posttoday

สำเร็จ! ยาช่วยกบขาขาด 'งอกขาใหม่' จุดประกายความหวังช่วยคนพิการ

28 มกราคม 2565

ทีมวิจัยจากสหรัฐทดลองผสมยากระตุ้นการสร้างอวัยวะ ช่วยกบขาขาดงอกขาใหม่ได้สำเร็จ

สิ่งมีชีวิตบางชนิดสามารถงอกอวัยวะที่ขาดไปขึ้นมาใหม่ได้ อาทิ จิ้งจก ซาลาแมนเดอร์ ปลาดาว ปู กิ้งก่า และนิวต์ แต่สิ่งมีชีวิตอีกหลายชนิดก็ไม่สามารถทำได้ รวมถึงมนุษย์ ซึ่งเป็นระยะเวลานานแล้วที่นักวิทยาศาสตร์พยายามทำความเข้าใจและทดลองที่จะสร้างแขนขาสำหรับผู้พิการให้งอกขึ้นมาใหม่ แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้

แต่ล่าสุด นักวิจัยจากสหรัฐได้ทำการทดลองที่สามารถทำให้กบขาขาดงอกขาใหม่ออกมาได้ จุดประกายความหวังที่จะช่วยเหลือมนุษย์ซึ่งพิการแขนขาอีกครั้ง

CNN รายงานว่าทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยทัฟส์ได้ทำการทดลองผสมตัวยา 5 ชนิด เพื่อกระตุ้นการงอกขาใหม่ของกบเล็บแอฟริกา (Xenopus laevis) เป็นเวลา 24 ชั่วโมง และพบว่าหลังผ่านไป 18 เดือน ขาใหม่ของกบทำงานได้อย่างสมบูรณ์

กบสามารถว่ายน้ำได้เป็นปกติ และตอบสนองต่อการสัมผัส รวมถึงนิ้วของกบก็สามารถงอกขึ้นมาได้ เพียงแต่ไม่มีพังผืดระหว่างนิ้ว และโครงสร้างอวัยวะบางอย่างแตกต่างไปจากเดิม

งานวิจัยดังกล่าวได้ตีพิมพ์ลงบนวารสาร Science Advances เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งทีมวิจัยกล่าวว่าการทดลองครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญสู่ความสำเร็จของการรักษาแบบเวชศาสตร์ฟื้นฟู

นิโรชา มุรุกัน หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า "เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่ยาของเราช่วยสร้างอวัยวะใหม่ที่เกือบจะสมบูรณ์ การได้รับยาเพียงชั่วครู่ทำให้เกิดกระบวนการฟื้นฟูที่ยาวนานเป็นเดือน"

ทั้งนี้ ยาแต่ละชนิดมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น ลดการอักเสบ ผลิตคอลลาเจน หยุดการเติบโตของเนื้อเยื่อแผลเป็น เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของเส้นประสาท หลอดเลือด และการสร้างกล้ามเนื้อใหม่

โดยทีมวิจัยได้ทดลองในกบนับร้อยตัวแม้จะไม่ได้ออกมาสำเร็จสมบูรณ์ทุกตัว แต่กบหลายตัวมีการสร้างอวัยวะขึ้นมาใหม่ซึ่งเป็นที่น่าพอใจ

ไมเคิล เลวิน ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยทัฟส์ เผยว่า ขณะนี้ทีมวิจัยวางแผนที่จะทำการทดลองเดียวกันนี้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ ต่อไป

The Guardian รายงานว่า ไมเคิล ชไนเดอร์ ศาสตราจารย์ด้านโรคหัวใจจากอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน มองว่า การทดลองดังกล่าวสามารถนำไปต่อยอดสำหรับเวชศาสตร์ฟื้นฟูในมนุษย์ได้

อย่างไรก็ตาม เจมส์ โมนาฮัน รองศาสตราจารย์ภาควิชาชีววิทยามหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น มองว่า การทดลองดังกล่าวน่าสนใจ แต่หากจะใช้กลยุทธ์เดียวกันนี้มาทดลองในมนุษย์ไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากกลไลในการฟื้นฟูอวัยวะของกบและมนุษย์ไม่เหมือนกัน

ด้านแอชลีย์ ซีเฟิร์ต รองศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเคนตักกี กล่าวว่า ความก้าวหน้าครั้งนี้จุดประกายความหวังที่จะฟื้นฟูอวัยวะของมนุษย์ซึ่งสูญเสียแขนขาไปเนื่องจากการบาดเจ็บหรือความเจ็บป่วย เช่น โรคเบาหวาน แต่จะทำได้หรือไม่และต้องใช้เวลานานเพียงใดก็เป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้

AFP PHOTO / FRED DUFOUR