สืบเนื่องจากกรณี #ลอกผลงาน กำลังถูกพูดถึงอย่างมากบนทวิตเตอร์ หลังจากที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าประมูลงานศิลปะในรูปแบบ NFT ซึ่งถูกกล่าวหาว่าลอกผลงานศิลปะจากศิลปินต่างประเทศ
ขณะที่นายธนาธรชี้แจงว่าภาพ "When She Opens The Door" นั้นตนได้ระบุชัดเจนแล้วว่าได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานของ Damian Lechoszest และได้เขียนอีเมลไปถึงศิลปินท่านนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนภาพ "Silence" ก็ได้ระบุไว้แล้วเช่นเดียวกันว่าได้แรงบันดาลใจจาก Feliks K ซึ่งเจ้าตัวอนุญาตให้นำผลงานไปสร้างสรรค์ต่อเพียงแค่ใส่เครดิต
อย่างไรก็ตามประเด็น "คัดลอกผลงาน" หรือ "ได้รับแรงบันดาลใจ" นั้นเป็นที่ถกเถียงกันมาหลายครั้งหลายหน ทั้งงานเขียน งานศิลปะ หรืองานออกแบบต่างๆ ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เรื่องนี้ก็เกิดขึ้นในต่างประเทศเช่นเดียวกัน
แบบไหนถึงเรียกว่าลอก?
CIIT College of Arts and Technology จากฟิลิปปินส์ระบุว่า Merriam-Webster บริษัทพจนานุกรมในสหรัฐให้นิยามคำว่าลอกเลียนแบบ (plagiarism) ว่าเป็นการใช้คำพูดหรือความคิดของบุคคลอื่นโดยไม่ให้เครดิตบุคคลนั้น ซึ่งเกิดขึ้นในหลายรูปแบบทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์
วิทยาลัย CIIT ยังระบุว่าการคัดลอกผลงานศิลปะไม่ว่าจะเป็นภาพสเก็ตช์ ภาพวาด ภาพถ่าย ประติมากรรม รวมถึงงานเขียน แม้ว่าจะนำไปใส่ฟิลเตอร์ เปลี่ยนสี เพิ่มคลิปอาร์ต ข้อความ หรือปรับแต่งแก้ไขเพิ่มเติม หากนำไปเผยแพร่เป็นงานของตนเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของผลงานหรือไม่ให้เครดิต ถือว่าเป็นการขโมย
อาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียชื่อเสียงทางวิชาชีพ การฟ้องร้องดำเนินคดี หรือเสียค่าชดเชยให้แก่เจ้าของผลงานหากพิสูจน์ได้ว่ามีความผิด
ด้านมหาวิทยาลัย Rochester ในสหรัฐอเมริกาได้อธิบายนิยามของคำว่าลอกเลียนแบบงานศิลปะ (art plagiarism) ที่ขัดต่อนโยบายของมหาวิทยาลัยไว้ดังนี้
- ใช้งานศิลปะของบุคคลอื่น (ที่เราไม่ได้เป็นคนทำเอง) และอ้างว่าเป็นงานศิลปะของตนเอง
- ขโมยงานศิลปะจากแหล่งต่างๆ (เช่น ภาพถ่ายบน Instagram) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงานและไม่ได้อ้างอิงเจ้าของผลงาน
- มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ แต่อ้างว่าเป็นผลงานของตนเอง 100%
โดยอธิบายเพิ่มเติมว่าในทางกฎหมายมีสิ่งที่เรียกว่าการใช้ลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยชอบ (Fair Use) เช่น ใช้เพื่อการศึกษาที่ไม่แสวงหากำไร
เช่นเดียวกับเว็บไซต์ด้านศิลปะ Arte Fuse ซึ่งระบุว่าการคัดลอกงานศิลปะคือการใช้ผลงานที่มีอยู่แล้วมานำเสนอเป็นงานของตนเอง โดยไม่ได้รับความยินยอมหรือไม่ให้เครดิตเจ้าของผลงาน หรือทำซ้ำงานศิลปะต้นฉบับโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย
วิธีหลีกเลี่ยงการลอกผลงานศิลปะ
วิทยาลัย CIIT แนะนำในการหลีกเลี่ยงการลอกผลงานศิลปะ โดยหากพบงานศิลปะที่ชื่นชอบให้หาไอเดียจากมันและใช้เป็นแรงบันดาลใจหรือเป็นเพียงแนวทางเพื่อสร้างผลงานของตนเอง หลีกเลี่ยงการบันทึก คัดลอก ทำซ้ำ หรือนำไปเผยแพร่
ผสมผสานไอเดียที่แตกต่าง โดยการหาผลงานศิลปะที่สนใจมากกว่า 1 ชิ้น และสร้างผลงานของตนเองโดยดึงแรงบันดาลใจจากงานศิลปะเหล่านั้น เพื่อสร้างผลงานที่เรียกได้อย่างเต็มปากว่าเป็นของตนเองจริงๆ
อีกวิธีหนึ่งคือการอ้างอิงแหล่งที่มา หากไม่เก่งในการสร้างผลงานใหม่ๆ ก็สามารถใช้ไอเดียจากศิลปินคนอื่นๆ ได้แต่ต้องให้เครดิตเจ้าของผลงาน
- Arte Fuse แนะนำว่าให้ใช้เวลาเสพงานศิลปะที่ชื่นชอบ และเริ่มสร้างสรรค์ผลงานของตนเองด้วยความรู้สึกที่ได้รับจากงานศิลปะเหล่านั้น
- งานกราฟิกหรือดิจิทัลมักใช้ตัวละครหรือสัญลักษณ์ที่เป็นที่รู้จักซึ่งไม่มีลิขสิทธิ์ และนำไปใส่ไว้ในสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่แตกต่างกัน นี่คือเหตุผลที่ป๊อปอาร์ตของ Mona Lisa ไม่ใช่การลอกเลียนแบบงานศิลปะ
- เปลี่ยนแปลงจากงานต้นฉบับ สร้างเทคนิคหรือแนวคิดของตนเองโดยใช้งานศิลปะที่ชอบเป็นเพียงพื้นฐาน
- ตั้งคำถามจากงานต้นฉบับ อาทิ ถ้าศิลปินวาดภาพนี้ใต้แสงจันทร์ล่ะ? ถ้าภาพนี้เปลี่ยนจากสีหนึ่งไปเป็นอีกสีหนึ่ง? ถ้าศิลปินสร้างผลงานนี้ในอีก 300 ปีข้างหน้า?
- ใช้งานศิลปะหลายชิ้นมาเป็นแรงบันดาลใจ นำไอเดียที่ได้จากงานแต่ละชิ้นมาสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง
- ได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงาน หากงานมีลิขสิทธิ์ให้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และใช้ผลงานนั้นเมื่อได้รับความยินยอมแล้วเท่านั้น
เอกสารจากมหาวิทยาลัย Rochester ชี้ว่างานศิลปะหลายชิ้นบนโลกใบนี้ล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากภาพหรือไอเดียที่มีมาก่อน ดังนั้นการสร้างงานศิลปะโดยได้แรงบันดาลใจจากศิลปินท่านอื่นนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่ต้องมั่นใจว่าไม่ใช่การเลียนแบบ
ภาพประกอบ: When She Opens The Door โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ