posttoday

การหายตัวของนักเทนนิสกับศึกชิงอำนาจการเมืองจีน

21 พฤศจิกายน 2564

การหายตัวและการปรากฏตัวอีกครั้ง (แบน่ากังขา) ของเผิงซ่วยอาจไม่ใช่แค่กรณี MeToo ธรรมดาๆ แต่อาจจะมีอะไรที่ลึกกว่านั้น

ชื่อของ "เผิงซ่วย" กลายเป็นที่คุ้นหูของคนนอกวงการเทนนิสในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะมันเป็นชื่อของนักเทนนิสหญิงชื่อดังชาวจีนที่จู่ๆ ก็หายหน้าค่าตาไป หลังจากออกมาแฉว่าเธอถูกคุกคามทางเพศและมี "ความสัมพันธ์" ต่อจากนั้นอีกหลายปีกับจางเกาลี่ อดีตรองนายกรัฐมนตรีจีน

หลังจากนั้นคนในวงการเทนนิสทั้งระดับบริหารและระดับซูเปอร์สตาร์ทั้งชายและหญิง (เช่น เซเรนา วิลเลียมและนาดาลกับเฟเดอเรอร์) ออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสอบสวนการหายตัวไปของเพื่อนร่วมวงการ

นี่ถือเป็นเรื่องไม่ธรรมดา เพราะปกติแล้ววงการเทนนิสไม่ค่อยจะแตะเรื่องการเมือง อันที่จริงท่าทีของดาราเทนนิสเหล่านี้ก็ไม่เชิงเป็นการเมืองนัก ออกจะเป็นห่วงเพื่อนร่วมอาชีพมากกว่า

ในเวลาต่อมาเผิงซ่วยก็ปรากฏตัวในงานอีเวนต์ที่จีนทั้งภาพถ่ายและคลิปวิดิโอ (ดูภาพประกอบบทความนี้)

เหมือนกับเป็นการยืนยันว่าเธอยังอยู่ดีไม่ได้ถูกคุกคาม แแต่สื่อตะวันตก (โดยเฉพาะกลุ่มที่กัดจีนไม่ปล่อยและมีเรื่องกับทางการจีนบ่อยๆ เช่น The New York Times) ยังบอกว่า "น่ากังขา"

จะว่าไปแล้วมันก็อดกังขาไม่ได้ เพียงแต่ไม่มีอะไรพิสูจน์ได้ว่าเผิงซ่วยไม่ได้ถูกคุกคาม และยืนยันไม่ได้เช่นกันว่าเธอถูกบีบให้แสดงตัว

สำหรับคนไทยเรื่องนี้อาจจะดูไกลตัวแต่จริงๆ แล้วถ้าคิดว่าจีนเป็นประเทศสำคัญที่เกี่ยวพันกับชะตากรรมรอบข้าง เรื่องนี้ไม่ถือว่าไกลตัว

สำหรับชาวตะวันตกเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนที่โลกตะวันตกโจมตีจีนมาตลอด และพวกเขายังมองในมิติเรื่องที่ผู้หญิงทั่วโลกการลุกขึ้นมาเปิดโปงการกระทำมิดีมิร้ายของผู้ชายและการกดขี่ของสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ หรือขบวนการ MeToo

กรณีของเผิงซ่วยที่ถูกคนระดับรองนายกฯ ลวนลามจึงถูกมองว่าเป็นเรื่องของ MeToo ที่ถูกปิดปากไป

แต่สื่อตะวันออกในกลุ่มภาษาจีน (โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจีน) กลับมองว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่อง MeToo แต่เป็นการต่อสู้ของกลุ่มการเมืองในพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่างหาก

พวกเขามองว่า จางเกาหลี่นั้นเป็นคนของฝ่ายเจียงเจ๋อหมิน อดีตประธาานาธิบดีจีนผู้ยังทรงอิทธิพลอยู่ ในระยะหลัง "เจียงซี่/เจียงพ่าย/ซ่างไห่ปาง" หรือกลุ่มการเมืองฝ่ายเจียงเจ๋อหมินถูกเพ่งเล็งไปจนถึงถูกกวาดล้างจากกลุ่มของสีจิ้นผิงถี่ขึ้นเรื่อยๆ

สื่อที่รายงานทำนองนี้คือ The Epoch Times (ต้าจี้หยวน - ซึ่งเป็นสื่อที่เกี่ยวข้องกับฝ่าหลุนกง)

The Epoch Times สัมภาษณ์หยวนหงปิง นักเขียน นักกฎหมาย นักเคลื่อนไหวชาวจีนที่ลี้ภัยไปอยู่ที่ออสเตรเลีย หยวนหงปิงบอกว่าเรื่องนี้ต้องมีการบงการอยู่เบื้องหลัง เพราะจางเกาลี่เป็นคนที่ปกป้องไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารในสมัยเจียงเจ๋อหมินมาโดยตลอด และอาจทำให้สีจิ้นผิงไม่พอใจ

มีหลายประเด็นที่สีจิ้นผิงต้องการให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารและนโยบายสมัยเจียงเจ๋อหมิน หยวนหงปิงชี้ว่าเช่นสีจิ้นผิงไม่เห็นด้วยกับการที่เจียงเจ๋อหมินจะให้พวกนายทุนเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นตัน

เรื่องความขัดแย้งระหว่าง "ซ่างไห่ปาง" (กลุ่มของเจียงเจ๋อหมิน) กับ "จือเจียงซินจวิน" (กลุ่มของสีจิ้นผิง) มีความซับซ้อนเกินกว่าจะสาธยายได้หมด

แต่หยวนหงปิงสรุปว่าความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มอำนาจวนเวียนอยู่กับเรื่องที่ว่าจะตำหนิ/วิจารณ์การบริหารในยุคของเจียงเจ๋อหมินหรือไม่

โดยเฉพาะในเรื่องปัญหาคอร์รัปชั่นในยุคเจียง ซึ่งเราจะเห็นว่าพอสีจิ้นผิงขึ้นมามีอำนาจ สิ่งแรกๆ ที่เขาทำคือประกาศสงครามกับการคอร์รัปชั่นที่กัดกินประเทศอย่างหนัก

ทำไมการวิจารณ์/ตำหนิเจียงเจ่อหมินจึงเป็นเรื่องขึ้นมาได้? หยวนหงปิงกล่าวว่าเพราะฝ่ายอำนาจใหม่ต้องการลดความชอบธรรมของกลุ่มอำนาจเก่านั่นเอง

เป็นความพยายามที่จะยกระดับการสร้าง "ยุคสมัยแห่งสีจิ้นผิง"

หยวนหงปิงกล่าวว่าการพยายามตำหนิเจียงเจ๋อหมินว่ามีส่วนในปัญหาคอร์รัปชั่นยังไม่สำเร็จ แต่เขาอ้างแหล่งข่าวในพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ "มีสำนึกถูกผิด" ว่าสีจิ้นผิงยังไม่ยอมรามือ และจะมีการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงของกลุ่มอำนาจในพรรคในประเด็นนี้

แต่เรื่องนี้ต้องฟังหูไว้หู เพราะ The Epoch Times มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือและการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามมันยังพอใช้สังเกตการณ์ได้ในฐานะสื่อที่มีทัศนะตรงข้ามหรือคัดค้านพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ซึ่งท่าทีคัดค้านก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นฝ่ายที่ถูกต้องด้วย)

หยวนหงปิงเองแม้จะมีผลงานเขียนมากมายในเรื่องการเปิดโปงรัฐบาลจีน แต่เราก็ต้องฟังหูไว้หูเช่นกัน ตราบใดที่ยังไม่มีแถลงการณ์ทางการของรัฐบาลจีน ให้พิจารณาว่าเรื่องนี้เป็นเพียง "ความเห็น" หรือ "ข้อสังเกต" ไม่ใช่ข้อเท็จจริง

และสาเหตุที่สื่อตะวันตกยังไม่มองมาที่จุดนี้อาจเป็นเพราะ 1. มันยังไม่มีหลักฐานชัดๆ 2. พวกเขาไม่ทันมองจุดนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเพราะยังไม่มีหลักฐานเพียงพอมากกว่า 

เอาเข้าจริงแล้วดูจากปฏิกิริยาของโลกตะวันตกทั้งฝ่าย WTA ไปจนถึง IOC โลกตะวันตกไม่จำเป็นต้องขุดลึกไปถึงขนาดว่าเผิงซ่วยพัวพันกับศึกชิงอำนาจหรือไม่ เพราะกรณีเผิงซ่วยหายตัวไปหลายวันก็มากพอที่จะบีบจีนในเรื่องการกีฬาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนกำลังจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว

การแทรกแซงจากต่างชาติเป็นสิ่งที่จีนยอมรับไม่ได้มากที่สุด แต่นี่จีนเล่นเปิดแผลให้คนนอกเข้ามาซ้ำเอง

กับคำถามที่ว่างแล้วเผิงซ่วยไปเกี่ยวอะไรกับศึกชิงอำนาจนี้จึงไม่สำคัญนักในระดับเวทีการเมืองโลก แม้มันอาจมีนัยทางการเมืองภายในก็ตาม

และเรายังไม่มีทางรู้ได้ในเวลานี้ว่าเผิงซ่วยเกี่ยวพันการเมืองภายในขนาดไหน แต่ถ้าใช้คำอธิบายของหยวนหงปิง มันเป็นคำถามเปิดที่สามารถตอบได้โดยใช้ข้อมูลเรื่องการงัดข้อระหว่างกลุ่มอำนาจของจางเกาหลี่/เจียงเจ๋อหมินกับกลุ่มของสีจิ้นผิง

จะผิดจะถูกอย่างไรนั้นเป็นสิ่งที่ลี้ลับพอๆ กับการเมืองภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo TWITTER @QINGQINGPARIS via REUTERS