posttoday

เมื่อไหร่โควิดจะจบซะที ถอดบทเรียนจากไข้หวัดสเปน

09 ธันวาคม 2564

เราอยู่กับ Covid-19 มาเกือบจะ 2 ปี และมันยังมีสายพันธุ์ใหม่อย่างโอมิครอน (Omicron) ที่ถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลเกิดขึ้นมาอีก ซ้ำยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดในเร็วๆ นี้เสียด้วย

คำถามที่น่าจะคาใจใครหลายคนคือ แล้วเมื่อไหร่มันจะจบ

คนทั่วโลกต่างคาดหวังว่าวัคซีนจะช่วยนำพาโลกกลับสู่ภาวะปกติ และรัฐบาลหลายประเทศก็เริ่มวางแผนอยู่ร่วมกับ Covid-19 แล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์กลับเริ่มเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเชื้อโคโรนาไวรัส Sars-Cov-2 จะยังคงอยู่กับเราต่อไป

เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา วารสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำ Nature ได้ถามความเห็นนักภูมิคุ้มกันวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขกว่า 100 คนทั่วโลกว่า เชื้อ Sars-Cov-2 จะถูกขจัดให้หมดสิ้นไปจากโลกได้หรือไม่

ปรากฏว่าเกือบ 90% ของผู้ตอบคำถามระบุว่า "ไม่ได้" โดยให้เหตุผลว่ามีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเชื้อโคโรนาไวรัสน่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น (endemic) และจะยังคงแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ของโลกต่อไป

กรณีของ Covid-19 น่าจะเทียบเคียงได้กับการระบาดของ “ไข้หวัดสเปน” ซึ่งเริ่มระบาดเมื่อปี 1918 และคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกราว 50 ล้านคน นับเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ (pandemic) ที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่การระบาดของกาฬโรค

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและนักประวัติศาสตร์ระบุว่า หลังจากเวลาผ่านไปคนที่ติดเชื้อไข้หวัดสเปนเริ่มมีภูมิคุ้มกันและชีวิตกลับสู่ภาวะะปกติในช่วงต้นทศวรรษ 1920

แต่อีกมุมหนึ่งผู้เชี่ยวชาญพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไข้หวัดสเปนไม่เคยหายไปไหน โดยมันยังคงกลายพันธุ์ไปอย่างต่อเนื่องแล้วระบาดในมนุษย์ สุกร และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ แล้วเปลี่ยนสถานะจากโรคระบาดครั้งใหญ่ (pandemic) เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (seasonal flu) หรือโรคประจำถิ่น (endemic)

เจฟฟรีย์ ทาวเบนเบอร์เกอร์ (Jeffrey Taubenberger) หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ที่แยกและจัดลำดับพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดสเปนเป็นครั้งแรกในช่วงปลายทศวรรษ 1990 เผยว่า บางครั้งบางคราวลูกหลานโดยตรงของเชื้อไข้หวัดสเปนก็รวมตัวกับไข้หวัดนก (bird flu) หรือไข้หวัดสุกร (swine flu) ก่อให้เกิดเชื้อใหม่ที่ทรงพลัง

เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 1957, 1968 และ 2009 และการระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ในครั้งต่อๆ มาล้วนเกิดขึ้นจากส่วนหนึ่งของเชื้อไข้หวัดสเปนซึ่งคร่าชีวิตผู้คนเพิ่มคนนับล้านๆ ทำให้เชื้อไข้หวัดสเปนได้รับการขนานนามว่าเป็น “มารดาแห่งการระบาดใหญ่ทั้งปวง” (the mother of all pandemic)

ไวรัสกลายพันธุ์เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

หลังจากคนทั่วโลกได้สัมผัสเชื้อและเกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ เชื้อไข้หวัดสเปนก็เริ่มกลายพันธุ์และค่อยๆ พัฒนาในกระบวนการที่เรียกว่า “การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆของเชื้อ” (antigenic drift)

ไข้หวัดสเปนเวอร์ชันที่มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยอุบัติขึ้นอีกในช่วงฤดูหนาวของปี 1919-1920 และ 1920-1921แต่ไม่รุนแรงและแทบไม่ต่างจากไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

แต่ที่น่าทึ่งกว่านั้นคือ ทาวเบนเบอร์เกอร์เผยว่า จากการวิเคราะห์ยีนกลับพบว่าดูเหมือนว่าเชื้อไข้หวัดสเปนที่พบครั้งแรกในปี 1918 เป็นบรรพบุรุษโดยตรงของไข้หวัดตามฤดูกาลและไข้หวัดที่เป็นโรคระบาดใหญ่ที่เราเคยประสบมาในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา

“คุณยังคงพบชิ้นส่วนยีนของไวรัสไข้หวัดสเปนในไข้หวัดตามฤดูกาลที่ยังแพร่กระจายอยู่ในทุกวันนี้” ทาวเบนเบอร์เกอร์กล่าว “การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอในมุษย์ทุกคนตลอดช่วง 102 ปีที่ผ่านมาล้วนเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่พบในปี 1918”

ยุคแห่งโรคระบาดใหญ่

จนถึงขณะนี้ไข้หวัดสเปนเป็นโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดในช่วงศตวรรษที่ 20 และ 21 แต่มันไม่ใช่เชื้อเดียวที่ถูกจัดให้เป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ วันดีคืนร้ายยีนของเชื้อไวรัสจากสัตว์ก็เข้ามาผสมจนเกิดโรคใหม่

ทาวเบนเบอร์เกอร์บอกว่า หากสัตว์ตัวหนึ่งติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2 ชนิดต่างกันในช่วงเวลาเดียวกัน อาจจะเป็นไวรัสจากนก 1 ตัวและจากมนุษย์อีก 1 ตัว ยีนเหล่านี้สามารถรวมตัวกันพัฒนาเป็นไวรัสตัวใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนได้

ตัวอย่างเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1957 เมื่อเชื้อไวรัสไข้หวัดสเปนซึ่งเป็นเชื้อไวรัส H1N1 แลกเปลี่ยนยีนกับเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H2N2 ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกนับล้านคน

และเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 1968 (ไข้หวัดฮ่องกง) เป็นสายพันธุ์ H3N2 ที่มีผู้เสียชีวิตอีกราว 1 ล้านคน เช่นเดียวกับไข้หวัดหมูที่เกิดจากเชื้อสายพันธุ์ H1N1 ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกราว 21% ติดเชื้อในปี 2009

ทาวเบนเบอร์เกอร์เผยว่า กรณีของเชื้อไข้หวัดหมูมีภูมิหลังที่ซับซ้อนกว่า โดยเมื่อมนุษย์ติดเชื้อไข้หวัดสเปนเรายังส่งต่อเชื้อนี้ไปยังหมูด้วย หลังจากนั้นเชื้อไวรัสไข้หวัดสเปนสาขาหนึ่งปรับตัวเข้ากับหมูอย่างถาวรแล้วกลายเป็นไข้หวัดหมูที่พบในหมูในสหรัฐทุกปีหลังจากเชื้อไวรัสไข้หวัดสเปนระบาดไปทั่วโลกในปี 2009 สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดหมูแลกเปลี่ยนยีนกับทั้งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์และไข้หวัดนกจนกลายเป็นไข้หวัด H1N1 สายพันธุ์ใหม่ที่คล้ายคลึงกับเชื้อไข้หวัดสเปนมากกว่าเชื้อสายพันธุ์ไหนๆ ก่อนหน้านั้น

สรุปง่ายๆ คือ หลายล้านชีวิตที่สูญเสียไปหลังการระบาดของไข้หวัดสเปนล้วนมีต้นตอมาจากเชื้อไวรัสไข้หวัดสเปนทั้งหมด

“เรายังคงอยู่กับสิ่งที่ผมเรียกว่า ‘ยุคแห่งโรคระบาดครั้งใหญ่ 1918’ หลังจากผ่านมาแล้ว 102 ปี และผมไม่รู้ว่ามันจะจบเมื่อไหร่” ทาวเบนเบอร์เกอร์กล่าว

เช่นเดียวกับ แอน รี้ด (Ann Reid) ผู้อำนวยการบริหารศูนย์เพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์แห่งชาติที่ประสบความสำเร็จในการจัดลำดับพันธุกรรมเชื้อไวรัสไข้หวัดสเปนที่บอกว่า “ไข้หวัด 1918 ยังคงอยู่กับเรา มันไม่เคยหายไปไหน”สำหรับไข้หวัดสเปนนั้นในปี 1920 มันก็ยังเป็นภัยคุกคามมนุษย์อยู่ เพียงแต่มีคนเสียชีวิตจากโรคนี้น้อยลง

หากเทียบไข้หวัดสเปนกับ Covid-19 จะมีทั้งความเหมือนและความต่าง ที่เหมือนคือทั้งสองโรคนี้ต่างมาจากสัตว์ปีกคือจากนกและค้างคาว ทั้งสองชนิดเป็นไวรัสที่ก่อโรคทางเดินหายใจ ทั้งสองชนิดทำให้ผู้คนต้องสวมหน้ากากอนามัยและถูกล็อกดาวน์

ที่ต่างกันคือ โรคหนึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ อีกโรคหนึ่งเกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัส

เจเรมี กรีน นักประวัติศาสตร์การแพทย์จากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์เผยว่า การเข้าใจทั้งความเหมือนและความต่างของโรคระบาดใหญ่ในอดีตสามารถเป็นกระจกเงาที่มีความสำคัญให้กับปัจจุบันได้

เจ. อเล็กซานเดอร์ นาวาร์โร รองผู้อำนวยการศูนย์ประวัติศาสตร์การแพทย์เผยว่า “จุดจบของโรคระบาดใหญ่เกิดขึ้นเพราะไวรัสแพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้ผู้คนจำนวนมากพอติดเชื้อจนกระทั่งประชากรโลกไม่มีความอ่อนแอให้เชื้อกลายเป็นโรคระบาดใหญ่อีกครั้ง เมื่อมีคนที่มีภูมิคุ้มกันมากพอแล้ว การติดเชื้อจะค่อยๆ ลดลง เนื่องจากไวรัสหาโฮสต์ที่อ่อนแอได้ยาก”

นาวาร์โรกล่าวต่อว่า และในที่สุดเมื่อมีคนอ่อนแอน้อยลงก็ไม่มีที่ให้เชื้อไวรัสอีกต่อไป หรือก็คือการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ที่เรากำลังพูดถึงอยู่ในขณะนี้

สำหรับ Covid-19 ขณะนี้มีการสันนิษฐานกันว่าโอมิครอนอาจกำลังกลายเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ เนื่องจากจนถึงตอนนี้แม้จะแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่ความรุนแรงของมันดูเหมือนจะน้อยกว่าเดลตา และจนถึงขณะนี้ผ่านมาราว 2 สัปดาห์นับตั้งแต่พบการระบาดครั้งแรกที่แอฟริกาใต้ก็ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากสายพันธุ์นี้เลย

Photo by Frederic J. BROWN / AFP