posttoday

ทำไมจู่ๆ โควิดจึงแทบจะหายไปจากญี่ปุ่น?

21 พฤศจิกายน 2564

หลังจากเผชิญกับการระบาดที่หนักพอๆ กับประเทศอื่นๆ รวมถึงการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า แต่แล้วตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมยอดผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่นก็ลดลงแบบเหลือเชื่อ

1. รายงานจาก The Japan Times - สามเดือนหลังจากสายพันธุ์เดลต้าทให้เกิดการติดเชื้อเกือบ 26,000 รายในญี่ปุ่น ในเวลานี้การติดเชื้อรายใหม่ในญี่ปุ่นลดลงต่ำกว่า 200 ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่สำคัญคือไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตในวันที่ 7 พ.ย. ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน

The Japan Times รายงานวาผู้เชี่ยวชาญชี้ถึงเหตุผลต่างๆ นานาถึงการหายไปของยอดผู้ติดเชื้อ คาดว่าอาจเกี่ยวกับอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงที่ 75.7% (ตัวเลขวันที่ 17 พฤศจิกายน) แต่มีทฤษฎีหนึ่งที่ฟังแล้วอาจเหลือเชื่อแต่ก็สมเหตุสมผลจากอิตุโระ อิโนอุเอะ ศาสตราจารย์แห่งสถาบันพันธุศาสตร์แห่งชาติ

อิโนอุเอะชี้ว่าสายพันธุ์เดลตาในญี่ปุ่นสะสมการกลายพันธุ์มากเกินไปในโปรตีนที่ช่วยการแก้ไขข้อผิดพลาดของไวรัสที่เรียกว่า nsp14 ไวรัสจึงพยายามซ่อมแซมข้อผิดพลาดให้ทันเวลา แต่ในท้ายที่สุดแล้วนำไปสู่ “การทำลายตนเอง” ของไวรัส

นอกจากนี้ The Japan Times ยังอ้างการศึกษาที่พบว่าผู้คนในเอเชียมีเอนไซม์ป้องกันที่เรียกว่า APOBEC3A ที่โจมตีไวรัส RNA รวมทั้งไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิด COVID-19 มากกว่าเมื่อเทียบกับคนในยุโรปและแอฟริกา นักวิจัยจากสถาบันพันธุศาสตร์แห่งชาติและมหาวิทยาลัยนีงาตะ จึงทำการศึกษาว่าโปรตีน APOBEC3A ส่งผลต่อโปรตีน nsp14 อย่างไรและสามารถยับยั้งการทำงานของโคโรนาไวรัสได้หรือไม่

2. รายงานจาก BBC ในรายงานที่ชื่อ "ญี่ปุ่น: จากความลังเลในวัคซีนสู่ความสำเร็จของวัคซีน" พยายามอธิบายว่าการที่โควิด-19 แทบจะหายไปจากญี่ปุ่น (เมื่อเทียบกับการระบาดหนักหน่วงก่อนหน้านี้) เป็นผลมาจากความสำเร็จในเรื่องการระดมฉีดวัคซีน

รายงานชี้ว่า เมื่อย้อนกลับไปช่วงที่เหลือเวลาอีกเพียง 7 สัปดาห์ก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก มีเพียง 3.5% ของประชากรญี่ปุ่นเท่านั้นที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วน เมื่อเริ่มโอลิมปิกการฉีดวัคซีนในญี่ปุ่นก็ยังล้มลุกคลุกคลาน แต่เมือ่ผ่านไป 6 เดือนอัตราการฉีดวัคซีนครบถ้วนเพิ่มขึ้นเกือบ 76%

BBC สัมภาษณ์ ศ. เคนจิ ชิบุยะ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของมูลนิธิโตเกียวเพื่อการวิจัยเชิงนโยบาย ที่กล่าวว่าช่วงแรกๆ วัคซีนขาดแคลนจริง แต่มันทำให้ผู้สูงอายุที่เห็นคนวัยเดียวกันล้มตายในประเทศอื่นๆ เริ่มไม่ลังเลและแห่กันไปฉีดวัคซีนทำให้เกิดแรงหนุนของการฉีดวัคซีนในระยะต่อมา

แต่มันน่าจะมีสาเหตุอื่นด้วย ศ. เทะซึโอะ ฟุคาวะ นักสังคมวิทยาที่สถาบันสวัสดิการอนาคต ชี้ว่าอาจมีความเชื่อมโยงระหว่างอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ของญี่ปุ่นที่ต่ำ อายุขัยยืนยาว และอัตราโรคอ้วนที่ต่ำ โดยคนญี่ปุ่นเพียง 3.6% จัดว่าเป็นโรคอ้วน ซึ่งต่ำที่สุดในโลก

ศ. ฟุคาวะเปรียบเทียบอายุขัย โรคอ้วน และอัตราการเสียชีวิตจากโควิดใน 9 ประเทศ ผลลัพธ์คือประเทศที่มีอัตราโรคอ้วนต่ำมีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 น้อยกว่า

Photo by Philip FONG / AFP