posttoday

บทวิเคราะห์ รัสเซียจะบุกส่วนไหนของยูเครน?

25 มกราคม 2565

ณ เวลานี้ (วันที่ 25 มกราคม 2022) มีคำถามสำคัญ 2 เรื่องที่ทุกคนอยากรู้ ไม่ใช่แค่คนทั่วไป แต่รวมถึงนาโตและยูเครนด้วย

คำถามแรก รัสเซียจะบุกยูเครนหรือไม่? และคำถามที่สอง ถ้าบุกจะบุกส่วนไหน?

สำหรับคำถามแรกแม้จะมีการระดมกำลังของนาโตเข้ามาตามแนว (รบ) ตะวันออก คือประเทศที่อยู่ใกล้ๆ รัสเซีย แต่การหารือล่าสุดระหว่างสหรัฐกับยุโรปดูเหมือนจะเน้นไปที่มาตรการคว่ำบาตร ซึ่งแม้จะยังไม่ชัดแต่ก็ขู่ออกมาก่อนว่าจะคว่ำบาตร "แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน"

การส่งกำลังของนาโตรวมถึงคำประกาศเสริมกำลังของสหรัฐในแนวตะวันออกก็มีขึ้นไล่ๆ กัน แต่ถือว่าเป็นการเดิมหมากตามรัสเซียมากกว่า เพราะฝ่ายหลังเคลื่อนไหวเรื่องนี้มานานนับเดือนแล้วทั้งตามแนวพรมแดนยูเครนและที่เบลารุส พันธมิตรสำคัญของรัสเซีย

ตอนนี้เริ่มมีบทวิเคราะห์ให้เห็นประปรายเกี่ยวกับคำถามที่สอง เช่น รายงานของ CSIS (ศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติ) หน่วยงานวิเคราะห์ในวอชิงตัน และ Rochan Consulting ซึ่งเชี่ยวชาญด้านข่าวกรองและการสงคราม

CSIS วิเคราะห์ไว้ดังนี้ (รวมถึงข้อสังเกตและคำอธิบายเพิ่มเติมจากโพสต์ทูเดย์)

1. รัสเซียอาจจะเคลื่อนกำลังภาคพื้นดินบางส่วนออกจากชายแดนยูเครน อย่างน้อยก็ชั่วคราว หากการเจรจาสำเร็จแต่ยังคงให้ความช่วยเหลือกลุ่มกบฏที่สนับสนุนรัสเซียในยูเครนตะวันออก ซึ่งจนถึงขณะนี้บางประเทศในยุโรปยังหวังที่จะใช้วิธีการทูตทุกอย่างเพื่อยุติการเผชิญหน้านี้ และยังมีเยอรมนีที่มีท่าทีไม่ชัดเจนเรื่องการเผชิญหน้ากับรัสเซีย

2. อาจจะส่งกองทหารรัสเซียเพื่อทำสงครามในรูปแบบไปยังดินแดนโดเนตสค์และลูฮานสค์ โดยดินแดนทั้งสองมีปัญหาแบ่งแยกดินแดนระหว่างยูเครนและกลุ่มโปรรัสเซีย และโดเนตสค์และลูฮานสค์แยกตัวออกมาตั้งสาธารณรัฐเอกราช โดยนานาชาติไม่ยอมรับการแยกตัวนี้ แต่สาธารณรัฐทั้งสองยอมรับว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธัรฐรัสเซีย CSIS วิเคราะห์ว่าหากรัสเซียส่งทหารเข้าไป จะไปในฐานะ “ผู้รักษาสันติภาพ” แต่ฝ่ายเดียว และปฏิเสธที่จะถอนทหารเหล่านั้นออกจนกว่าการเจรจาสันติภาพจะสิ้นสุดลงอย่างประสบผลสำเร็จ และยูเครนตกลงที่จะดำเนินการตามพิธีสารมินสค์ (Minsk Protocol) หนึ่งในนั้นคือการหยุดยิงและถอนกำลังทหารรับจ้างต่างจากออกไปจากยูเครน ซึ่งข้อนี้อาจจะยากแล้วเมื่อพิจารณาท่าทีของสหรัฐและนาโตที่จะใช้กองทัพเพื่อการรบในรูปแบบกันล้ว

3. อาจจะยึดดินแดนยูเครนให้ไกลถึงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำนีเปอร์ ซึ่งไหลผ่ากลางเหมือนแบ่งครึ่งประเทศยูเครน เพื่อใช้เป็นเครื่องต่อรองหรือรวมดินแดนใหม่นี้เข้าในสหพันธรัฐรัสเซีย หากรัสเซียยึดส่วนนี้ได้ยูเครนก็จะเหลือแค่ดินแดนฝั่งขวา (หรือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำนีเปอร์) หรือมีพื้นที่ทั้งประเทศเหลือประมาณครึ่งเดียว

4. อาจจะยึดดินแดนของยูเครนจนถึงแม่น้ำนีเปอร์จากนั้นข้ามไปยึดดินแดนเพิ่มเติม เพื่อผนวกเอาเมืองโอเดสซาเมืองใหญ่อันดับสามที่สำคัญของยูเครน เพื่อเชื่อมต่ออาณาเขตของรัสเซียลากยาวไปจนถึงสาธารณรัฐทรานส์นีสเตรียทางตอนใต้ของยูเครนติดกับมอลโดวา (ซึ่งทรานส์นีสเตรียเป็นดินแดนเปราะบางเช่นกันเพราะแยกตัวมาจากมอลโดวาโดยมีชาวรัสเซียเป็นคนส่วนใหญ่ ส่วนมอลโดวานั้นพยายามพึ่งพานาโตอยู่เพราะมองรัสซียเป็นภัยคุกคาม) ทั้งนี้ CSIS ชี้ว่าหากรัสเซียใช้แผนการนี้จะเท่ากับยึดตอนใต้ของยูเครนทั้งหมดและตัดยูเครนออกออกจากการเข้าถึงทะเลดำ รัสซียจะรวมดินแดนใหม่เหล่านี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย เพื่อบั่นทอนเศรษฐกิจขอยูเครนจนประคองไว้ไม่ได้ (เพราะไม่มีทางติดทะเลอีก)

5. อาจจะยึดเฉพาะดินแดนทางตอนใต้ของยููเครนเพื่อเชื่อต่อระหว่างรัสเซียและทรานส์นีสเตรีย (รวมถึงเมืองสำคัญตอนใต้ของยูเครน คือ มารีอูปอล เคียร์ซอน และโอเดสซา) เพื่อจัดหาแหล่งน้ำจืดสำหรับคาบสมุทรไครเมีย (ที่รัสเซียยึดไปตั้งแต่ปี 2014) และปิดกั้นไม่ให้ยูเครนเข้าถึงทะเล ขณะที่หลีกเลี่ยงการสู้รบระดับใหญ่ที่กรุงเคียฟและคาร์กิว เมืองใหญ่อันดับ 2 ของยูเครน โดยเฉพาะคาร์กิวตั้งอยู่ใกล้กับชายแดนรัสเซียมาก แต่ถ้าใช้แผนนี้รัสเซียจะทิ้งเมืองใหญ่ไปยึดจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากกว่า (คือการตัดเส้นเลือดของยูเครน)

6. อาจจะยึดยูเครนทั้งหมด และร่วมกับเบลารุส ประกาศการจัดตั้ง "ไตรภาคีชนชาติสลาฟใหม่" ประกอบด้วยรัสเซียใหญ่ รัสเซียน้อย และรัสเซียขาว (หมายถึงรัสเซีย ยูเครน และเบลารุสตามลำดับ) หากใช้แผนนี้จะมีการดำเนินการ 2 เฟส โดยเฟสแรกใช้ความเป็นไปได้ข้อที่ 3 คือยึดฝั่งตะวันตกของแม่น้ำนีเปอร์ก่อนรวมถึงเคียฟ จากนั้นเฟสที่ 2 คือการยึดส่วนที่เหลือของยูเครนคือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำนีเปอร์และภาคตะวันตกทั้งหมด

นี่เป็นความเป็นไปได้จากการวิเคราะห์ของ CSIS ซึ่งการบุกยูเครนนั้นสามารถทำได้ก็จริง แต่มันมีผลที่ตามมาที่อาจมีต้นทุนมหาศาลมากกว่าการรุกรานเสียอีก หนึ่งคือ รัสเซียจะถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก สองอาจเกิดสงครามเต็มรูปแบบกับนาโต (มีโอกาสน้อย) และสามคือการลุกฮือยืดเยื้อจากชาวยูเครนหากรัสเซียทำการยึดทั้งประเทศ

การจัดการกับประชากรยูเครนที่ถูกยึดครองไม่ใช่เรื่องง่าย รัสเซียอาจล้มเหลวในการกลืนประชากรยูเครนหรือกล่อมให้ชื่อฟังรัสเซีย ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วหลังจากที่ไครเมียแยกตัวจากยูเครน (โดยอาศัยกำลังของรัสเซีย) และต่อมาทำประชามติขอเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แม้จะมีมติท่วมท้นของคนรัสเซียในไครเมีย แต่ชาวยูเครนคว่ำบาตรอย่างเต็มที่

การยึดยูเครนเต็มรูปแบบอาจเกิดสงครามยืดเยื้อในรูปของสงครามกองโจร ซึ่งรัสเซียเองไม่ใช่ว่าไม่มีประสบการณ์ เพราะเคยพัวพันกับกรณีเชชเนียมาแล้ว แต่มันเป็นการพัวพันในสงครามที่นองเลือด ยืดเยื้อ ไม่แปลกที่บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรจะปลุกผีสงครามเชชเนียขึ้นมาขู่ว่า หากรัสเซียรุกรานยูเครน มันจะเป็น "การกระทำที่เจ็บปวด รุนแรง และนองเลือด" และอาจคล้ายกับ "เชชเนียครั้งใหม่"

แต่รัสเซียคงไม่สนใจคำขู่แบบนี้ ต่อให้ใช้เวลานานขนาดไหน นองเลือดแค่ไหน และต้องโหดแค่ไหน รัสเซียก็เอาเชชเนียอยู่ในที่สุด แม้จะต้องทำสงครามถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกนั้นรัสเซียสู้ไม่ไหวจนต้องยอมสงบศึก แต่ครั้งที่ 2 เชชเนียต้องยอมสยบ นั่นเพราะรัสเซียได้เปลี่ยนตัวผู้นำแล้วเป็นชายที่ชื่อว่า "วลาดิมีร์ ปูติน"

นับตั้งแต่ปูตินครองอำนาจ ความขัดแย้งและการแยกตัวใดๆ ที่เกิดขึ้นในปริมณฑลอำนาจเดิมของสหภาพโซเวียตจะถูกจัดการอย่างเด็ดขาดและ "เสร็จรัสเซีย" ทุกราย ตั้งแต่จอร์เจีย ไปจนถึงยูเครน

Photo by Anatolii STEPANOV / AFP