posttoday

'วิกฤตการณ์ยูเครน' จะเป็นชนวนสงครามหรือไม่?

09 มกราคม 2565

ไล่เรียงเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเผชิญหน้าอีกครั้งระหว่างสองยักษ์ - รัสเซียกับสหรัฐและพันธมิตรชาติตะวันตก เมื่อยุเครนอาจเป็นชนวนเหตุแห่งการปะทะกัน

ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซียจนทั้งสองฝ่ายนำกองกำลังจำนวนมากมาประจำการตามแนวชายแดน กำลังทำให้รัฐบาลวอชิงตันและรัฐบาลที่มอสโกเข้าสู่การเผชิญหน้าในรูปแบบสงครามเย็น

นี่คือไทม์ไลน์ของสถานการณ์ที่กำลังลุกลามอย่างต่อเนื่อง ณ เวลาที่เผยแพร่เรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสหรัฐอเมริกาและรัสเซียกำลังเตรียมจัดการเจรจาที่เจนีวาตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ เพื่อให้ผู้นำของทั้งสองประเทศหาทางออก จากนั้นในวันพุธจะตามด้วยการประชุมระหว่างรัสเซียและสมาชิกทั้ง 30 คนของพันธมิตรนาโต (NATO) ซึ่งมอสโกยืนยันว่ายูเครนจะต้องไม่เข้าร่วมนาโต เพราะจะทำให้ยูเครนเป็นหมากที่รุกเข้ามาในจุดยุทธศาสตร์ของรัสเซียจนเป็นหอกข้างแคร่ต่อรัสเซีย

แต่ผลการเจรจาจะเป็นอย่างไรนั้น มาดูสาเหตุของการเผชิญหน้ากันก่อน

- ทหารรัสเซียที่ชายแดน - เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2021 ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนกล่าวหารัสเซียว่ากำลังระดมพลทหารหลายหมื่นนายตามแนวชายแดนทางตะวันออกของยูเครนและในแหลมไครเมียซึ่งรัสเซีย "ยึด" ไปจากยูเครนในการเผชิญหน้าคราวก่อน

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในความขัดแย้งในภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียหนุนหลังยึดครองมาตั้งแต่ปี 2014 เมื่อมอสโกผนวกไครเมียมาจากยูเครน

รัฐบาลเครมลินกล่าวว่ามีสิทธิที่จะเคลื่อนย้ายกองกำลังติดอาวุธภายในอาณาเขตของตน "ตามดุลยพินิจของตน"

'วิกฤตการณ์ยูเครน' จะเป็นชนวนสงครามหรือไม่?

- 'การสนับสนุนที่ไม่เปลี่ยนแปลง' - ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ให้คำมั่น "สนับสนุนอย่างไม่เปลี่ยนแปลง" กับยูเครน

รัฐบาลที่เครมลินกล่าวว่า "ไม่ได้คุกคาม" ยูเครน พร้อมเตือนชาติตะวันตกไม่ให้ส่งทหารเข้ามายุ่ง และบอกให้ยูเครนหยุด "การยั่วยุ"

- รัสเซียถอนตัว - เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2021 รัฐมนตรีต่างประเทศ G7 และหัวหน้านโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปเรียกร้องให้รัสเซียถอนทหาร 100,000 นาย

สิบวันต่อมารัฐบาลที่เครมลินสั่งถอนทหารกลับมาโดยกล่าวว่าพวกเขาได้แสดงแสนยานุภาพในการปกป้องประเทศแล้ว

- กลรบที่ทะเลดำ - เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2021 เรือและเครื่องบินของรัสเซียคุกคามเรือรบอังกฤษและเรือรบดัตช์นอกคาบสมุทรไครเมียไม่กี่วันก่อนที่นาโตจะซ้อมรบกับยูเครนในทะเลดำ

- ท่อส่งก๊าซ - เมื่อวันที่ 10 กันยายน รัฐบาลมอสโกได้ประกาศความสำเร็จในการสร้างท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ที่เป็นประเด็นขัดแย้ง โดยทอดตัวไปยังเยอรมนีผ่านทางทะเลบอลติกซึ่งเป็นทางอ้อม โดยไม่ตัดผ่านยูเครน สะท้อนถึงการตัดขาดยูเครนจากอุตสาหกรรมก๊าซที่มั่งคั่งและทรงอิทธิพลของรัสเซียและเป็นไม้เด็ดที่รัสเซียใช้ต่อรองกับยุโรป

'วิกฤตการณ์ยูเครน' จะเป็นชนวนสงครามหรือไม่?

- การเคลื่อนไหวของกองทหารใหม่ - เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2021 นาโตเตือนรัฐบาลมอสโกเกี่ยวกับ "ปฏิบัติการเชิงรุก" ใหม่ใดๆ หลังจากที่รัฐบาลวอชิงตันรายงานการเคลื่อนไหวของกองกำลังที่ผิดปกติใกล้ชายแดนยูเครน

ปูตินกล่าวหาตะวันตกว่าเพิ่มความตึงเครียดในขณะที่ "จัดหาอาวุธสมัยใหม่ให้เคียฟ" และจัดซ้อมรบเชิงยั่วยุต่อรัสเซีย

- การรุกในฤดูหนาว? - เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ยูเครนกล่าวว่ารัสเซียกำลังระดมกำลังทหารเกือบ 92,000 นายที่ชายแดน เพื่อทำการโจมตีในช่วงปลายเดือนมกราคมหรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2022

รัฐบาลมอสโกปฏิเสธเรื่องนี้โดยเด็ดขาด และสามวันต่อมากล่าวหารัฐบาลยูเครนว่าเป็นฝ่ายระดมพลขึ้นมาเองต่างหาก รัสเซียยังเรียกร้อง "หลักประกันทางกฎหมาย" ว่ายูเครนจะไม่เข้าร่วมกับนาโต

- การประชุมสุดยอดเสมือนจริง - เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ระหว่างที่ผู้นำทั้งสองพบกันในการประชุมสุดยอดเสมือนจริง ไบเดนขู่ปูตินด้วย "มาตรการทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมาตรการอื่นๆ" ถ้าเขารุกรานยูเครน แต่ไบเดินไม่บอกว่าจะส่งทหารอเมริกันไปสนับสนุนยูเครน

ปูตินเรียกร้องให้นาโตหยุดการขยายอิทธิพลมาทางตะวันออก (ทางยูเครนและมุ่งเผชิญหน้ากับรัสเซีย) อีกครั้ง และให้นาโตรับประกันว่ายูเครนจะไม่เข้าร่วมนาโต

- 'ผลที่ตามมาจะใหญ่หลวง' - เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม สหภาพยุโรปและนาโตได้เตือนถึง "ผลกระทบเชิงกลยุทธ์อย่างใหญ่หลวง หากมีการโจมตีเพิ่มเติมต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน"

วันรุ่งขึ้นรัฐบาลมอสโกเสนอข้อเสนอเพื่อจำกัดอิทธิพลของสหรัฐที่มีต่ออดีตรัฐโซเวียตต่างๆ เช่น ในยุโรปตะวันอกอและเอเชียกลาง

'วิกฤตการณ์ยูเครน' จะเป็นชนวนสงครามหรือไม่?

- พูดคุยคลายความตึงเครียด - รัฐบาลวอชิงตันและมอสโกประกาศในวันที่ 28 ธันวาคม ว่าพวกเขาจะจัดการเจรจาในช่วงต้นเดือนมกราคมที่เจนีวา เกี่ยวกับความมั่นคงของยุโรปและความขัดแย้งในยูเครน

สองวันต่อมา ไบเดนเตือนปูตินว่า "การลดระดับการเผชิญหน้า" เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการแก้ปัญหาทางการทูตเพื่อยุติความขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2022 ไบเดนบอกกับเซเลนสกีผู้นำยูเครนว่าวอชิงตันและพันธมิตรจะ "ตอบสนองอย่างเด็ดขาด" หากรัสเซียพยายามจะรุกราน

- ภัยคุกคาม 'ของจริง' - ในวันที่ 5 โจเซป บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปให้คำมั่นว่าทางกลุ่มจะสนับสนุนยูเครนอย่างเต็มที่ ขณะที่เขาเยือนแนวหน้าทางตะวันออก

ขณะที่พันธมิตรของนาโตประชุมกันในวันที่ 7 มกราคม เจนส์ สโตลเทนเบิร์ก หัวหน้ากลุ่มพันธมิตรนาโต เตือนว่าการรุกรานยูเครนของรัสเซียครั้งใหม่ยังคงเป็น "เรื่องจริง"

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าการแก้ปัญหาทางการฑูตเป็นไปได้ เขาสัญญากับรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนว่าจะไม่หารือเกี่ยวกับอนาคตของยูเครนโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของยูเครน

เมื่อวันที่ 8 มกราคม เจ้าหน้าที่อาวุโสของทำเนียบขาวกล่าวว่าสหรัฐ พร้อมที่จะหารือกับรัสเซียเกี่ยวกับระบบขีปนาวุธและการฝึกซ้อมทางทหารของทั้งสองประเทศ

การเจรจาที่เจนีวามีกำหนดจะเริ่มขึ้นพร้อมกับงานเลี้ยงอาหารค่ำในคืนวันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม

Photo by Angela WEISS and Alexey DRUZHININ / AFP