posttoday

เปิดชื่อคนหักหลังครอบครัว แอนน์ แฟรงค์ เผยที่ซ่อนลับให้นาซีรู้

18 มกราคม 2565

ในที่สุดชื่อของผู้ต้องสงสัยที่เปิดเผยที่ซ่อนของ แอนน์ แฟรงค์ และครอบครัวในนาซีรู้ก็ได้รับการเปิดเผย

ผู้คนทั่วโลกรู้จัก แอนน์ แฟรงค์ (Anne Frank) หรืออันเนอ ฟรังค์ เด็กหญิงชาวเยอรมันเชื้อสายยิวผ่านบันทึกที่เธอเขียนขึ้นระหว่างหลบซ่อนตัวจากนาซีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะได้รับการตีพิมพ์ในชื่อ Anne Frank: The Diary of a Young Girl หรือภาษาไทยในชื่อ “บันทึกลับของแอนน์ แฟร้งค์”

แอนน์เกิดและเติบโตที่เมืองแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เธอเป็นลูกสาวคนเล็กของ ออตโต แฟรงค์ (Otto Frank) และ เอดิธ แฟรงค์ ฮอลเลนเดอร์ (Edith Frank-Holländer) มีพี่สาว 1 คนซึ่งอายุห่างกัน 3 ปีคือ มาร์กอท แฟรงค์ (Margot Frank)

ชีวิตของแอนน์และชาวยิวคนอื่นๆ เริ่มเปลี่ยนไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จากพรรคนาซีขึ้นเป็นรัฐบาลเยอรมนี ฮิตเลอร์เริ่มกวาดล้างชาวยิว เพราะเชื่อว่าชาวยิวเอารัดเอาเปรียบคนเยอรมันและสร้างปัญหาให้ประเทศ ในที่สุดกระแสความเกลียดชังชาวยิวและความยากลำบากทำให้ครอบครัวแฟรงค์ตัดสินใจอพยพออกนอกประเทศ

ตอนแรกครอบครัวแฟรงค์ตัดสินใจย้ายไปสหรัฐแต่ด้วยอุปสรรคหลายอย่างในที่สุดจึงเปลี่ยนใจไปอยู่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์แทน ที่นั่นพ่อของแอนน์ตั้งบริษัทขายเพคติน ซึ่งเป็นเจลสำหรับผลิตแยม จากนั้นก็เริ่มขายสมุนไพรและเครื่องเทศด้วย

นาซีของฮิตเลอร์เริ่มรุกรานประเทศอื่นๆ กระทั่งวันที่ 10 พ.ค. 1940 นาซีบุกโจมตีเนเธอร์แลนด์และเข้ามาคุกคามชาวยิวที่นั่นอีกครั้งจนพ่อของแอนน์ต้องสูญเสียบริษัท เพราะชาวยิวไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นเจ้าของกิจการ

เปิดชื่อคนหักหลังครอบครัว แอนน์ แฟรงค์ เผยที่ซ่อนลับให้นาซีรู้

จุดเปลี่ยนอีกครั้งของครอบครัวเกิดขึ้นหลังจากมาร์กอทได้รับหมายเรียกให้ไปรายงานตัวเพื่อทำงานในค่ายกักกันเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 1942 แต่ทางครอบครัวสงสัยว่ามาร์กอทอาจจะถูกสังหารในค่ายกักกันเสียมากกว่าหากไปตามหมายเรียก

วันรุ่งขึ้นทั้ง 4 คนจึงพากันไปซ่อนตัวในห้องลับที่พ่อของเธอแอบสร้างเตรียมเอาไว้ด้านหลังตึกบริษัทบนถนนปรินเซนครัคต์ โดยมีเพื่อนสนิทของครอบครัวอีก 4 คนมาหลบซ่อนอยู่ด้วย โดยได้รับความช่วยเหลือจากพนักงานในบริษัทที่พ่อของแอนน์ไว้ใจ

ระหว่างที่หลบซ่อนตัวอยู่ 2 ปี แอนน์เขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ ลงในสมุดบันทึกที่พ่อซื้อให้เป็นของขวัญวันเกิด วันหนึ่งแอนน์ได้ยินประกาศของรัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาของดัตช์ที่หลบหนีไปอังกฤษผ่านทางวิทยุ Radio Orange ให้ชาวดัตช์เก็บบันทึกและเอกสารเกี่ยวกับสงครามเอาไว้เป็นหลักฐานสำคัญบอกเล่าเรื่องราวที่ชาวดัตช์ต้องเผชิญให้ชาวโลกรับรู้ในวันสิ้นสุดสงคราม แอนน์จึงเริ่มรีไรท์ไดอารี่ของตัวเองโดยตั้งชื่อว่า Het Achterhuis หรือ The Secret Annex

ทว่าก่อนที่ไดอารี่จะจบลง แอนน์และคนอื่นๆ ในห้องลับที่อาศัยเป็นที่ซ่อนตัวทั้งหมดถูกตำรวจเยอรมันพบและจับกุมตัวไปเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 1944 โดยคนที่ให้การช่วยเหลือครอบครัว 2 คนก็พลอยติดร่างแหไปด้วย โดยคนที่ให้ความช่วยเหลือครอบครัวแฟรงค์อีก 2 คนเก็บงานเขียนของแอนน์ไว้อย่างดีก่อนจะถูกนาซีทำลาย

ทั้งหมดถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกันพร้อมกับชาวยิวคนอื่นๆ โดยแอนน์ มาร์กอท และเอดิธถูกส่งไปยังค่ายกักกันเอาชวิทซ์เพื่อใช้แรงงาน ส่วนออตโตถูกส่งไปใช้แรงงานที่ค่ายสำหรับผู้ชาย ต่อมาช่วงต้นเดือน พ.ย. 1944 แอนน์และมาร์กอทถูกย้ายไปยังค่ายกักกันแบร์เกิน-เบลเซิน ซึ่งมีอาหารเพียงน้อยนิด ทั้งยังหนาวเย็นและมีโรคระบาด แอนน์และมาร์กอทติดโรคไข้รากสาดใหญ่จนทั้งคู่เสียชีวิตในเวลาไล่เลี่ยกันในเดือน ก.พ. 1945 ขณะที่แอนน์อายุเพียง 15 ปีเท่านั้น

ส่วนเอดิธป่วยหนักในค่ายเอาชวิทซ์ ออตโตเป็นเพียงคนเดียวที่รอดชีวิตหลังจากทหารรัสเซียเข้าไปช่วยออกมา มีป กีส์ (Miep Gies) ผู้ช่วยคนสนิทที่คอยช่วยเหลือครอบครัวแฟรงค์ตอนหลบซ่อน ได้เก็บข้าวของของแอนน์เอาไว้ และนำมาส่งคืนให้กับออตโต เขาจึงได้อ่านบันทึกของแอนน์เป็นครั้งแรก และตัดสินใจทำให้ความฝันครั้งสุดท้ายของลูกสาวเป็นจริงด้วยการตีพิมพ์เป็นหนังสือในปี 1947

แต่ที่ยังเป็นปริศนาอยู่คือ ทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับการบุกค้นที่ซ่อนตัวของแอนน์ รวมทั้งว่าทหารเยอรมันรู้ที่ซ่อนของเธอได้อย่างไรทั้งๆ ที่เธอและครอบครัวอยู่มาได้ถึง 2 ปีโดยไม่มีใครระแคะระคาย

เปิดชื่อคนหักหลังครอบครัว แอนน์ แฟรงค์ เผยที่ซ่อนลับให้นาซีรู้

ล่าสุดปริศนานี้ถูกไขกระจ่างแล้วทีมผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ทั้งนักประวัติศาสตร์ นักอาชญวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล รวมทั้ง วินเซนต์ แพนโคค อดีตเจ้าหน้าที่เอฟบีไอของสหรัฐ

การสืบสวนสอบสวนซึ่งกินเวลานานถึง 6 ปีได้ข้อสรุปว่า อาร์โนลด์ ฟาน เดน แบร์ก (Arnold van den Bergh) คือคนที่เผยที่ซ่อนของแอนน์ให้นาซีรู้ก่อนหน้านี้ชื่อของฟาน เดน แบร์กซึ่งเสียชีวิตเมื่อปี 1950 ด้วยโรคมะเร็งลำคอ แทบจะไม่ได้รับความสนใจจากการสอบสวนอย่างเป็นทางการ 2 ครั้งในปี 1947 และ 1963

แต่ชื่อนี้ขึ้นมาอยู่ในลิสต์ผู้ต้องสงสัยอันดับต้นๆ ระหว่างการสอบสวนของทีมของอดีตเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ ซึ่งใช้เทคนิคสมัยใหม่ รวมทั้งการใช้อัลกอริทึมเพื่อหาความเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลต่างๆ ในกรุ

ฟาน เดน แบร์ก คือสมาชิกก่อตั้งของสมาคมชาวยิว ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารที่พวกนาซีบังคับให้ชาวยิวก่อตั้งขึ้นเพื่อจัดระเบียบการเนรเทศออกจากเนเธอร์แลนด์ ภายหลังหน่วยงานนี้ถูกล้มเลิกในปี 1943 โดยสมาชิกกลุ่มถูกส่งตัวกลับไปยังค่ายกักกัน

ทีมสอบสวนพบว่า ฟาน เดน แบร์กสามารถจัดการให้ครอบครัวของเขาได้รับการยกเว้นไม่ต้องอพยพออกจากเนเธอร์แลนด์ แต่ข้อยกเว้นนี้ถูกยกเลิกในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่นาซีบุกค้นที่ซ่อนตัวของแอนน์และครอบครัว ทำให้ทีมสอบสวนตั้งข้อสงสัยว่าฟาน เดน แบร์กหักหลังครอบครัวของแอนน์เพื่อแลกกับความปลอดภัยของครอบครัวของตัวเอง

แพนโคคเผยกับ CBS 60 Minutes ว่า “หลังฟาน เดน แบร์ก” ไม่ได้รับการยกเว้นให้ถูกส่งตัวไปค่ายกักกัน เขาต้องมีสิ่งที่มีค่าให้นาซีที่เข้าติดต่อด้วยเพื่อให้ตัวเองและภรรยาปลอดภัย

และทางทีมเชื่อว่าสิ่งมีค่านั้นก็คือที่ซ่อนตัวของชาวยิวรวมทั้งครอบครัวแฟรงค์

นอกจากนี้ยังพบว่า ฟาน เดน แบร์ก มีโอกาสในการถ่ายทอดข้อมูลไปยังนาซี เนื่องจากชาวยิวรายนี้เป็นพยานในการซื้อขายงานศิลปะที่ถูกขโมยมาระหว่างนายหน้าซื้อขายชาวเยอรมันกับ แฮร์มันน์ เกอริง สมาชิกนาซีระดับสูง

แต่องค์ประกอบที่น่าเชื่อที่สุดสำหรับผู้สืบสวนคือ ปากคำของออตโต พ่อของแอนน์ เกี่ยวกับฟาน เดน แบร์ก

ออตโตบอกกับนักสืบเมื่อปี 1964 ว่า เขาได้รับโน้ตชิ้นหนึ่งไม่นานหลังสงครามซึ่งระบุว่าฟาน เดน แบร์กคือคนที่นำความลับของครอบครัวแฟรงค์และของคนอื่นๆ ไปบอกนาซี โดยทางทีมพบสำเนาของโน้ตชิ้นดังกล่าวในแฟ้มเอกสารของตำรวจ

ทีมสอบสวนเชื่อว่าออตโตอาจเก็บเรื่องโน้ตดังกล่าวเป็นความลับ เพราะกังวลว่าการที่ชาวยิวหักหลังชาวยิวด้วยกันเองอาจทำให้กระแสความเกลียดชังชาวยิวรุนแรงขึ้นไปอีก

ประเด็นนี้แพนโคคเผยใน CBS 60 Minutes ว่า “แต่เราต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงที่ว่าฟาน เดน แบร์กเป็นยิว ซึ่งหมายถึงว่าเขาต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อรักษาชีวิตตัวเอง”

ด้าน โรนัลด์ เลโอโปลด์ ผู้อำนวยการบริหาร Anne Frank House เผยกับ AFP ว่า ยังมีข้อกังขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งว่า ใครเป็นคนส่งโน้ตนิรนามดังกล่าวและส่งมาทำไม

อย่างไรก็ดี ไธส์ บาเยินส์ ผู้สร้างภาพยนตร์ชาวดัตช์ที่อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์นี้เผยกับ 60 Minutes ว่า เป้าหมายของการสืบสวนครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่การทำให้คนที่หักหลังกลายเป็นคนชั่วร้าย เพราะทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นความผิดของนาซีที่บีบบังคับให้ผู้คนทำสิ่งที่เลวร้ายนี้

ซึ่งตัว แอนน์ แฟรงค์ เองก็น่าจะให้อภัยคนที่เผยที่ซ่อนตัวของเธอกับครอบครัว เพราะครั้งหนึ่งเธอเคยพูดไว้ว่า “In spite of everything, I still believe that people are really good at heart.” หรือ “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ฉันก็ยังคงเชื่อว่ามนุษย์นั้นมีเนื้อแท้ที่ดีในหัวใจ”

AFP PHOTO / ANP / DESK