posttoday

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นแล้ว ปีนี้ถึงเวลาปิดฉาก 'การระบาดใหญ่'

11 มกราคม 2565

สเปนเป็น "ผู้กล้า" ประเทศแรกๆ ที่ผลักดันให้ยุโรปหารือกันจริงๆ จังๆ เสียทีว่า การระบาดใหญ่ไม่น่าจะลากยาวไปได้อีกต่อไปแล้ว

มันเริ่มต้นขึ้นจากนายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชซ แห่งสเปน เสนอให้ประชาคมยุโรปหารือกันจริงๆ จังได้แล้วว่าควรจะนิยามระดับการระบาดของโควิด-19 เสียใหม่ จากที่ลากยาว "การระบาดใหญ่" (pandemic) มานานถึง 3 ปีแล้ว ตอนนี้ควรที่จะลดดีกรีลงมาเป็น "โรคประจำถิ่น" (endemic) กันเสียที

การลดระดับของมันให้เป็นโรคประจำถิ่นก็คือไม่ต้องเสียเวลากับการไล่ตามผู้สัมผัสการติดเชื้อหรือการตรวจเชื้ออย่างถี่ยิบกันอีกต่อไป แต่หันไปใช้ระบบการตรวจการแพร่กระจายของโรคเหมือนกับไข้หวัดตามฤดูกาล

มันไม่ได้หมายความโควิด-19 จะเป็นอันตรายถึงชีวิตน้อยลง เทียบกับไข้หวัดตามฤดูกาลดูเถอะมันยังอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เหมือนกัน ปีๆ หนึ่งก่อนการมาถึงของโควิด-19 ไข้หวัดใหญ่คร่าชีวิตผู้คนในสหรัฐปีละหลายหมื่นคน

ในบางช่วงเวลามันเอาชีวิตคนมากกว่าโควิด-19 เสียอีก

มันหมายความว่าถึงเวลาที่เราจะกลับสู่ภาวะปกติกันได้แล้ว ไม่ใช่ปกติแบบ "นิวนอร์มอล" แต่เป็น "โอลด์นอร์มอล" ทำให้ "โรคใหม่" กลายสภาพเป็น "โรคเดิมๆ" แล้วจัดการมันเหมือนไข้หวัดเดิมๆ ที่เราสู้กับมันมาหลายชั่วคน

แต่เปโดร ซานเชซไม่ได้เร่งรีบ เขาย่อมรู้ว่าโควิด-19 ไม่ใช่ไข้หวัดและมันมีความตางเรื่องอาการ ที่ลงมีอาการหนักแล้วจะรักษาได้ยากลำบากกว่า ดังนั้น ข้อเสนอของเขาจึงไม่ใช่ให้เร่งรีบเปลี่ยนสถานะการระบาด แต่บอกว่า "ถึงเวลาแล้ว" ที่จะทบทวนเรื่องนี้

อย่างที่เขาบอกกับสถานีวิทยุ Cadena SER ว่า “ผมเชื่อว่าเรามีเงื่อนไขในการเปิดการอภิปรายอย่างช้าๆ ในระดับเทคนิคและในระดับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ แต่ในระดับยุโรปด้วย เพื่อเริ่มต้นการประเมินวิวัฒนาการของโรคนี้ด้วยปัจจัยการนิยามที่แตกต่างจากเรามีอยู่จนถึงตอนนี้”

คีย์เวิร์ดสำคัญอยู่ที่ " ในระดับเทคนิคและในระดับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ" มันไม่ใช่สิ่งที่นักการเมืองอาชีพหรือคนนอกวงการการแพทย์จะตัดสินใจได้ตามลำพัง

El Pais สื่อของสเปนช่วยยืนยันในจุดนี้ โดยอ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระบาดวิทยาว่าแผนดังกล่าวจะใช้ให้เครือข่ายของสถานบริการสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญที่เลือกสรรมาอย่างดีเพื่อจัดทำรายงานวัฒนาการของการระบาดของโควิด-19 ในระบบที่คล้ายกับระบบที่ใช้ทั่วยุโรปเพื่อติดตามโรคไข้หวัดใหญ่

ผู้เขียนคิดว่าหลายคนคงอยากให้มันเป็น endemic เต็มแก่แล้ว หาไม่แล้วตอนที่โลกพบกับโอมิครอนใหม่ๆ คงจะไม่มีการพุดว่ามันคือตัวเปลี่ยนเกมส์ที่จะทำให้ pandemic กลายเป็น endemic ด้วยอาการที่อ่อนลง หรือจะเรียกได้ว่าคล้ายกับไข้หวัดก็ว่าได้

สำหรับบางคน "ปัญหาเดียว" ของโอมิครอนตอนนี้คือมันติดต่อง่ายและวัคซีนเอาไม่อยู่ จนทำให้อัตราการติดเชื้อหลายประเทศพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เช่น ในสหรัฐที่ยอดติดเชื้อในเดือนมกราคมสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ว่าแรงๆ เสียอีก

มันอาการน้อยก็จริง แต่โอมิครยนทำให้ระบบสาธารณสุขแบกรับไม่ไหว มันทำให้คนตายยากขึ้นก็จริง แต่ระบบที่ล้นทำให้คนอาการหนักจนเสี่ยงกับการถึงแก่ชีวิตได้เหมือนกัน

นี่คือความยอกย้อนของโอมิครอนที่หลายๆ คนหวังจะให้มันเป็น "โค้งสุดท้ายของการระบาด"

และโอมิครอนก็อาจไม่ได้มี "ปัญหาเดียว" อย่างที่หลายคนเข้าใจ

เอ็มมา ธอมพ์สัน (Emma Thomson) ศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อที่ศูนย์วิจัยไวรัส MRC เมืองกลาสโกว์เขียนบทความใน Guardian ว่าหลังจากการศึกษานับตั้งแต่พบมันครั้งแรก นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อสรุปว่าโอมิครอน "ทำให้เกิดการระบาด (epidemic) ที่แตกต่างกันมาก ซึ่งอาจหมายความว่าแนวทางของเราต้องเปลี่ยนแปลงเช่นกัน"

ที่สำคัญ "พบว่าวัคซีน AstraZeneca, Pfizer และ Moderna สองโดสมีประสิทธิภาพในการต่อต้านโอมิครอนน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นอย่างมีนัยสำคัญ"

สอดรับกับคำกล่าวของผู้บริหาร Pfizer ที่บอกว่าโอมิครอนต้องการวัคซีนสูตรใหม่

หมายความว่ามันยังไม่จบใช่หรือไม่?

มันอาจจะยังไม่จบแบบ 100% แต่บางประเทศหวังว่ามันจะลดดีกรีมาเป็น endemic ภายในปีนี้ เช่น ดร.เอเสเคียล เอ็มมานูเอล (Dr. Ezekiel Emanuel) อดีตสมาชิกคณะทำงานด้านไวรัสโคโรน่าของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐเชื่อว่า “เราคิดว่าในปี 2022 เราจะเข้าสู่ระยะที่มีการระบาดของโรค"

พวกเขาไม่ได้รอให้มันเป็น endemic เพราะแผนคือการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม ซึ่งปัญหาคือคนอเมริกันเริ่มต่อต้านวัคซีนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นวิธีเดียวคือ "สั่งให้เป็นหน้าที่" ที่จะต้องฉีดวัคซีน

ดร.เอเสเคียล เอ็มมานูเอลค่อนข้างชัดเจนกับแนวทางนี้ เขาบอกว่าในช่วง 3 เดือนต่อจากนี้เป็นเวลา "คับขันมาก" เพื่อเตรียมตัวทำให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เหมือนเป็นไวรัสระบบทางเดินหายใจอีกตัวหนึ่ง "เช่น ไข้หวัดใหญ่ เช่น อะดีโนไวรัส ไวรัสระบบทางเดินหายใจทั้งหมด" เขาย้ำว่า "มันจะอยู่ที่นี่ เราจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน"

แต่เรื่องการเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 นั้นคว่ำมาครั้งหนึ่งแล้ว หลังจากสิงคโปร์ลองที่จะอยู่กับมัน มันอาจจะสำเร็จก็ได้หากไม่เจอกับโอมิครอนเสียก่อน แม้ว่าแนวทางของสิงคโปร์จะไม่ถือว่าล้มเหลวเสียทีดียว แต่มันทำให้เกิดคำถามเรื่องขึ้นมาว่า "เวิร์กจริงหรือ?"

ให้ผู้เขียนตอบแบบซื่อๆ เลยว่ามันเวิร์กตรงที่ถึงยอดติดเชื้อจะพุ่งทุบสถิติ แต่ระบบสาธารณสุขของสิงคโปร์ไม่ล้น

ไทยก็คาดหวังเหมือนหัน โดยปีนี้จะชะลอการติดเชื้อไม่ให้พรวดพราด เพื่อที่ระบบจะรองรับผู้ป่วยไหว

ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขของไทยกำลังมุ่งไปในทางเดียวกับสเปนและดร.เอเสเคียล เอ็มมานูเอล นั่นคือรอให้มันเป็น endemic ในปีนี้ โดยหวังว่าโอมิครอนที่มีอาการอ่อนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนผ่าน

กับคำถามว่า "ปีนี้ถึงเวลาจบได้หรือยัง?" อาจจะยังตอบได้ยาก แต่ถ้าถามว่า "ปีนี้ทำให้มันอ่อนแรงพอจะไหวไหม?" ตอบแบบอ้างผู้เชี่ยวชาญข้างต้นได้ว่า

"พอไหว"

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by ABDUL QODIR / AFP