posttoday

ไทยจะจมทะเลไหม? เมื่อธารน้ำแข็งยักษ์ขั้วโลกใต้กำลังละลาย

15 ธันวาคม 2564

ธารน้ำแข็งทเวตส์กำลังละลายอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดไว้ อาจทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นถึง 3 เมตรในอีกไม่กี่ปี

ทีมวิจัยจากสหรัฐและสหราชอาณาจักรซึ่งทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของธารน้ำแข็งทเวตส์ ธารน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอนตาร์กติกา แถลงในการประชุมประจำปีของ American Geophysical Union (AGU) โดยเตือนว่าธารน้ำแข็งกำลังละลายลงอย่างรวดเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และละลายเร็วขึ้นถึง 2 เท่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจพังทลายลงในไม่กี่ปีข้างหน้า

รายงานระบุว่า ธารน้ำแข็งทเวตส์ ซึ่งมีขนาดใหญ่พอๆ กับสหราชอาณาจักรหรือฟลอริดา มีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร และลึกประมาณ 800 ถึง 1,200 เมตร บางครั้งถูกเรียกว่า "ธารน้ำแข็งแห่งวันสิ้นโลก" (Doomsday Glacier) เพราะการพังทลายของมันอาจทำให้ธารน้ำแข็งอื่นๆ ในแอนตาร์กติกาพังทลายไปด้วย ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 3 เมตร

ทเวตส์ สูญเสียน้ำแข็งไปประมาณ 595,000 ล้านตัน (540,000 ล้านเมตริกตัน) ตั้งแต่ปี 1980 ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้น 4% นับแต่นั้นเป็นต้นมา

การศึกษาที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร The Cryosphere ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ระบุว่าธารน้ำแข็งทเวตส์และธารน้ำแข็งเกาะไพน์มีส่วนประมาณ 10% ของการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั่วโลก

ขณะนี้น้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นไม่เพียงแต่จะทำให้ธารน้ำแข็งทเวตส์ละลายเท่านั้น แต่ยังทำให้การยึดเกาะของธารน้ำแข็งใต้ทะเลสั่นคลอนยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อธารน้ำแข็งอ่อนตัวลงก็มีแนวโน้มที่จะมีน้ำแข็งแตกออกเป็นเสี่ยงๆ หรือหลุดออกจากแนวสันดอนภายใน 3 ปีข้างหน้านี้ โดยภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงให้เห็นรอยแยกใหม่บนพื้นผิวของน้ำแข็ง

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในธารน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในแอนตาร์กติกาอาจเกิดขึ้นภายใน 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า โดยดร.เอริน เพตติต จากมหาวิทยาลัย Oregon State University อธิบายว่ารอยแตกของน้ำแข็งคล้ายกับรอยร้าวบนกระจกรถ ซึ่งจะรอยร้าวจะค่อยๆ ขยายขึ้นเรื่อยๆ และหากได้รับการกระทบกระเทือนมันก็จะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ

สะเทือนถึงไทยไหม?

อย่างที่ทราบกันว่ากรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของเรา อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1.5 ถึง 2 เมตร ดังนั้นหากถึงวันที่ธารน้ำแข็งทเวตส์พังทลายลง ซึ่งนักวิจัยชี้ว่าจะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 3 เมตร ก็มีความเป็นไปได้ที่กรุงเทพมหานครจะได้รับผลกระทบไปด้วย

นอกจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วแผ่นดินก็กำลังทรุดตัวลงทุกปีๆ ซึ่งนอกจากการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติเองแล้ว การสูบน้ำบาดาล และการเติบโตของเมืองยิ่งส่งผลให้แผ่นดินกรุงเทพทรุดตัวเร็วขึ้น ประกอบกับพื้นดินซึ่งเป็นดินเหนียวที่มีความหนาแน่น ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดน้ำท่วมมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัย Deltares พบว่า ประเทศในแถบพื้นที่ราบลุ่มเสี่ยงต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และพื้นดินมีแนวโน้มที่จะจมเนื่องจากการทรุดตัว อาทิ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งหมายความว่าประชาชนจำนวนมากในประเทศเหล่านี้อาจต้องเผชิญภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งมีแนวโน้มเลวร้ายลงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ไม่ใช่แค่ธารน้ำแข็งทเวตส์

องค์กรการกุศลเพื่อการพัฒนา Christian Aid ของอังกฤษ เคยเตือนว่า 8 เมืองใหญ่ใกล้ชายฝั่งทั่วโลก รวมถึงลอนดอน เซี่ยงไฮ้ จาการ์ตา มะนิลา และกรุงเทพมหานคร จะจมบาดาลในอีก 14 ปีข้างหน้า เนื่องจากการเพิ่มระดับของน้ำทะเลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากการละลายของธารน้ำแข็งทเวตส์เท่านั้น แต่ยังมีน้ำแข็งในอีกหลายพื้นที่ทั่วโลกที่กำลังละลายลงไปเพราะภาวะโลกร้อน

โดยวารสาร Nature ตีพิมพ์บทความที่พบว่าการละลายของธารน้ำแข็งของโลกมีความเร็วเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วง 20 ที่ผ่านมา

รวมถึงน้ำแข็งกรีนแลนด์ ซึ่งหากมันละลายจนหมด น้ำทะเลจะสูงขึ้น 5 ถึง 7 เมตร โดยนอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว ยังมีจังหวัดอื่นที่จะจมไปด้วย เช่น สมุทรปราการ นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร จันทบุรี และตราด

ขณะที่การละลายของ ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัย ก็มีแนวโน้มว่าจะส่งผลสะเทือนมาถึงไทยเช่นกัน เนื่องจากธารน้ำแข็งหิมาลัยเป็นแหล่งน้ำจืดของแม่น้ำหลายสายในเอเชีย รวมทั้งแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศไทย ซึ่งหากธารน้ำแข็งหิมาลัยละลาย ระดับน้ำในทะเลจะสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อพื้นที่แถบชายฝั่ง

จากข้อมูลของศูนย์นานาชาติเพื่อการพัฒนาพื้นที่ภูเขาแบบบูรณาการ (ICIMOD) พบว่า หากธารน้ำแข็งหิมาลัยละลายทั้งหมดจะทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นราว 1.5 เมตร ยิ่งไปกว่านั้นในระยะยาวหากธารน้ำแข็งหิมาลัยละลายหมดแล้ว แม่น้ำสายสำคัญโดยเฉพาะแม่น้ำโขงที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนนับล้านจะขาดน้ำ ประเทศที่จะเดือดร้อนคือ ไทย ลาว เมียนมา จีน

นอกจากนี้ยังมี ภูเขาน้ำแข็ง 3 แห่งสุดท้ายในแอฟริกา ซึ่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) หน่วยงานด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติ (UN) ออกคำเตือนเมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมาว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขณะนี้กำลังจะทำให้ภูเขาน้ำแข็ง 3 แห่งสุดท้ายในแอฟริกาละลายหายไปภายใน 20 ปีข้างหน้า

โดยงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ระบุว่า ในปัจจุบันการละลายของธารน้ำแข็งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

ที่มา: BBC, Channel NewsAsia, Live Science

ภาพ: NASA