posttoday

ไทยติดท็อป 5 ประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพพร้อมรับมือโรคระบาด

09 ธันวาคม 2564

รายงานล่าสุดเตือนว่าแม้จะเจอโควิดมาเกือบ 2 ปีแล้วแต่โดยรวมโลกยังคงไม่ได้เตรียมพร้อมอย่างอันตรายสำหรับโรคระบาดใหญ่ครั้งต่อไป

รายงานดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพโลก หรือ Global Health Security Index (GHS) ประจำปี 2021 ซึ่งจัดทำโดยทีมนักวิจัยโครงการ Nuclear Threat Initiative มหาวิทยาลัยจอห์นฮอพกินส์ และ The Economist Intelligence Unit ซึ่งเป็นหน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของนิตยสาร The Economist

ประเมินความมั่นคงทางสุขภาพอนามัยของ 195 ประเทศ โดยวิเคราะห์ปัจจัยที่สำคัญ 6 ปัจจัย ได้แก่ การป้องกัน การตรวจจับและรายงาน ความรวดเร็วในการโต้ตอบและรับมือ ระบบสาธารณสุข มาตรฐานการปฏิบัติตามบรรทัดฐานโลก และความเสี่ยงต่างๆ

พบว่าไทยมีความพร้อมในอันดับที่ 5 ของโลก ด้วยคะแนน 68.2 จาก 100 คะแนน ลดลงจากปี 2019 ที่อยู่ในอันดับ 6 0.7 คะแนน รวมทั้งเป็นอันดับ 1 ของประเทศอาเซียน และอันดับ 1 ของประเทศรายได้ปานกลางในระดับสูง 56 ประเทศที่ทำการสำรวจ

ขณะที่อันดับ 1 เป็นของสหรัฐซึ่งอยู่ในอันดับเดียวกันเมื่อปี 2019 โดยปีนี้ได้คะแนน 75.9 ตามด้วยออสเตรเลีย ฟินแลนด์ แคนาดา ส่วนคะแนนเฉลี่ยของทั้งโลกอยู่ที่ 38.9 ใกล้เคียงกับปี 2019 ที่ 40.2 และไม่มีประเทศใดที่ถูกประเมินให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความพร้อมมากที่สุดซึ่งเริ่มตั้งแต่คะแนน 80.1

อย่างไรก็ดี ประเทศที่ติดอันดับหัวตารางสร้างความประหลาดใจให้ผู้เชี่ยวชาญบางราย เนื่องจากบางประเทศถูกมองว่าล้มเหลวในการรับมือกับโรคระบาดครั้งใหญ่

เอซีคิเอล เจ. เอ็มมานูเอล นักชีวจริยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ระหว่างการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เผยกับ New York Times ว่า “จริงเหรอ สหรัฐ ที่ 1 เนี่ยนะ? ผมไม่คิดว่าการจัดอันดับนี้น่าเชื่อถือนะ”

ทว่า เจนนิเฟอร์ นุซโซ นักระบาดวิทยาจาก Bloomberg School และหนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยเผยกับ New York Times ว่า ดัชนีดังกล่าวออกแบบมาเพื่อประเมินเครื่องมือและทรัพยากรที่แต่ละประเทศมีอยู่ในมือเท่านั้น ไม่ได้คาดการร์ว่าทรัพยากรเหล่านั้นจะถูกนำมาใช้ในกรณีฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด

“แค่มันปรากฏในกระดาษไม่ได้หมายความว่ามันจะถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์”

นอกจากนี้ ในปีนี้โดยรวมแล้วยังไม่มีประเทศใดเตรียมตัวได้ดีขึ้นจากรายงานเมื่อปี 2019 ซึ่งระบุไว้ว่า ไม่มีประเทศใดที่พร้อมเต็มร้อยในการรับมือโรคระบาดครั้งใหญ่ (pandemic) หรือโรคระบาด (epidemic)

รายงานปีนี้พบว่า มากกว่า 90% ของประเทศต่างๆ ไม่มีแผนในการกระจายวัคซีนหรือเวชภัณฑ์ต่างๆ ระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะที่ 70% ยังขาดโรงพยาบาล คลินิก หรือศูนย์สุขภาพที่เพียงพอ อีกทั้งความเสี่ยงทางการเมืองและความมั่นคงยังเพิ่มขึ้นทั่วโลก และความเชื่อมั่นในรัฐบาลก็ลดลง

รายงานยังพบอีกว่า แม้ว่าหลายประเทศจะจัดสรรทรัพยากรเพื่อรับมือกับวิกฤต Covid-19 ที่รุนแรง แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ลงทุนโดยเฉพาะในการปรับปรุงการเตรียมพร้อมในกรณีฉุกเฉินโดยรวม

Photo by Handout / ROYAL THAI GOVERNMENT / AFP