posttoday

เมื่อชาวบ้านลืมความเลวร้ายของรุ่นพ่อ เทคะแนนให้นักการเมืองทายาทเผด็จการ

13 พฤศจิกายน 2564

ประชาชนมองข้ามความเลวร้ายของนักการเมืองรุ่นพ่อพากันหนุนทายาททางการเมืองรุ่นลูก

แม้ว่าสมัยพ่อจะถูกประชาชนตราหน้าว่าเป็นผู้นำจอมเผด็จการที่เข่นฆ่าผู้คนอย่างโหดร้ายและคอร์รัปชันจนร่ำรวยอยู่บนกองเงินกองทองของประเทศ แต่คนรุ่นลูกกลับได้รับคะแนนเลือกตั้งท่วมท้นจากประชาชนจนได้หวนกลับสู่เส้นทางการเมืองอีก

เรากำลังจะพูดถึงตระกูลมาร์กอส ที่มี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่ยาวนานที่สุดถึง 21 ปีคือ ตั้งแต่ปี 1965-1986 และ เฟอร์ดินานด์ “บองบอง” มาร์กอส จูเนียร์ ลูกชายของเขา

เมื่อชาวบ้านลืมความเลวร้ายของรุ่นพ่อ เทคะแนนให้นักการเมืองทายาทเผด็จการ

มาร์กอสผู้พ่อเป็นที่จดจำในฐานะหนึ่งในผู้นำเผด็จการที่มีเรื่องอื้อฉาวมากที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 ไม่ว่าจะเป็นการคอร์รัปชัน การใช้ชีวิตอย่างหรูหรา (จากเงินที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงมา) ในขณะที่ประชาชนยากจนข้นแค้น หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนและใช้ความรุนแรงเข่นฆ่าประชาชนที่เห็นต่างอย่างโหดร้ายภายใต้การประกาศกฎอัยการศึกยาวนานเกือบ 10 ปี

รัฐบาลฟิลิปปินส์ประมาณการณ์ว่าอดีตประธานาธิบดีมาร์กอสและพวกยักย้ายเงินออกจากธนาคารกลางของฟิลิปปินส์ด้วยการโอนไปยังบัญชีธนาคารในต่างประเทศและการซื้อข้าวของหรูหรา อาทิ งานศิลปะและเครื่องเพชรต่างๆ รวมทั้งสิ้น 5,000-10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

เรียกว่ายุคนั้นเป็นยุคแห่งฝันร้ายสำหรับชาวฟิลิปปินส์หลายๆ คน ทว่าชาวฟิลิปปินส์อีกจำนวนไม่น้อยยังนิยมในตัวมาร์กอสผู้พ่ออยู่ ซึ่งส่งผลมายังคนในครอบครัวที่ลงเล่นการเมืองในภายหลังด้วย

ดังจะเห็นได้จากการที่สมาชิกครอบครัวมาร์กอสยังได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนชาวฟิลิปปินส์อย่างท่วมท้นจนได้กลับเข้ามาโลดแล่นในเส้นทางการเมืองอีกครั้งหลังจากทั้งครอบครัวต้องลี้ภัยไปยังฮาวายเมื่อปี 1986 เพราะถูกประชาชนลุกฮือปฏิวัติ

เมื่อชาวบ้านลืมความเลวร้ายของรุ่นพ่อ เทคะแนนให้นักการเมืองทายาทเผด็จการ

อิเมลดา มาร์กอส อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งที่ถูกทางการฟิลิปปินส์ตั้งข้อหาทั้งแพ่งและอาญากว่า 60 ข้อหา เคยชนะการเลือกตั้งและได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย ไอมี มาร์กอส ลูกสาว ได้รับเลือกให้เป็นทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ว่าราชการจังหวัดอิโลกอสนอร์เต ก่อนจะขยับมาเป็นวุฒิสมาชิกในปัจจุบัน

ส่วนลูกชายเพียงคนเดียวคือ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือบองบอง ไต่เต้าจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดอิโลกอส นอร์เต จนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 สมัย เป็นวุฒิสมาชิก และยังลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในปี 2016 ซึ่งแพ้ให้กับ เลนี โรเบรโก ไปเพียง 0.64% ด้วยคะแนนเสียงเกือบ 14 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 32% ของคะแนนทั้งหมด

คะแนนเสียงมหาศาลในสนามการเลือกตั้งระดับชาตินี้บ่งบอกได้เป็นอย่างดีความนิยมในตระกูลมาร์กอสของชาวฟิลิปปินส์ยังมีอยู่ไม่น้อย

นอกจากนี้ บองบองยังลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่จะจัดการเลือกตั้งกันในเดือน พ.ค.ปีหน้า และได้รับเสียงตอบรับอย่างท่วมท้น ถึงขนาดที่ว่าแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่ไต้หวันรวมตัวกันจัดอีเว้นต์ส่งเสียงสนับสนุนเขาเต็มที่

แน่นอนว่าความทรงจำเลวร้ายโดยเฉพาะการใช้กฎอัยการศึกภายใต้การปกครองของมาร์กอสผู้พ่อยังคงอยู่ในใจของชาวฟิลิปปินส์ แต่ก็เป็นอย่างที่ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นชี้ชัดแล้วว่าบางคนยังโหยหาความเป็น เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส

เมื่อชาวบ้านลืมความเลวร้ายของรุ่นพ่อ เทคะแนนให้นักการเมืองทายาทเผด็จการ

สำนักข่าว New York Times ระบุว่า ชาวฟิลิปปินส์กลุ่มหลังนี้มองว่าสมัยของมาร์กอสคือ “ยุคทอง” ของเศรษฐกิจ เพราะขณะนั้นฟิลิปปินส์คือเสือของเอเชีย ริชาร์ด เนเกรอ ชาวกรุงมะนิลาที่เกิดหลังจากมาร์กอสถูกล้มล้างอำนาจ 2 ปี เผยกับ New York Times ว่า “ผมคิดว่ามาร์กอสคือประธานาธิบดีที่ดีที่สุด นั่นคือตอนที่ฟิลิปปินส์คือผู้นำของเอเชีย เราเคยได้รับความนับถือ”

อิเมลดา ออร์ดูนญา ครูเกษียณวัย 70 ปีเผยว่า เธอจำได้ดีว่าในสมัยของมาร์กอสผู้พ่อการจราจรไม่ติดขัด ตำรวจไม่ข่มขู่เอาสินบน “ชีวิตง่ายกว่านี้ในสมัยของมาร์กอส เรามีความสงบเรียบร้อยและการคอร์รัปชันน้อยมาก”

เช่นเดียวกับ แอปเปิล บุยซา พนักงานวัย 26 ปี เธอบอกว่า ประเด็นเรื่องเครื่องเพชรของ อิเมลดา มาร์กอส ไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับเธอในการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปีหน้า เธอรู้สึกผิดหวังกับรัฐบาลปัจจุบันมากๆ เพราะต้องใช้เวลาเดินทางนานหลายชั่วโมงฝ่าการจราจรติดขัดไปทำงาน เธอได้ยินมาว่าฟิลิปปินส์เป็นระเบียบเรียบร้อยมากในสมัยของมาร์กอส

และ มิเชลล์ ปูลุมบาริส โอเปอเรเตอร์วัย 31 ปี เธอไม่เป็นห่วงเรื่องกฎอัยการศึกหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน “สำหรับฉัน เรื่องเหล่านั้นมันจบไปแล้ว ช่วงนั้นคือช่วงที่เศรษฐกิจของเราบูม แม้แต่อิเมลดาก็ทำเรื่องดีๆ ตั้งหลายเรื่อง เธอเผยแพร่วัฒนธรรมของเราให้โลกรู้ ฉันให้อภัยเธอเรื่องที่มีรองเท้าหลายคู่”

ส่วนตัวบองบองเองเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่จำเป็นต้องขอโทษกับสิ่งที่พ่อตัวเองทำ และบอกอีกว่าภายใต้การบริหารของพ่อมีการสร้างถนนหลายพันไมล์ ฟิลิปปินส์มีอัตราการรู้หนังสือสูงที่สุดในเอเชีย และเป็นผู้ส่งออกข้าวไม่ใช่ผู้นำเข้าข้าวอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้

ดูเหมือนว่าครอบครัวมาร์กอสจะหลงลืมความเลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นกับฟิลิปปินส์ในเงื้อมมือของมาร์กอส และพยายามพูดแต่เรื่องดีๆ ของเขาแทน

ลิซานโดร เคลาดิโอ ศาสตราจารย์จากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยเกียวโตเผยกับ New York Times ว่า ครอบครัวมาร์กอสเปลี่ยนเรื่องเล่าทางการเมืองตลอดเวลาที่ผ่านมา โดยหันมาให้ความสำคัญกับความสำเร็จของมาร์กอสแทนเพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นตัวร้าย

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาสื่อโซเชียลมีเดียของฟิลิปปินส์เต็มไปด้วยเนื้อหา รูปภาพ และคลิปวิดีโอที่โน้มน้าวให้ชาวฟิลิปปินส์ชื่นชมในตัวมาร์กอสและโจมตีฝ่ายตรงข้าม ซึ่งทำอย่างเป็นระบบจนเกิดคำถามว่าเหตุใดจึงเกิดการปลุกผีมาร์กอสขึ้นมา

เรื่องนี้ บริตทานี ไคเซอร์ อดีตพนักงานของ Cambridge Analytica (เคมบริดจ์ แอนาลิติกา) บริษัทวิจัยข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในทางการเมืองที่เคยถูกแฉว่านำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊คมาทำแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งให้อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เผยกับ Rappler สื่อของฟิลิปปินส์ว่า บองบองได้ติดต่อให้บริษัท “รีแบรนด์” ภาพลักษณ์ของตระกูลมาร์กอสในโซเชียลมีเดีย

ทว่า ในเวลาต่อมา วิค โรดริเกซ ตัวแทนของบองบองปฏิเสธข้อกล่าวหาของไคเซอร์

ด้าน Rappler รายงานว่า การสร้างเพจใหม่ๆ เพื่อเผยแพร่เนื้อหาเชียร์มาร์กอสเริ่มเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2014 ซึ่งเป็นช่วงที่อิเมลดาเผยว่าต้องการจะสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และเพิ่มขึ้นเรื่อยมาหลังจากการเลือกตั้งในปี 2016 ลกยาวมาจนถึงช่วงการเลือกตั้งปี 2019 ที่ ไอมี มาร์กอส ลงสมัครวุฒิสมาชิก

และเชื่อว่าน่าจะมีอยู่จนถึงขณะนี้ที่บองบองกำลังจะลงสนามชิงเก้าอี้ผู้นำฟิลิปปินส์ในปีหน้า ซึ่งเราจะต้องจับตามองกันว่าคนในตระกูลมาร์กอสจะกลับมาครองอำนาจได้อีกครั้งอย่างที่พวกเขาต้องการมาตลอดหรือไม่

นอกจากลูกชายของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส แล้ว ฝั่งยุโรปก็มี ราเคเล มุสโสลินี หลานสาวของ เบนิโต มุสโสลินี อดีตผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์ของอิตาลี ที่ชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงโรมด้วยคะแนนสูงสุดเมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนี้เป็นการได้ตำแหน่งสมัยที่ 2 ของเธอ

หลายคนอาจคิดว่าเป็นเพราะนามสกุลที่ทำให้เธอได้รับตำแหน่ง แต่เจ้าตัวให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ La Repubblica ว่า เธอเชื่อว่าชาวอิตาลีไม่ได้สนใจนามสกุลของเธอเท่ากับผลงานที่เธอทำงานรับใช้ชาวกรุงโรม

และราเคเลไม่ใช่ทายาทของมุสโสลินีคนแรกที่ลงเล่นการเมือง ก่อนหน้านี้ อเลสซานดรา มุสโสลินี พี่น้องต่างแม่ของราเคเล ได้นั่งเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคขวากลาง People of Freedom ของ ซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี อดีตนายกรัฐมนตรีของอิตาลี และเคยเป็นสมาชิกรัฐสภายุโรปด้วย

เรื่องราวทางการเมืองของทายาทผู้นำเผด็จการทั้งสองคนทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย และหนึ่งในนั้นคือ ความบอบช้ำจากการกระทำของคนรุ่นก่อนลบเลือนไปจากใจของชาวฟิลิปปินส์และชาวอิตาลีตามกาลแล้ว หรือพวกเขาเลือกที่จะมองข้ามแล้วสนใจเฉพาะผลงานของทายาทรุ่นใหม่กันแน่

Photo by Rouelle Umali / POOL / AFP, Photo by STRINGER / ANSA / AFP