posttoday

เชื้อแบคทีเรียดื้อยาทำมนุษย์เสียชีวิตกว่าล้านทั่วโลก

20 มกราคม 2565

เชื้อแบคทีเรียดื้อยาทำให้มนุษย์เสียชีวิตมากกว่ามาลาเรียและเอชไอวี

สำนักข่าว BBC รายงานว่า ผลการวิจัยเกี่ยวกับการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาซึ่งเป็นการวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกพบว่า ในปี 2019 ประชากรมากกว่า 1.2 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากการติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ โดยตัวเลขดังกล่าวมากกว่าผู้เสียชีวิตจากมาลาเรียและเอชไอวี

ผลการวิจัยของทีมนักวิจัยนานาชาติซึ่งนำโดยมหาวิทยาลัยวอชิงตันในสหรัฐระบุว่า ประเทศยากจนได้รับผลกระทบเลวร้ายที่สุด ทว่าเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะเป็นภัยคุกคามทางสุขภาพของทุกๆ คน

ประเทศในแอฟริกาใต้ที่ตั้งอยู่ใต้ทะเลทรายซาฮาราและเอเชียใต้ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีผู้เสียชีวิต 24 คนจากทุกๆ 100,000 คน และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำที่สุดในประเทศร่ำรวยคือ 13 คนในทุกๆ 100,000 คน

การประมาณการการเสียชีวิตจากการดื้อยาของเชื้อโรค (AMR) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Lancet ได้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลใน 204 ประเทศ โดยพบว่า ประชากรโลกราว 5 ล้านคนเสียชีวิตจากอาการป่วยที่ AMR เป็นสาเหตุหลัก และอีก 1.2 ล้านคนซึ่งเสียชีวิตจาก AMR โดยตรงในปี 2019

ในปีเดียวกันนี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ราว 860,000 คน และมาลาเรีย 640,000 คน

การเสียชีวิตจาก AMR ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น ปอดบวม และติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งอาจนำมาสู่การติดเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย

การวิเคราะห์ประวัติผู้ป่วยจากโรงพยาบาล การศึกษาวิจัย และแหล่งข้อมูลอื่นพบว่า เด็กอายุน้อยคือกลุ่มเสี่ยงที่สุด โดยราว 1 ใน 5 ของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับ AMR เกิดขึ้นในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

การลงทุนวิจัยยาใหม่อย่างเร่งด่วนและการใช้ยาปฏิชีวนะที่มีอยู่อย่างชาญฉลาดคือหนทางในการป้องกันเชื้อดื้อยา

การใช้ยาปฏิชีวนะเกินขนาดสำหรับการติดเชื้อเล็กๆ น้อยๆ จะทำให้ยามีประสิทธิภาพต่อการติดเชื้อที่รุนแรงลดลง โดยผู้คนเสียชีวิตจากการติดเชื้อทั่วไปที่เคยรักษาได้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคดื้อต่อการรักษา

เมื่อเร็วๆ นี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสหราชอาณาจักรเตือนว่า การดื้อยาของเชื้อโรค (AMR) คือโรคระบาดใหญ่ที่ซ่อนเร้นซึ่งสามารถอุบัติขึ้นในช่วงที่ Covid-19 ระบาด นอกเสียจากว่าจะมีการจ่ายยาปฏิชีวนะด้วยความรับผิดชอบ

Photo by ERNESTO BENAVIDES / AFP