กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่าความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและปรับนโยบายทางการเงินให้มีความเข้มงวดมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้จะขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเอเชียอย่างแน่นอน
ชางยอง รี ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิกของ IMF กล่าวว่ากลุ่มประเทศในเอเชียมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและระดับเงินสำรองเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2013 ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ "Taper Tantrum" เมื่อเฟดประกาศปรับลดวงเงินในการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
โดยอธิบายว่าในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ Taper Tantrum ส่งผลให้ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียประสบปัญหาเงินทุนไหลออกอย่างรวดเร็วและค่าเงินอ่อนค่าลงในขณะนั้น ขณะที่ธนาคารกลางในภูมิภาคต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม รีเตือนว่าภาระหนี้ที่สูงขึ้นจะเป็นปัญหาต่อหลายประเทศในเอเชีย
"โดยรวมแล้วหนี้เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากหลังเกิดวิกฤตการงินโลก โดยในช่วงปี 2007 ประเทศในเอเชียมีหนี้คิดเป็น 27% ของหนี้ทั่วโลก แต่ในปี 2021 ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 40%" รีกล่าวต่อ CNBC
"การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้อาจไม่สร้างความตื่นตระหนกในตลาดการเงินมากนัก แต่จะสามารถชะลอการฟื้นตัวและการเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชียอย่างแน่นอน" รีกล่าว พร้อมเตือนให้รัฐบาลในเอเชียเตรียมพร้อมสำหรับความเคลื่อนไหวของเฟด
ทั้งนี้ คาดว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. ที่จะถึงนี้ และมีท่าทีว่าจะปรับนโยบายทางการเงินให้มีความเข้มงวดมากขึ้นเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา IMF ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2022 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั่วโลกจะลดลงจาก 5.9% ในปี 2021 เป็น 4.4% ในปี 2022
Photo by Alex Wong/Getty Images/AFP