posttoday

หมดจาก Omicron แล้วจะยังไงต่อสำหรับปีนี้

22 มกราคม 2565

เปิดความเห็นผู้เชี่ยวชาญ หมดจากโอมิครอนแล้วจะมี Covid-19 สายพันธุ์ใหม่ไหม

สำนักข่าว CNN เผยความเห็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับทิศทางการระบาดของ Covid-19 ในปีนี้ โดยส่วนใหญ่มองว่า เรา “อาจจะ” ได้เห็นจุดจบ ย้ำว่า “อาจจะ”

ทอม ฟรีเดน ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (CDC) ในสมัยอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา เผยว่า “ผมว่าถ้าเรามาถูกทาง ปี 2022 จะเป็นปีที่ Covid-19 ไม่ได้มีอิทธิพลต่อชีวิตของเรามากนัก”

ฉากต่อไปของการแพร่ระบาดจะเป็นอย่างไรและจะมาถึงเมื่อใดคือสิ่งที่ อีวอนน์ มัลโดนาโด นักระบาดวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจาก Stanford Medicine กำลังพยายามหาคำตอบ

มัลโดนาโดเผยว่า สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันก็คือ “เราก็ไม่รู้แน่ชัด”

เรามีโมเดลการเกิดโรคและบทเรียนจากการระบาดใหญ่ในอดีต ทว่าวิธีการที่สายพันธุ์โอมิครอนง่ายอุบัติขึ้นมานั้นทำให้การคาดการณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าเป็นไปได้ยาก

“พวกเราไม่มีใครคาดว่าโอมิครอนจะเกิดขึ้น” มัลโดนาโดเผย “แต่มันก็มีเบาะแส แต่เราไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นในแบบที่มันเกิด”

ถึงอย่างนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อก็มีความหวังจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้

“แอฟริกาใต้เป็นเหมือนนกคีรีบูนในเหมือง (ชาวเหมืองจะนำนกคีรีบูนเข้าไปในเหมืองเพื่อใช้เป็นตัวตรวจวัดแก๊สที่เป็นอันตรายกับมนุษย์ เพราะนกชนิดนี้มีความไวต่อสารพิษ) เพราะพวกเขาสามารถตรวจเจอโอมิครอนก่อน” มัลโดนาโดกล่าว

นักวิทยาศาสตร์แอฟริกาใต้พบโอมิครอนครั้งแรกเมื่อเดือน พ.ย. จากนั้นตัวเลขผู้ติดเชื้อก็พุ่งขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับในสหราชอาณาจักร และนั่นคือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะเกิดขึ้นกับทุกที่

จอห์น สวาร์ตซ์เบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและวัคซีนจากวิทยาลัยสาธารณสุขเบิร์กลีย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเผยว่า “คาดว่าในระยะสั้น ในช่วง 6 สัปดาห์ข้างหน้า จะยังค่อนข้างหนัก ราวกลางเดือน ก.พ.เราจะได้เห็นอะไรๆ ดีขึ้น”

และหากระลอกนี้ซาลงอย่างรวดเร็ว ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าจะมี “ช่วงเวลาเงียบสงบ”

สวาร์ตซ์เบิร์กเชื่อว่าเดือน มี.ค.ไปตลอดฤดูใบไม้ผลิ หรือจนถึงฤดูร้อนจะเหมือนกับปีที่แล้วคือ ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง “จะมีสัญญาณบวก จากนั้นเราจะได้ทำอะไรๆ ในชีวิตได้มากขึ้น ผมว่าเดือน พ.ค. หรือ มิ.ย.จะดีขึ้น ผมค่อนข้างมองในแง่ดี”

ส่วนหนึ่งของการมองในแง่ดีของสวาร์ตซ์เบิร์กมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าประชาชนจะมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ทั้งตัวเลขผู้ที่ได้รับวัคซีนครบและเข็มกระตุ้น ทั้งผู้ที่ติดเชื้อในช่วงที่โอมิครอนระบาด

“ระดับภูมิคุ้มกันในประชากรของเราจะสูงกว่าระดับการระบาดของ Omicron มาก ซึ่งนั่นไม่เพียงแต่จะช่วยรับมือโอมิครอนกับเดลตาเท่านั้นหากมันยังระบาดอยู่ แต่จะช่วยรับมือกับสายพันธุ์ใหม่ๆ ด้วย” สวาร์ตซ์เบิร์กเผย “ส่วนจะช่วยได้มากแค่ไหนขึ้นอยู่กับยา”

นั่นเพราะโคโรนาไวรัสจะไม่มีทางหายไป

“ผมคาดว่าเวอร์ชันอื่นๆ ของรัสจะกลับมา” มัลโดนาโดกล่าว “นี่คือสถานการณ์ที่สร้างความไม่แน่นอนให้กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป”

สายพันธุ์ต่อไปอาจจะระบาดได้ง่ายเท่ากับหรือมากกว่าโอมิครอน และอาจทำให้ผู้ป่วยอาการหนักขึ้นหรือไม่มีอาการเลย

“ไม่ชัดเจนเลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป” จอร์จ รัธเธอร์ฟอร์ด นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานฟรานซิสโกเผย และบอกอีกว่าในที่สุดไวรัสจะกลายพันธุ์ อย่างที่เกิดกับสายพันธุ์อัลฟาและเบตา หรือมันอาจจะก้าวกระโดดครั้งใหญ่อย่างเดลตาและโอมิครอน “แล้วจะเกิดอะไรต่อ? บอกไม่ได้”

ยกตัวอย่างไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ที่เป็นไวรัสชนิดใหม่ที่ก่อให้เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เมื่อปี 1918 คือติดประชากรราว 1 ใน 3 ของโลกและคร่าราว 50 ล้านชีวิต

และในที่สุดการระบาดครั้งนั้นก็จบลง แต่ไวรัสดังกล่าวยังอยู่กับเรามาจนถึงทุกวันนี้

“มันคือบรรพบุรุษของเชื้อไวรัส H1N1 ทั้งหมดที่เราพบเจอทุกๆ ปี” มัลโดนาโดเผย “นับจากนั้นมันก็กลายพันธุ์หลายครั้ง แต่ล้วนมาจากสายพันธุ์เดียวกัน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ไวรัสจะทำอย่างเดียวกันนี้”

สวาร์ตซ์เบิร์กกล่าวว่า สหรัฐมีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหฐ่เฉลี่ยปีละ 35,000 ราย “และเราก็ยังใช้ชีวิตของเราต่อ ผมไม่คิดว่ามันจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก ”

ส่วนมัลโดนาโดบอกว่า นั่นคือสถานการณ์ที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ และบอกอีกว่าหากอยากให้เป็นเหมือนกับไข้หวัดใหญ่ โลกจะต้องให้ความสำคัญกับคนที่เปราะบางต่อโรครุนแรงด้วยการทำให้แน่ใจว่าคนเหล่านี้ได้รับวัคซีน และเข้าถึงโมโนโคนอลแอนติบอดีและยาต้านไวรัส

ส่วนสถานการณ์ก้ำกึ่งไม่ดีไม่ร้ายคือ มียาต้านไวรัสหรือโมโนโคนอลที่จะรักษาคนป่วยไม่เพียงพอ หรือผู้ผลิตวัคซีนไม่สามารถผลิตวัคซีนที่ใช้เฉพาะสายพันธุ์ได้ทันเวลา ส่วนสถานการณ์เลวร้ายที่สุดคือ เชื้อหลบเลี่ยงการปกป้องจากวัคซีนและยารักษา ซึ่งมัลโดนาโดบอกว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อย

ขณะที่ แอนโธนี ฟาวซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐเผยว่า “ผมไม่สามารถบอกเป็นตัวเลขได้ว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นเท่าไร แต่เราต้องเตรียมพร้อมรับมือกับมัน”

ส่วน แพนาจิส กาเลียตซาโตส รองศาสตราจารย์จาก Johns Hopkins Medicine บอกว่า เรารู้วิธีหยุดยั้งอาการรุนแรงของ Covid-19 แล้วนั่นคือ วัคซีน หน้ากากอนามัย และการตรวจหาเชื้อ

Photo by Frederic J. BROWN / AFP