posttoday

ออสซี่ลั่นจะร่วมมือสหรัฐช่วยปกป้องไต้หวัน เตือนจีนอย่ากดดัน

14 พฤศจิกายน 2564

สหรัฐฯ ได้เตือนจีนเกี่ยวกับแรงกดดันต่อไต้หวัน ขณะที่สองมหาอำนาจรอร่วมการประชุมสุดยอด

แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐระบุว่า แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ ได้พูดคุยกับหวางอี้รัฐมนตรีต่างประเทศจีน และแสดงความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันทางการทหาร การทูต และเศรษฐกิจของจีนที่มีต่อไต้หวันอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีน เตรียมจัดการประชุมสุดยอดเสมือนจริงในคืนวันจันทร์ตามเวลาวอชิงตัน โดยบลิงเคนและหวางพูดคุยเมื่อวันศุกร์เพื่อหารือเกี่ยวกับการเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอด

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐรายงานว่า "ได้กระตุ้นให้รัฐบาลจีนมีส่วนร่วมในการเจรจาที่มีความหมายเพื่อแก้ไขปัญหาข้ามช่องแคบอย่างสันติและในลักษณะที่สอดคล้องกับความปรารถนาและผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนในไต้หวัน"

ขณะที่หวางเตือนถึงอันตรายของการกระทำของสหรัฐที่อาจดูเหมือนสนับสนุน "เอกราชของไต้หวัน"

“การรู้เห็นและสนับสนุนกองกำลัง 'เอกราชของไต้หวัน' ทำลายความสงบสุขทั่วช่องแคบไต้หวัน และจะมีแต่ผลสะเท้อนกลับในท้ายที่สุด” หวางบอกกับบลิงเคิน

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานคำกล่าวของ ปีเตอร์ ดัตตัน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของออสเตรเลียกล่าวเมื่อวันเสาร์ ที่บอกว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่ออสเตรเลียจะไม่เข้าร่วมกับสหรัฐฯ หากรัฐบาลสหรัฐดำเนินการเพื่อปกป้องไต้หวัน

เมื่อวันพุธ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโธนี่ บลิงเคน กล่าวว่าสหรัฐและพันธมิตรจะใช้ "การดำเนินการ" ที่ไม่ระบุรายละเอียด ถ้าจีนกำลังใช้กำลังเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่เหนือไต้หวัน

“คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่สนับสนุนสหรัฐในการดำเนินการ หากสหรัฐเลือกที่จะดำเนินการดังกล่าว” ดัตตัน บอกกับหนังสือพิมพ์ The Australian ในการให้สัมภาษณ์

“และอีกครั้ง ผมคิดว่าเราควรจะตรงไปตรงมาและซื่อสัตย์เกี่ยวกับเรื่องนั้น ดูข้อเท็จจริงและสถานการณ์ทั้งหมดโดยไม่ต้องตกลงล่วงหน้า และอาจมีบางสถานการณ์ที่เราจะไม่ใช้ตัวเลือกนั้น (แต่) ผมคิดว่าสถานการณ์เหล่านั้นเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ"

กองทัพจีนแถลงเมื่อวันอังคารว่า ได้ดำเนินการลาดตระเวนเตรียมพร้อมรบ ในทิศทางของช่องแคบไต้หวัน หลังจากที่กระทรวงกลาโหมได้ประณามการเยือนไต้หวันของคณะผู้แทนรัฐสภาสหรัฐ

“จีนมีความชัดเจนมากเกี่ยวกับความตั้งใจของพวกเขาที่จะบุกไต้หวัน และเราจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีความพร้อมในระดับสูง มีความรู้สึกว่าสามารถยับยั้งได้มากขึ้น และนั่นคือสิ่งที่ผมคิดว่าเราทำให้ประเทศของเราอยู่ในจุดยืนของความแข็งแกร่ง” ดัตตันกล่าวกับหนังสือพิมพ์

ถึงแม้จีนไม่ได้ตัดขาดการใช้กำลังเพื่อนำไต้หวันมาอยู่ภายใต้การควบคุมของตน แต่แสดงท่าทีว่าไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดสงครามขึ้น

Photo by Sam Yeh / AFP