posttoday

นักการทูตชี้ความขัดแย้งของสหรัฐ-จีนทำให้อาเซียนเป็นคนสำคัญ

28 มกราคม 2565

อดีตเลขาธิการอาเซียนชี้การช่วงชิงกันระหว่างสหรัฐกับจีนทำให้อาเซียนกลายเป็นตัวแปรสำคัญ

สำนักข่าว Kyodo News รายงานว่า อองเค็งยอง อดีตเลขาธิการอาเซียนและนักการทูตชาวสิงคโปร์เผยว่า อาเซียนมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และมีมูลค่าเชิงกลยุทธ์เพิ่มขึ้นในขณะที่ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐและจีนทวีความรุนแรงขึ้น

“ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างเห็นคุณค่าของการใช้อาเซียนเพื่อผลประโยชน์ของประเทศตนเอง” อองเค็งยองเผยกับ Kyodo News ผ่านการสัมภาษณ์ทางออนไลน์

ประเทศอาเซียนถูกบีบให้อยู่ตรงกลางระหว่างสองมหาอำนาจในขณะที่การแข่งขันของทั้งสองประเทศทวีความรุนแรงขึ้นและแต่ละฝ่ายก็เพิ่มการล็อบบี้ทางการทูต

รัฐบาลไบเดนซึ่งเพิ่งครบ 1 ปีเมื่อเร็วๆ นี้ มุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางภารกิจขยายอิทธิพลในระดับภูมิภาคที่กำลังดำเนินอยู่ของปักกิ่ง

เมื่อปีที่แล้วสหรัฐส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงมายังอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ส่วนประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็เข้าร่วมการประชุมทางไกลสหรัฐ-อาเซียน ซึ่งไม่รวมเมียนมา เมื่อเดือน ต.ค. ซึ่งแตกต่างกับรัฐบาลทรัมป์ซึ่งไม่เข้าร่วมการประชุมพหุภาคีเสียเป็นส่วนใหญ่ยกเว้นในปี 2017 เพียงปีเดียว

อองเค็งยองซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริหาร S. Rajaratnam School of International Studies แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์เผยว่า “สมัยรัฐบาลทรัมป์ มีความไม่พึงพอใจบางอย่างในกลุ่มสมาชิกอาเซียน” และว่า ความพยายามทางการฑูตในการแสดงการมีส่วนร่วมของสหรัฐ "น้อยที่สุด" และส่งผลให้สมาชิกอาเซียนรู้สึกเหมือน "ถูกกีดกัน"

อองเค็งยองย้ำว่า อาเซียนมีความสำคัญ เนื่องจากประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ เติบโตรวดเร็ว และมีความสำคัญทางภูมิศาสตร์เนื่องจากตั้งอยู่ล้อมรอบทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสำคัญของทั้งสหรัฐและจีน

“เมื่อดูตำแหน่ง (ทางภูมิศาสตร์) บางคนเรียก (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ว่าจุดอ่อนของจีน” อองเผย และกล่าวเสริมว่า อาเซียนยังสำคัญกับจีนที่เน้นการส่งออก ในการใช้ประโยชน์จากการเติบโตของภูมิภาคเพื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส

สหรัฐซึ่งพึ่งพาประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย จะเสียเปรียบหากเบี่ยงเบนความสนใจไปจากภูมิภาคในเวลาที่จีนพุ่งเป้ามาที่อาเซียนเต็มที่ ขณะที่ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นบริเวณชายแดนรัสเซีย-ยูเครนทำให้สถานการณ์ซับซ้อนขึ้น

ท่ามกลางการแย่งชิงอำนาจของมหาอำนาจโลก อาเซียนกำลังเผชิญภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเพื่อรักษาความเป็นอิสระไว้ แนวคิดการวางตัวเป็นกลางของอาเซียน หรือความต้องการที่จะมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคนั้นกำลังถูกท้าทาย

เมื่อเดือน ธ.ค. ไบเดนเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดประเทศประชาธิปไตยซึ่งเชิญผู้นำกว่า 100 ประเทศเข้าร่วม โดยมีจุดหมายเพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตยและการรับมือกับความท้าทายจากประเทศต่างๆ ที่ถือว่าเป็นเผด็จการ เช่น จีน

อองยอมรับว่าการถกเถียงเกี่ยวกับประชาธิปไตยและเผด็จการซึ่งมีสหรัฐและจีนเป็นตัวแทนตามลำดับเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันจะทำให้เกิดการแข่งขันที่ดีซึ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาสังคมและสร้างสิ่งจูงใจเพื่อจัดการกับความท้าทาย

อย่างไรก็ดี อองเตือนให้รอบคอบเกี่ยวกับตัวเลือก 2 ตัวเลือกตัวเลือกนี้ซึ่งการแข่งขันกันถูกตีกรอบว่าเป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการ

“มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีผู้ชนะและผู้แพ้ในโลกปัจจุบัน” อองเผย “ความคิดแบบนี้ยังคงสร้างปัญหาให้กับชุมชนทั่วโลก" เนื่องจากระบบที่อยู่ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงทำให้เกิดความไม่แน่นอน”

อองยังกังขาเมื่อบางประเทศอย่างจีนอธิบายถึงการวางกรอบสถานการณ์ประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการของไบเดนว่าเป็น "แนวคิดยุคสงครามเย็น" ที่แบ่งโลก

“ผมไม่ยอมรับ (คำวิจารณ์ของจีนต่อสหรัฐ) เพราะวิธีที่ปักกิ่งพูดถึงเรื่องแบบนี้ก็ยังติดอยู่กับความคิดในยุคสงครามเย็นของตัวเอง”

อองเตือนว่า ทั้งสหรัฐและจีนต่างก็มองโลกตามมุมมองและประสบการณ์ของตัวเอง และแนะนำว่าจำเป็นต้องมีการวินิจฉัยในการมองและถกประเด็นต่างๆ โดยเปรียบเทียบกับการที่ผู้ป่วยบ่นว่ามีปัญหาสุขภาพมากมายแต่ไม่มีอาการไหรรุนแรง ซึ่งในกรณีนี้แพทย์อาจแนะนำว่าผู้ป่วยมีอาการต่างๆ ที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต

“มันมีกลางวันกลางคืนเสมอ” อย่างไรก็ดีเขาย้ำว่า การคล้อยตามโดยง่ายและประเด็นทั่วไปอย่างการรับมือ Covid-19 อาจถูกมองข้ามไปหากผู้มีอำนาจมองแค่ว่าเป็นขาวหรือดำ

อองเชื่อว่า เพื่อเอาตัวรอดจากความวุ่นวายในยุคนี้ “สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ว่าจะปรับเปลี่ยนชีวิตและผลประโยชน์ของประเทศอย่างไรเมื่อมีตัวเลือกนี้”

REUTERS/Lim Huey Teng/File Photo