posttoday

ไร้เงาไทย ร่วมต้านเผด็จการ "ประชุมสุดยอดประชาธิปไตย"

24 พฤศจิกายน 2564

สหรัฐเป็นเจ้าภาพการประชุม The Summit for Democracy ที่อาจสะเทือนทิศทางการเมืองโลก แต่กลับไม่มีชื่อประเทศไทยในหมู่ผู้เข้าร่วม

ในวันที่ 9-10 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดเสมือนจริงกับผู้นำจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนจากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเรียกว่า "การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย" หรือ The Summit for Democracy

แถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐระบุว่า "การประชุมสุดยอดจะมุ่งเน้นไปที่ความท้าทายและโอกาสที่ต้องเผชิญกับระบอบประชาธิปไตย และจะเป็นเวทีสำหรับผู้นำในการประกาศความมุ่งมั่นทั้งส่วนตัวและส่วนรวม การปฏิรูปและการริเริ่มเพื่อปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศและต่างประเทศ"

แกนหลักของการประชุมมี 3 ข้อคือ 1. ต่อต้านเผด็จการ 2. รับมือและปราบปรามการทุจริต 3. ส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน

โดยผู้นำต่างๆ จะได้รับการสนับสนุนให้ประกาศการดำเนินการเฉพาะและความมุ่งมั่นในการปฏิรูปภายในที่มีความหมายและการริเริ่มระดับนานาชาติที่นำไปสู่เป้าหมายของการประชุมสุดยอด คำมั่นสัญญาเหล่านี้จะรวมถึงการริเริ่มในประเทศและระหว่างประเทศที่ต่อต้านลัทธิเผด็จการ ต่อสู้กับการทุจริต และส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน

การประชุมครั้งนี้ เริ่มดุเดือดขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนมีรายงานว่ารัฐบาลไบเดนได้เชิญไต้หวันเข้าร่วม "การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย" ในเดือนหน้า ตามรายชื่อผู้เข้าร่วมที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร โดยกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันกล่าวว่ารัฐบาลจะมีผู้แทนจากรัฐมนตรีดิจิทัล คือออเดรย์ ถัง ( Audrey Tang) และเซียวเหม่ยฉิน (Hsiao Bi-khim) ผู้แทนไต้หวันประจำกรุงวอชิงตันเป็นตัวแทน

ไต้หวันยังขอบคุณประธานาธิบดี โจ ไบเดนที่เชิญเขาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดประชาธิปไตย โดยซาเวียร์ จาง โฆษกประจำทำเนียบประธานาธิบดีกล่าวในแถลงการณ์ต่อผู้สื่อข่าวว่า "โดยผ่านการประชุมดังกล่าวจะทำให้ไต้หวันแสดงให้เห็นไเห็นว่าสามารถแบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จในระบอบประชาธิปไตยได้”

ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที เมื่อกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวเมื่อวันพุธแถลงว่าไม่เห็นด้วยกับสหรัฐอย่างแข็งขันที่จะเชิญไต้หวันเข้าร่วม "การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย" ในเดือนหน้า

กระทรวงต่างประเทศของจีนยังกล่าวว่าสหรัฐ กำลังใช้ระบอบประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการกดขี่ประเทศอื่นๆ แบ่งแยกโลก

ในวันเดียวกับที่สหรัฐเผยรายชื่อประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดสะเทือนโลกในครั้งนรี้ ซึ่งมีรายชื่อของไต้หวันด้วยนั้น กลับไม่พบชื่อของประเทศไทย

ขณะที่เพื่อนบ้านอาเซียนของไทยที่เข้าร่วมคือ อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย แต่ไม่สิงคโปร์

การเลือกประเทศที่จะเข้าร่วมกลายเป็นประเด็นโต้แย้งจากรัสเซียด้วย โดยชี้ว่าสหรัฐพยายามแบ่งแยกประเทศต่างๆ สะท้อนถึงความพยายามในการแยกจีนและรัสเซียให้เป็น "ฝ่ายเผด็จการ/อำนาจนิยม"

รัฐบาลรัสเซียกล่าวเมื่อวันพุธว่าการประชุมสุดยอดเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่จัดขึ้นโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐมีเป้าหมายที่จะ "แบ่งแยกประเทศ" หลังจากที่รัสเซียไม่รวมอยู่ในรายชื่อแขก

“สหรัฐชอบที่จะสร้างเส้นแบ่งใหม่ เพื่อแบ่งประเทศออกเป็นประเทศที่ดีและไม่ดี” มิทรี เปสคอฟ โฆษกเครมลินกล่าวกับผู้สื่อข่าว

รายชื่อประเทศทั้งหมดที่เข้าร่วมคือ แอลเบเนีย, แองโกลา, แอนติกาและบาร์บูดา, อาร์เจนตินา, อาร์เมเนีย, ออสเตรเลีย, ออสเตรีย, บาฮามาส, บาร์เบโดส, เบลเยียม, เบลีซ, บอตสวานา, บราซิล, บัลแกเรีย, กาบูเวร์ดี, แคนาดา, ชิลี, โคลอมเบีย, คอสตาริกา, โครเอเชีย, ไซปรัส, สาธารณรัฐเช็ก, สาธารณรัฐ ประชาธิปไตยคองโก, เดนมาร์ก, โดมินิกา, สาธารณรัฐโดมินิกัน, เอกวาดอร์, เอสโตเนีย, ฟิจิ, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, จอร์เจีย, เยอรมนี, กานา, กรีซ, เกรเนดา, กายอานา, ไอซ์แลนด์, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิรัก, ไอร์แลนด์, อิสราเอล, อิตาลี, จาไมก้า, ญี่ปุ่น, เคนยา, คิริบาส, โคโซโว, ลัตเวีย, ไลบีเรีย, ลิทัวเนีย, ลักเซมเบิร์ก, มาลาวี, มาเลเซีย, มัลดีฟส์, มอลตา, หมู่เกาะมาร์แชลล์, มอริเชียส, เม็กซิโก, ไมโครนีเซีย, มอลโดวา, มองโกเลีย, มอนเตเนโกร, นามิเบีย, นาอูรู, เนปาล, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, ไนเจอร์, ไนจีเรีย, มาซิโดเนียเหนือ, นอร์เวย์, ปากีสถาน, ปาเลา, ปานามา, ปาปัวนิวกินี, ปารากวัย, เปรู, ฟิลิปปินส์, โปแลนด์, โปรตุเกส, โรมาเนีย, เซนต์คิตส์และเนวิส, เซนต์ลูเซีย, เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ซามัว, เซาตูเมและปรินซิปี, เซเนกัล, เซอร์เบีย, เซเชลส์, สโลวาเกีย, สโลวีเนีย, หมู่เกาะโซโลมอน, แอฟริกาใต้, เกาหลีใต้, สเปน, ซูรินาเม, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, ไต้หวัน, ติมอร์-เลสเต, ตองกา, ตรินิแดดและโตเบโก, ตูวาลู, ยูเครน, สหราชอาณาจักร, อุรุกวัย, วานูอาตู, แซมเบีย

Photo by Brendan Smialowski / AFP