posttoday

ไขปริศนา ทำไมยุโรปถึงได้เจอโควิดหนักอีกระลอก?

23 พฤศจิกายน 2564

สถานการณ์การ Covid-19 ในยุโรปหนักถึงขั้นที่องค์การอนามัยโลก “กังวลอย่างยิ่ง” และเตือนว่าการระบาดระลอกใหม่อาจมีคนเสียชีวิตเพิ่มอีก 500,000 คนภายในเดือน ก.พ.ปีหน้า

คำถามก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับยุโรป ทำไมถึงกลับมาเป็นศูนย์กลางการระบาดอีกครั้งจนต้องงัดมาตรการต่างๆ นานามาใช้จนเกิดการประท้วงวุ่นวายในหลายประเทศ

ฉีดวัคซีนน้อย ประชาชนลังเล

ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปโดยเฉพาะฝั่งตะวันตกมีสัดส่วนการฉีดวัคซีนอยู่ที่ราว 65-70% ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่ายังไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการระบาดของสายพันธุ์เดลตา หากจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต้องฉีดวัคซีนสูงถึง 90-95%  

จากข้อมูลของ Our World In Data เยอรมนีฉีดวัคซีนครอบคลุม 70.4% ของประชากรทั้งหมด โดยมีคนที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว 67.9% แต่เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด

สถาบันการแพทย์โรเบิร์ต ค็อค (Robert Koch Institute-RKI) ในเยอรมนีระบุว่า ล่าสุดอัตราการติดเชื้อของเยอรมนีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 372.7 ต่อ 100,000 คน โดยในช่วง 7 วัน ระหว่างวันที่ 15-21 พ.ย.ที่ผ่านมา อัตราการติดเชื้อต่อจำนวนประชากร 100,000 คนเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว และเกือบ 1 ใน 3 ของคนที่ติดเชื้อคือคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน

ขณะที่ฝั่งยุโรปตะวันออกการฉีดวัคซีนยิ่งต่ำลงไปอีก อาทิ บัลแกเรีย 23%, โรมาเนีย 35%, ยูเครน 16% ขณะที่หลายประเทศประชาชนยังลังเลที่จะฉีดวัคซีน

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากทางการของเยอรมนีและออสเตรียพบว่า หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นและรัฐบังคับใช้มาตรการสกัด Covid-19 ครั้งใหม่ ประชาชนเริ่มเปลี่ยนใจออกมาฉีดวัคซีนเข็มแรกหรือเข็มกระตุ้นกันหลายหมื่นคน

ไขปริศนา ทำไมยุโรปถึงได้เจอโควิดหนักอีกระลอก?

แบบไหนเรียกว่าฉีดเยอะ

ไอร์แลนด์มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรปคือครอบคลุม 89.1% ของประชากรวัย 12 ปีขึ้นไป หรือราว 75% ของประชากรทั้งหมดมีภูมิคุ้มกันแล้ว แต่ก็ต้องกลับไปเคอร์ฟิวบาร์ ร้านอาหาร และไนต์คลับอีกครั้งเพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อและอัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 

ทว่าผู้เชี่ยวชาญบอกว่านี่ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ เนื่องจากคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีนแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ ในเคสของไอร์แลนด์คือ ประชากรราว 1 ล้านคนจาก 5 ล้านคนยังไม่ได้ฉีดวัคซีน

สถานการณ์นี้ แซม แม็คคองกีย์ จากมหาวิทยาลัย RCSI University ในกรุงดับลินเรียกว่าเป็น “โรคระบาดของคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การฉีดวัคซีน 70% และ 80% แตกต่างกันมาก เพราะยิ่งเปอร์เซ็นต์การฉีดสูงก็ยิ่งแยกผู้คนออกจากเชื้อไวรัสและลดภาระของโรงพยาบาลได้มาก แต่แม็คคองกีย์มองว่าด้วยความสามารถในการแพร่เชื้อของสายพันธุ์เดลตาในขณะนี้ ไม่มีประเทศใดเรียกตัวเองได้ว่า “ฉีดวัคซีนได้เยอะ” อย่างแท้จริงจนกว่าจะฉีดวัคซีนได้ 95% ขึ้นไป

วัคซีนไม่ใช่กระสุนเงิน

แม้ว่าวัคซีนที่ใช้ในขณะนี้จะมีประสิทธิภาพดีโดยเฉพาะการป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต และเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับไวรัส แต่วัคซีนเพียงอย่างเดียวยังไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้

หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ ในการหยุดยั้งการแพร่เชื้อ แม้แต่การฉีดวัคซีนในอัตราสูงๆ ก็ยังไม่ดีพอเสมอไป ดังที่ ฮาล์ฟ ไฮน์เจส ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ฮัมบูร์กของเยอรมนีบอกว่า “วัคซีนช่วยได้ มันคือหินก้อนหนึ่งในกระบวนการหยุดยั้งไวรัส แต่วัคซีนอย่างเดียวยังไม่พอ”

ตัวอย่างกรณีนี้คือ สหราชอาณาจักรโดยเฉพาะในอังกฤษ คือนอกจากการระดมฉีดวัคซีนทั้งเข็มแรกและเข็มกระตุ้นแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้อัตราการติดเชื้อของอังกฤษคงที่คือภาคประชาชน

เกรแฮม เมดเลย์ ผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาการรับมือ Covid-19 แก่รัฐบาลอังกฤษเผยกับ BBC ว่า การตรวจหาเชื้อซึ่งเข้าถึงได้ง่ายในอังกฤษช่วยให้อังกฤษควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี

ภูมิคุ้มกันลด

ผลการศึกษาจากการใช้งานจริง 2 ชิ้นที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมายืนยันว่า ภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนของ Pfizer-BioNTech 2 เข็มจะเริ่มลดลงหลังจากผ่านไปแล้ว 2 เดือนหรือมากกว่านั้น แม้ว่าการป้องกันอาการรุนแรงและการเสียชีวิตยังสูงอยู่ เช่นเดียวกับวัคซีนของ AstraZeneca และ Moderna ที่ใช้ในยุโรปเช่นกัน  

การฉีดวัคซีนในยุโรปเริ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา นั่นหมายความว่าจนถึงตอนนี้ภูมิคุ้มกันของวัคซีนเริ่มลดลงแล้ว

รีบร้อนผ่อนคลายมาตรการ

มาตรการสกัดการแพร่ระบาดเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ตัวเลขเพิ่มหรือลดลงได้ ซึ่งหมายความว่าแม้เป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนได้เยอะ แต่หากมาตรการหละหลวมก็มีสิทธิ์เจอผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้

สเปนและโปรตุเกสซึ่งฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากร 80% และ 88% ตามลำดับเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในยุโรปที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่สูงมากจนน่าห่วงเหมือนประเทศรอบบ้าน และทั้งสองประเทศยังสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างกันอยู่

สำหรับสเปนการสวมหน้ากากอนามัยยังเป็นสิ่งที่ต้องทำเมื่ออยู่ในตัวอาคารและเมื่อใช้บริการขนส่งสาธารณะ อนา เอ็ม การ์เซีย ศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์ป้องกันและสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยวาเลนเซียบอกว่า ชาวสเปนส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างจนกลายเป็นเรื่องปกติ บางคนยังสวมหน้ากากอนามัยแม้จะอยู่กลางแจ้งซึ่งไม่ได้บังคับแล้วก็ตาม

เช่นเดียวกับโปรตุเกสที่ยังบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อใช้บริการขนส่งสาธารณะ

ทว่าเมื่อตัดภาพไปที่อีกหลายประเทศ ปรากฏว่ามีความใจร้อนผ่อนคลายมาตรการสกัด Covid-19 โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง ทำให้ผู้นำบางคนลังเลไม่กล้าบังคับใช้มาตรการจำกัดกิจกรรมต่างๆ ในช่วงก่อนเทศกาลคริสต์มาส

อย่างกรณีของเยอรมนี แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังพุ่งสูง ตามบาร์และตลาดคริสต์มาสของเยอรมนีก็ยังมีผู้คนเข้าไปใช้บริการเนืองแน่น (ก่อนเข้างานต้องตรวจใบรับรองการฉีดวัคซีน)

ไขปริศนา ทำไมยุโรปถึงได้เจอโควิดหนักอีกระลอก?

ขณะที่การแข่งขันฟุตบอลบุนเดสลีกาศึกดาร์บีแมตช์ระหว่างทีมยูเนี่ยนเบอร์ลินกับแฮร์ทาเบอร์ลินเมื่อวันที่ 20 ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น แม้หน้าสนามจะมีการตรวจใบรับรองการฉีดวัคซีนและสวมหน้ากากอนามัย แต่หลังจากเกมเริ่มก็มีภาพแฟนบอลนั่งเชียร์กันเต็มอัฒจันทร์โดยแทบจะไม่สวมหน้ากากอนามัยเลย เช่นเดียวกับคู่ของโบรุสเซียดอร์ตมุนด์ที่ลงเตะกับสตุตการ์ตที่จะเห็นแฟนบอลส่วนน้อยเท่านั้นที่สวมหน้ากากอนามัย

ไขปริศนา ทำไมยุโรปถึงได้เจอโควิดหนักอีกระลอก?

ไขปริศนา ทำไมยุโรปถึงได้เจอโควิดหนักอีกระลอก?

ขณะนี้ทางการเยอรมนีพยายามโน้มน้าวให้ผู้คนออกมาฉีดวัคซีนและเริ่มมีมาตรการจำกัดการใช้ชีวิตของคนที่ยังไม่ได้ฉีด ถึงอย่างนั้น ไฮน์เจสมองว่าสายเกินไปแล้วที่จะหยุดการแพร่ระบาดระลอกนี้ “เป็นไปไม่ได้ที่จะฉีดวัคซีนจนถึงเป้าที่จะหยุดการแพร่ระบาดภายในเวลาสั้นๆ”

แต่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า การปฏิบัติตามมาตรการและลดการพบปะสังสรรค์กันสามารถสร้างความแตกต่าง (ลดตัวเลขผู้ติดเชื้อ) ได้ทันที

REUTERS/Henry Nicholls/File Photo