นล้มเกาหลีเหนือจะมีต้นทุนสูงเกินกว่าจะรับไหว”

2. ขณะที่แชด โอคาร์โรล (Chad O'Carrol) แห่งเว็บไซต์ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือ NK News ทวีตว่า “เกาหลีเหนือทำการทดสอบที่คล้ายกันกับเทคโนโลยีขีปนาวุธพิสัยกลางและระยะไกลที่เกิดขึ้นใหม่ในปี 2017” และบอกว่า “ดังนั้น นี่จึงหมายความว่าการทดสอบในวันนี้เกี่ยวข้องกับหนึ่งในประเภทขีปนาวุธเหล่านั้น -- หรืออาจเป็นสิ่งใหม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง นี่เป็นเรื่องใหญ่” ขณะที่ซู คิม (Soo Kim) นักวิเคราะห์จาก RAND Corporation กล่าวกับ AFP ว่า “คิมตอกย้ำความกระหายในการทดสอบและการยั่วยุ”

3. The New York Times ตั้งข้อสังเกตว่า "ดูเหมือนว่าเกาหลีเหนือจะทำการทดสอบขีปนาวุธในเดือนมกราคม (2022) มากกว่าเดือนใดๆ นับตั้งแต่คิมขึ้นสู่อำนาจเมื่อ 10 ปีที่แล้ว การยิงในวันอาทิตย์เป็นครั้งที่สามในสัปดาห์ที่แล้ว" ด้านเจ้าหน้าที่รัฐบาลไบเดนพยานามติดต่อให้เกาหลีเหนือกลับสู่การเจรจาเพื่อยุติโครงการนิวคเลียร์ แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากเกาหลีเหนือ ทั้งๆ ที่เจาหน้าที่สหรัฐบอกว่าพร้อมเจรจาโดยไม่มีการตั้งเงื่อนไขล่วงหน้า

4. The New York Times ได้สัมภาษณ์ ชอน ซองวุน (Cheon Seong-whun) อดีตหัวหน้าสถาบัน Korea Institute for National Unification ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลในกรุงโซล ชี้ว่าเกาหลีเหนือสร้างวัฏจักรแห่งการก่อกวนขึ้นมา โดยกระตุ้นความก้าวร้าวก่อน จากนั้นตามด้วยการเจรา เมื่อการเจรจาล้มเหลวก็ระงับการติดต่อทางการทูต ชอน ซองวุน ชี้ว่า“เป้าหมายของเกาหลีเหนือคือการทำให้สหรัฐฯ และพันธมิตรยอมรับคลังอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้"

5. สำนักข่าว Kyodo วิเคราะห์ว่า "มีการคาดการณ์มากขึ้นว่าการยิงขีปนาวุธครั้งล่าสุดของเกาหลีเหนือ ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีเป้าหมายเพื่อให้สหรัฐกลับมาเจรจาเรื่องการผ่อนปรนการคว่ำบาตร อาจทำให้จีนไม่พอใจ ซึ่งจีนเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจและความมั่นคงที่ทรงอิทธิพลที่สุดของเกาหลีเหนือ" และบอกว่า "ถ้ามันมากไกลเกินไป เกาหลีเหนืออาจสูญเสียการสนับสนุนจากจีน ซึ่งเป็นเวลาหลายปีที่จีนเรียกร้องให้ยกเลิกการคว่ำบาตรที่กำหนดโดยสหประชาชาติ"

Photo - KCNA via REUTERS