posttoday

เมื่อสองโรคผนึกกำลัง จะแยกไข้หวัดจากโควิดอย่างไร?

02 มกราคม 2565

ผู้เชี่ยวชาญมีคำตอบให้กับกระแสความสงสัยที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวที่มีไข้หวัดระบาดตามฤดูกาล และยังเกิดการระบาดระลอกใหม่ของโอมิครอน รวมถึงการปรากฏตัวของ 'Flurona' รายแรกในอิสราเอล ที่ติดโควิดพร้อมกับเป็นไข้หวัด

ดร.อับดุล เอล-ซาเยด (Dr. Abdul El-Sayed) นักระบาดวิทยาและอดีตผู้อำนวยการบริหารแผนกสุขภาพเมืองดีทรอยต์ กล่าวกับ CNN ว่า สัญญาณเริ่มต้นของไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 มีแนวโน้มใกล้เคียงกัน และตามรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ทั้งโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่มักทำให้เกิดอาการคล้ายๆ กัน เช่น มีไข้ เหนื่อยล้า ปวดเมื่อยตามร่างกาย เจ็บคอ หายใจลำบาก และอาเจียนหรือท้องร่วง

อย่างไรก็ตาม ดร.อับดุล เอล-ซาเยด ชี้ว่าการติดเชื้อโควิด-19 สามารถแยกจากไข้หวัดได้ตรงที่ที่มักตามมาด้วยอาการปวดศีรษะและอาการไอแห้งๆ การสูญเสียรสชาติและกลิ่นซึ่งเป็นสัญญาณเตือนที่ใหญ่ที่สุดของการติดเชื้อโควิด-19 แม้ว่าตอนนี้การสูญเสียรสชาติและกลิ่นจะพบไม่บ่อยนักเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่พบตอนนี้

ด้าน USA Today มีรายงานเรื่อง "การตรวจสอบข้อเท็จจริง: สายพันธุ์โอมิครอนของโคโรนาไวรัสไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา" หลังจากมีข่าวปลอมที่แพร่หลายที่สุดอย่างหนึ่งคือการอ้างว่าโควิด-19 และล่าสุดคือสายพันธุ์โอมิครอนเป็นเพียงอีกสายพันธุ์หนึ่งของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล โดยมีการโพสต์ในเฟซบุคบอกว่า "โอมิครอนเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา"

USA Today ระบุว่าอาการที่รายงานบ่อยที่สุดของโอมิครอนคล้ายกับอาการของโรคไข้หวัด ได้แก่ น้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ และเมื่อยล้า

แต่ทั้งสองไม่เหมือนกัน ที่เด่นชัดที่สุดคือที่มา เพราะโควิด-19 เกิดจากไวรัสชนิดอื่น เพราะแม้ว่าโคโรนาไวรัสในมนุษย์สามารถทำให้เกิดโรคไข้หวัดได้ แต่ไรโนไวรัสเป็นต้นเหตุหลักของไข้หวัดต่างหาก

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าไข้หวัดธรรมดาและไวรัสโอมิครอนมีความแตกต่างกันในแง่ของความรุนแรง

สถาบันการแพทย์ Mayo Clinic กล่าวบนเว็บไซต์ว่าโดยทั่วไปผู้คนจะหายจากโรคหวัดภายใน 7 ถึง 10 วัน และการติดเชื้อโดยทั่วไปไม่ต้องการการรักษาพยาบาล ขณะที่ดร.แดเนียล คัลเวอร์ (Dr. Daniel Culver) หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์โรคปอดที่คลีฟแลนด์คลินิกกล่าวว่าในทางกลับกัน โอมิครอนอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรงมากขึ้นได้ ส่วนไข้หวัดนั้นมีอาการเบาและจำกัด

เจเรมี ลูแบน (Jeremy Luban) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อแห่งมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ กล่าวผ่านอีเมลมาถึง USA Today ว่าในขณะที่คนที่อ่อนแออาจเสียชีวิตจากการติดเชื้อไรโนไวรัส (ไข้หวัดธรรมดา) เป็นครั้งคราว แต่ก็ "ค่อนข้างหายาก" ในขณะที่โคโรนาไวรัส "ร้ายแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต" มากกว่าไข้หวัด

Photo by Alberto PIZZOLI / AFP