posttoday

ฮ่องกงโมเดลถึงไทยโมเดล เมื่ออำนาจรัฐพิฆาตการลุกฮือ

23 พฤศจิกายน 2564

ชำแหละยุทธศาตร์ "พยัคฆ์รอตะครุบเหยื่อ" ของฝ่ายรัฐในการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

มีบางคนบอกว่าการจับกุมผู้ประท้วงในไทยใช้แนวทางเดียวกับฮ่องกง หรือที่เรียกกันว่า "ฮ่องกงโมเดล"

ผู้เขียนไม่ทราบว่า "ฮ่องกงโมเดล" ในความหมายของคนเหล่านี้คืออะไร แต่ในความเข้าใจส่วนตัว "ฮ่องกงโมเดล" คือการที่รัฐทำตัวเหมือนอ้อลู่ลมในช่วงที่การประท้วงขึ้นสูง ปล่อยให้ผู้ชุมนุมแผลงฤทธิ์ให้มากที่สุดจนเหมือนกับฝ่ายรัฐยอมแพ้แล้ว

แต่เมื่อกระแสการประท้วงเริ่มถดถอยลง รัฐจะเปลี่ยนจากอ้อลู่ลมเป็นไม้ใหญ่ต้านลมในทันที ผู้ท้วงที่อ่อนแรงจะถูกบดขยี้ให้จนมุม ความผิดพลาดทั้งหลายที่ก่อขึ้นในช่วงกระแสูงของการลุกฮือจะถูกขุดขึ้นมาใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาล

ในช่วงที่การชุมนุมกำลังฮึกเหิมนั้น หลายคนมักจะ "ปล่อยเนื้อปล่อยตัว" กันง่ายเกินไป นี่เป็นเหตุให้ตกหลุมพรางที่ตัวเองขุดขึ้น

รัฐจะไม่ใช้การใช้อำนาจตามอำเภอใจ แต่จะใช้อำนาจตุลาการในการกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม แม้ในสายตาผู้อื่นจะมองว่าเป็นการรังแก แต่ในทัศนะของรัฐเรื่องนี้นับว่าชอบธรรม อย่างน้อยก็มีกฎหมายรองรับ

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกงและเกิดขึ้นในไทย อาจจะเรียกได้ว่าเกิดขึ้นคู่ขนานกันเลยก็ว่าได้

เพราะในขณะที่ทางการ "เชือด" แกนนำประท้วงในไทยทีละคนสองคน ฮ่องกงก็โยนแกนนำเข้าคุกอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

รายล่าสุดคือ โทนี จง หรือ "จงห่อนหลั่ม" นักศึกษาวัย 20 ปีที่เคลื่อนไหวมาตั้งแต่สมัยมัธยม

โทนี จง อาจไม่ใช่ตัวเด่นตัวดังนักเมื่อเทียบกับโจชัว หว่อง แต่เป็นคนที่ทางการฮ่องกง (หรือที่จริงคือทางการจีน) มองว่าเป็นตัวอันตรายที่สุดรายหนึ่ง เพราะเป็นคนที่ผลักดันเรื่อง "เอกราชของฮ่องกง"

โทนี จง ไม่ยำเกรงจีนถึงขนาดเคยปลุกระดมให้ประชาชนร่วมการประท้วงและ "กำจัดการปกครองโดยเจ้าอาณานิคมจีน"

นี่เป็นส่วนน้อย หลักฐานที่ทางการฮ่องกงยื่นต้องศาลคือโพสต์โซเชียลมากวก่า 1,000 โพสต์ที่ว่าด้วยการเรียกร้องเอกราชฮ่องกง การสร้างสาธารณรัฐฮ่องกง และการขับไล่จีน

แค่นี้ก็เข้าทางกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเข้าอย่างจังแล้ว และเป็นผลให้โทนี จง โดนคุกไป 43 เดือนในข้อหาเป็นกบฎคิดแบ่งแยกดินแดน

แต่ที่พึงสังเกตคือคำตัดสินของศาลที่บอกว่า "แม้เขาจะไม่มีแผนการเป็นรูปธรรม แต่จุดประสงค์ของเขาชัดเจนอย่างมาก"

ฟังแล้วคลับคล้ายคลับคลากับคำตัดสินของศาลในบางประเทศ

นี่คือการใช้อำนาจตุลาการจัดการกับฝ่ายต่อต้านอย่างแท้จริง และอย่างที่บอกไปก็คือ มันโต้แย้งเรื่องความชอบธรรมได้ยาก ในกรณีของกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกงนั้น นานาประเทศได้แต่เรียกร้องให้จีนทบทวนเรื่องนี้

แต่แทบไม่มีใครที่ชี้ว่ามันไม่ชอบธรรม นั่นก็เพราะกระบวนการที่ได้มาซึ่งกฎหมายชอบธรรม ส่วนกระบวนการใช้กฎหมายจะชอบธรรมหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง

สิ่งที่ฝ่ายเพ่งเล็งจีนทำได้คือทันที่จีนดันกฎหมายนี้ใช้กับฮ่องกง ประเทศเหล่านี้ระงับข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับฮ่องกงแทบจะในพลัน เพื่อไม่ให้ฮ่องกง/จีนมีข้ออ้างในการเรียกแกนนำที่ผิดตามกฎมายความมั่นคงแห่งชาติกลับไปรับโทษ

แต่ถึงขนาดนี้แล้วหลายประเทศก็ยังช้ากว่าจีนและฮ่องกงไปหลายขุม

หลายกรณีแกนนำในฮ่องกงเลือกที่จะไม่หนีไปเอง หากไม่เป็นเพราะมั่นใจว่าตัวเองต้องรอด ก็คงเพราะคาดเดาสถานการณ์ผิดไปหลายขุม

อย่างโทนี จงนั้นเคยบอกกับ Hong Kong Free Press ในปี 2017 ว่า “ในอีก 5 ปีข้างหน้า กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติอาจถูกประกาศใช้ หรือผมอาจถูกตั้งข้อหากระทำความผิด… ผมไม่สามารถพูดได้ว่าผมต้องอยู่ (ที่ฮ่องกง) ต่อไป" 

ปรากฎว่าไม่ถึง 5 ปีอย่างที่เขาทำนาย กฎหมายความมั่นคงออกมาและประกาศใช้ทันทีวันที่ 10 มิถุนายน 2020 -  โทนี จง หนีไม่ทันเสียแล้ว 

อำนาจรัฐที่ทำตัวราวกับพยัคฆ์รอตะครุบเหยื่อนั้นจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเหยื่อไม่ระแวงระวังหรือแม้แต่ย่ามใจมากเกินไป นั่นเพราะเหยื่อคิดว่าพยัคฆ์ที่หมอบอยู่นั้นไร้เขียวเล็บ โดยไม่รู้ว่าพยัคฆ์นั้นต่อให้แก่ชราแค่ไหนก็ไม่ไร้เขี้ยวเล็บ

โทนี จง อาจเป็นแค่แอ็กทิวิสต์ที่ไม่ได้มีอิทธิพลอะไรนัก จะว่าไปแล้วเป็นแค่นักเรียนนักศึกษาที่ "บ้าบิ่น" คนหนึ่ง

เพียงแต่การเล่นงานเขามันสำคัญตรงที่เป็นการโชว์เขี้ยวเล็บให้สะดุ้งกันไปตามๆ ว่าอย่าได้ท้าทายเสือร้ายอีก

นี่เป็นการตอกฝาโลงขบวนการอื่นด้วยก็ว่าได้ เพราะขบวนการเอกราชฮ่องกงนั้นจิ๊บจ๊อยมาก คนฮ่องกงน้อยถึงน้อยมากที่สนับสนุนเรื่องนี้

แม้มันจะเป็นขบวนการเคลื่อนไหวในวงแคบ แต่ทางการฮ่องกงกับจีนไม่ยอมเก็บมันไว้ และเชือดหัวด้วยโทษหนักพอสมควร (เพราะยังไม่ได้ลงมืออะไรด้วยซ้ำตามที่ศาลว่า)

สิ่งที่จีนมีความอดทนด้วยน้อยที่สุดคือการแบ่งแยกดินแดน การเป็นขบถ และการท้าทายหลักการจีนเดียว

ในไทยเองก็มี "เส้น" ที่วาดเอาไว้ไม่ให้ล้ำเช่นกัน เมื่อล้ำเส้นนี้แล้ว มักจะต่อรองกับอำนาจรัฐลำบาก ดังนั้นโอกาสจะจบแบบโทนี จง หรืออาจะเลวร้ายกว่ามีสูงมาก

และดูเหมือนว่าอำนาจรัฐไทยจะมีความ "ด้าน" ต่อการกดันจากภายนอกมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีเสียงติงจากภายนอกว่ารัฐบาลไทย "ละเมิดสิทธิมนุษยชน"

ในวันที่โทนี จงแห่งฮ่องกงถูกพิพากษานั้น กิลเลียน ทริกส์ (Gillian Triggs) เจ้าหน้าที่อาวุโสของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประณามรัฐบาลไทยที่ส่งตัวผู้ลี้ภัย (การเมือง) ชาวกัมพูชากลับประเทศ

คนล่าสุดที่เป็นคนที่ 3 คือ ลาญ ถาวรี (Thavry Lanh) สมาชิกพรรคสงเคราะห์ชาติ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านกัมพูชาถูกยุบไปแล้ว

ลาญ ถาวรีหนีมาไทยเมื่อ 4 ปีก่อนหลังเกิดการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามกับนายกรัฐมนตรีฮุน เซน แต่ในปีนี้ทางการไทยส่งกลับผู้ลี้ภัยที่ขึ้นทะเบียนกับ UNHCR แบบรัวๆ คืนให้กัมพูชาในเวลาเพียง 10 วัน

ลาญ ถาวรีมีคดีติดตัวที่กัมพูชาคือ "กบฏ/ล้มล้างการปกครอง" นับเป็นข้อหาเดียวกับโทนี จง และแกนนำประท้วงบางคนในไทย

เจ้าหน้าที่ UNHCR บอกว่า "การเคลื่อนไหวดังกล่าว (ของทางการไทย) ขัดต่อหลักการไม่ส่งตัวกลับประเทศ ซึ่งประเทศต่างๆ ถูกห้ามไม่ให้ส่งผู้คนกลับไปยังสถานที่ที่ชีวิตหรือเสรีภาพของพวกเขาตกอยู่ในอันตราย"

แต่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของไทยบอกว่า "นายกฯ ชี้แจงว่าเป็นหลักการด้านการต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งต้องคำนึงถึงกฎหมายไทย กระบวนการยุติธรรมของไทยที่ได้มีการดำเนินการหลายประเทศ โดยที่ไทยต้องไม่เสียประโยชน์ใดๆ" (จากการรายงานของ MGR online)

ขณะที่สื่อต่างประเทศอย่าง AFP ใช้คำว่า "This is in line with foreign affairs principles. Many countries are implementing this and Thailand shouldn't be at a disadvantage,"

แปลจาก AFP ก็คือ "หลายประเทศก็ปรับใช้แบบนี้และประเทศไทยไม่ควรอยู่ในสถานะเสียเปรียบ" เรียกว่าความหมายต่างกันพอสมควร 

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม คำตอบของนายกฯ ที่ว่า "หลักการด้านการต่างประเทศอยู่แล้ว" ก็เป็นการอ้างความชอบธรรมตามกฏหมายอย่างหนึ่ง

ดังนั้น การจัดการกับฝ่ายตรงข้ามไม่ว่าจะในไทย ในฮ่องกง ในกัมพูชา การใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐจะน้อยลง แต่การใช้อำนาจฝ่ายตุลาการจะมีมากขึ้น

ต่อให้ประชาคมโลกต่อว่า รัฐก็มีเหตุผลให้เถียงได้ว่า "เราไม่ได้ละเมิดกฎหมาย พวกนั้นต่างหากที่ทำ"

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by ISAAC LAWRENCE / AFP