posttoday

อนามัยโลกเบรก! โควิดยังไม่ใช่ 'โรคประจำถิ่น' เร็วๆ นี้

12 มกราคม 2565

องค์การอนามัยโลกเตือนอย่าเพิ่งมองโควิดเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนไข้หวัดใหญ่

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมาว่าขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะมองว่าโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นเหมือนกับไข้หวัดใหญ่ ขณะที่โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนกำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมากและกลายเป็นสายพันธุ์หลักในหลายพื้นที่

ทำไมยังไม่ใช่โรคประจำถิ่น

• แคทเธอรีน สมอลวูด เจ้าหน้าที่อาวุโสขององค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรปกล่าวว่า "โรคประจำถิ่น" นั้นจำเป็นต้องมีการแพร่เชื้อที่เสถียรและคาดเดาได้ แต่ขณะนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ไวรัสยังคงพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความท้าทายใหม่ๆ อยู่เสมอ ดังนั้น เราไม่ได้อยู่ในจุดที่เรียกว่าโรคประจำถิ่นอย่างแน่นอน

• พร้อมเสริมว่า ท้ายที่สุดแล้วโควิด-19 อาจกลายเป็นโรคประจำถิ่นอย่างที่หลายๆ คนคาดการณ์ แต่จะเกิดขึ้นภายในปีนี้หรือไม่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในสถานการณ์เช่นนี้

• โดยฮันส์ คลูจ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรปกล่าวว่ายุโรปพบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 7 ล้านรายในสัปดาห์แรกของปี 2022 และมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์

• ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่ากว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในยุโรปจะติดเชื้อโอมิครอนในอีก 6 ถึง 8 สัปดาห์ข้างหน้า

แม้อัตราป่วยหนักน้อยลง

• ในทางกลับกันนายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชซ ของสเปนกล่าวเมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมาโดยเสนอให้ประชาคมยุโรปหารือที่จะเปลี่ยนนิยามของโควิด-19 จาก "การระบาดใหญ่" (pandemic) มาเป็น "โรคประจำถิ่น" (endemic) เนื่องจากพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตที่ลดลง

• ขณะที่วันนี้ (12 ม.ค.) พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าการระบาดในประเทศไทยระลอกนี้มีผู้ป่วยอาการหนักน้อยกว่าระลอกเม.ย. ปีที่แล้วโดยมีสัดส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 1 ต่อ 1,000 ราย ซึ่งเป็นลักษณะของโรคประจำถิ่น ทำให้มีความหวังว่าภายในปีนี้โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น

• โดยก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่ามีการพบหลักฐานเพิ่มเติมที่บ่งชี้ว่าโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบน มากกว่าที่เชื้อจะลงปอด ซึ่งทำให้เกิดอาการรุนแรงน้อยกว่าน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้อย่างเดลตา และพบว่าอัตราการเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตจากโอมิครอนยังอยู่ในระดับต่ำ

• อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกเน้นย้ำว่าอย่าเพิ่งชะล่าใจ เนื่องจากยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ต่อไป

ภาพ: Bangkok Post