posttoday

ส่องความสำเร็จ NASA ส่งยานแตะดวงอาทิตย์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

17 ธันวาคม 2564

NASA ส่งยานแตะดวงอาทิตย์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ก้าวสำคัญในการไขความลับของดวงอาทิตย์-อิทธิพลต่อระบบสุริยะ

Parker Solar Probe ยานสำรวจขององค์การอวกาศสหรัฐ (NASA) สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ด้วยการเดินทางเข้าสู่ชั้นบรรยากาศชั้นบนของดวงอาทิตย์ หรือ Corona ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ที่มียานอวกาศสามารถแตะดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการไขความลับของดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ที่สุดของเรา และศึกษาอิทธิพลของมันที่มีต่อระบบสุริยะ

โทมัส ซูร์บูเชน รองผู้บริหารกรมภารกิจวิทยาศาสตร์ (Science Mission Directorate) ของ NASA กล่าว่านี่คือช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ของวงการวิทยาศาสตร์ และเป็นความสำเร็จที่น่าทึ่ง ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เราเข้าใจถึงวิวัฒนาการของดวงทิตย์และผลกระทบที่มีต่อระบบสุริยะของเราเท่านั้น แต่ทุกสิ่งที่เราจะได้เรียนรู้หลังจากนี้จะช่วยในการทำความเข้าใจดาวดวงอื่นๆ ในจักรวาลเพิ่มเติมด้วย

เนื่องจากการที่มันเข้าใกล้พื้นผิวดวงอาทิตย์มากขึ้น หมายความว่ามันกำลังค้นพบสิ่งใหม่ๆ ที่ยานอวกาศลำอื่นอยู่ไกลเกินกว่าจะมองเห็น

ในระหว่างการทำภารกิจ Parker Solar Probe เดินทางเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นผิวดวงอาทิตย์ราว 6.5 ล้านไมล์ ซึ่งสามารถช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทำความเข้าใจว่าเหตุการณ์บนดวงอาทิตย์ส่งผลต่อบรรยากาศและลมสุริยะอย่างไร

NASA ชี้ว่าดวงอาทิตย์ไม่มีพื้นผิวแข็ง แต่มีสสารสุริยะที่ร้อนระอุประกอบกันเป็นชั้นบรรยากาศ Corona ที่ห่อหุ้มดวงอาทิตย์ โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงและพลังคลื่นแม่เหล็ก

ทั้งนี้ Parker Solar Prob เริ่มเดินทางออกจากโลกในวันที่ 12 ส.ค. 2018 โดยมุ่งที่จะโคจรรอบดวงอาทิตย์ และเดินทางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ยานดังกล่าวยังเคยทำสถิติเป็นยานอวกาศที่เร็วที่สุดด้วยความเร็ว 586,864 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

โดยขณะนี้ยังมีคำถามอีกมากมายที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการหาคำตอบ อาทิ ลักษณะของดวงอาทิตย์และอิทธิพลของมันในฐานะศูนย์กลางของระบบสุริยะ ทำความเข้าใจปรากฏการณ์พายุสุริยะซึ่งสามารถกระทบต่อโลก และสาเหตุที่ชั้นบรรยากาศ Corona มีอุณภูมิสูงกว่าพื้นผิวของดวงอาทิตย์หลายร้อยเท่า

ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษากันต่อไป และคาดว่าในอนาคตข้างหน้า Parker Solar Prob จะเดินทางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ และอาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทำความเข้าใจดาวฤกษ์ดวงนี้ได้มากขึ้น

Photo by EUROPEAN SPACE AGENCY / AFP