posttoday

ติดตามความสำเร็จรถไฟจีนในอาเซียน จากลาวถึงมาเลเซีย

19 มกราคม 2565

ข่าวล่าสุด ‘ทางรถไฟจีน-ลาว’ ขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน ทะลุ 1 พันล้านหยวน ขณะที่‘รถไฟฟ้า’ ฝีมือจีนในเวียดนาม ขนส่ง ‘ผู้โดยสาร’ ล้านคนใน 2 เดือน

ความสำเร็จรถไฟจีน-ลาว

รายงานจากสำนักข่าวซินหัว ศุลกากรนครคุนหมิง เมืองเอกมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เผยว่าทางรถไฟจีน-ลาวที่เปิดบริการเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ได้ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 พันล้านหยวน (ราว 5.22 พันล้านบาท) แล้ว

ศุลกากรฯ รองรับรถไฟสินค้า 153 ขบวน เมื่อนับถึงวันจันทร์ (17 ม.ค.) โดยปริมาณการขนส่งสินค้ารวมอยู่ที่ 59,500 ตัน และมีการขนส่งสินค้ากว่า 100 ประเภท ซึ่งสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ยางพารา สินแร่เหล็ก และถ่าน ส่วนสินค้าส่งออกชั้นนำ ได้แก่ ผักสด สิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน และผลิตภัณฑ์เครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้า

อนึ่ง ทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งวิ่งผ่านนครคุนหมิงด้วยนั้น เชื่อมโยง 15 เมืองของจีนกับไทย สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศตามแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI)

รถไฟฟ้าจีนสร้างที่ฮานอย

ด้านเวียดนาม สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จากการ ที่ทางการเวียดนามและสถานทูตจีนในเวียดนาม จัดพิธีเปิดโครงการรถไฟฟ้า สายก๊าตลีง-ห่าโดง (Cat Linh-Ha Dong) ที่จีนก่อสร้างอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 มกราคม โดยถือเป็นรถไฟฟ้าสายแรกในเวียดนามที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์

เหงียน มานห์ เควียน รองประธานคณะกรรมการประชาชนฮานอย กล่าวในพิธีว่ารถไฟฟ้าสายนี้ให้บริการเชิงพาณิชย์มานานราว 2 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. ปีก่อน โดยขนส่งผู้โดยสารราว 15,000 คนต่อวัน และรองรับผู้โดยสารรวม 1 ล้านคน เมื่อนับถึงวันพฤหัสบดี (13 ม.ค.)

“รถไฟฟ้าฝีมือจีนออกวิ่งบริการอย่างปลอดภัยและทำตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ อีกทั้งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในฐานะรูปแบบการขนส่งสาธารณะที่ล้ำหน้าและทันสมัยโครงการแรกในเวียดนาม” เควียนระบุ

 ติดตามความสำเร็จรถไฟจีนในอาเซียน จากลาวถึงมาเลเซีย

โครงการรถไฟฟ้ายกระดับสายก๊าตลีง-ห่าโดง เป็นรถไฟฟ้าสายแรกในกรุงฮานอยของเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ตะวันตกของฮานอย และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเมือง โดยฮานอยจะสร้างทางรถไฟเขตเมือง 10 เส้นทางภายในปี 2030 ภายใต้แผนพัฒนาเมืองฉบับปัจจุบัน

จับมือเวียดนามลุยหนึ่งแถบฯ

สยงโป เอกอัครราชทูตจีนประจำเวียดนาม กล่าวในพิธีว่ารถไฟฟ้าสายดังกล่าวเป็นโครงการความร่วมมือเชิงสัญลักษณ์ระหว่างสองประเทศในด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อร่วมกันสร้างแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI)

“พิธีเปิดและการดำเนินงานทางรถไฟอย่างราบรื่นเป็นแบบอย่างของความร่วมมือที่สลักสำคัญ เป็นประโยชน์ร่วมกัน และพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง” สยงกล่าว พร้อมเสริมว่าจีนยินดีร่วมมือกับเวียดนามอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นในหลายด้านสำคัญ และส่งเสริมการพัฒนาอันรวดเร็วของเวียดนาม

รายงานระบุว่าแม้จำนวนผู้โดยสารจะลดลงในช่วงไม่นานนี้ เพราะยอดผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เพิ่มสูง ทว่ากลุ่มคนที่จำเป็นต้องเดินทางเป็นประจำกลับมีมากขึ้น อาทิ เด็กนักเรียนและคนทำงานซึ่งถือบัตรโดยสารรายเดือนไปโรงเรียนและทำงาน

 ติดตามความสำเร็จรถไฟจีนในอาเซียน จากลาวถึงมาเลเซีย

เดา วาน ถั่น ผู้โดยสารวัย 33 ปี จากเขตดงดาของฮานอย ซึ่งใช้บริการรถไฟฟ้าสายก๊าตลีง-ห่าโดงไปทำงานในเช้าวันพฤหัสบดี (13 ม.ค.) เล่าว่าการเดินทางด้วยรถไฟสายนี้เป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของตนไปแล้ว ช่วยให้เขาเดินทางได้สะดวกสบายกว่าเดิม และหวังว่าจะมีการก่อสร้างทางรถไฟเขตเมืองมากขึ้น เพื่อขยับขยายการเชื่อมต่อสู่หลายพื้นที่อื่นของฮานอย

โครงการรถไฟฟ้ายกระดับนี้มีระยะทางมากกว่า 13 กิโลเมตร และสถานีรายทาง 12 แห่ง ซึ่งครอบคลุมเขต 3 แห่งในกรุงฮานอย รถไฟแต่ละขบวนมาพร้อมความเร็วออกแบบ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และตู้โดยสาร 4 ตู้ ซึ่งขนส่งผู้โดยสารมากถึง 1,000 คน

กลุ่มผู้ลงทุนโครงการฯ เผยว่ารถไฟฟ้าสายก๊าตลีง-ห่าโดง เริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม 2011 และเสร็จสิ้นการทดลองใช้งานเดือนธันวาคม 2020 โดยมีการวิ่งทดสอบหลายพันเที่ยว คิดเป็นระยะทางมากกว่า 70,000 กิโลเมตร นำไปสู่การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ช่วงปลายปี 2021

 ติดตามความสำเร็จรถไฟจีนในอาเซียน จากลาวถึงมาเลเซีย

โครงการจีนที่มาเลเซีย

ซินหัวรายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (13 ม.ค.) ถึงความคืบหน้าการก่อสร้างอุโมงค์เกนติง (Genting Tunnel) ส่วนหนึ่งของโครงการทางรถไฟเชื่อมชายฝั่งตะวันออก (ECRL) บริเวณใกล้เมืองเบนตง รัฐปะหังของมาเลเซีย

วี กา ซีอง รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของมาเลเซีย เผยว่าโครงการขนาดใหญ่นี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยบริษัทการก่อสร้างเพื่อการสื่อสารแห่งประเทศจีน (CCCC) ได้รับประโยชน์อย่างมากจากประสบการณ์และองค์ความรู้ด้านเทคนิคของบริษัทจีน

ทั้งนี้ โครงการทางรถไฟเชื่อมชายฝั่งตะวันออกจะเริ่มวิ่งจากท่าเรือแคลง (Port Klang) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งขนาดใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย และข้ามคาบสมุทรไปยังรัฐกลันตันทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยคาดว่าจะช่วยยกระดับการเชื่อมต่อและนำการเติบโตอย่างสมดุลมาสู่ประเทศมากขึ้น ผ่านการเชื่อมโยงภูมิภาคด้อยพัฒนาบนชายฝั่งตะวันออกเข้ากับศูนย์กลางทางเศรษฐกิจบนชายฝั่งตะวันตก