posttoday

รวบอำนาจ รื้อประวัติศาสตร์ เขียนตำนานใหม่

11 พฤศจิกายน 2564

"ยุคสมัยแห่งสีจิ้นผิง" ผงาดเทียบชั้นเหมาเจ๋อตงและเติ้งเสี่ยวผิง ในการประชุมครั้งสำคัญที่กำหนดอนาคตของจีน

เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์คนทั่วไปอาจรู้สึกว่าน่าเบื่อ แต่กับคนจีนแล้วมันเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด เพราะมันสามารถชี้นำอนาคตได้

โดยเฉพาะอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่อิงกับสิ่งที่เรียกว่า "วัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์" คือการทำความเข้าใจพัฒนาการทางสังคมผ่านประวัติศาสตร์การพัฒนาทางวัตถุหรือสิ่งที่จับต้องได้ เช่น การผูกขาดทุนการผลิตและแรง เมื่อเข้าใจกลไกทางประวัติศาสตร์ของสิ่งเหล่านี้แล้ว ชนชั้นผู้ถูกเอาเปรียบก็จะสามารถปลดแอกจากการผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจได้

ดังนั้น ประวัติศาสตร์จึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างสังคมใหม่ ผูกขาดอำนาจการเมือง และบงการมติมหาชน โดยที่พรรคคอมมิวนิสต์มี "พันธกิจทางประวัติศาสตร์" เพื่อทำสิ่งนั้น

แต่ในขณะที่พรรคฯ ใช้ประวัติศาสตร์สร้างสังคมใหม่ พรรคก็ต้องปรับปรุงตัวเองด้วยการวิจารณ์สมาชิกในพรรค วิจารณ์ตนเอง เพื่อดูว่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพรรคทำผิดหรือพลาดอะไรไปบ้าง อุดมการณ์ยังถูกต้องหรือไม่ หรือออกนอกลู่นอกทางไปแล้ว นี่เรียกว่า "การปรับให้ถูกต้อง" (เจิ่งเฟิง) 

การเป็นใหญ่เป็นโตของคนในพรรคและทิศทางของประเทศก็ขึ้นกับ "พันธกิจทางประวัติศาสตร์" นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ หรือเล็กๆ เลย ขณะที่คนภายนอกจีนคิดว่าเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย จีน (คอมมิวนิสต์) คิดว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องใหญ่แบบนี้

การประชุมครั้งที่ 6 ของคณะกรรมการกลางของพรรคคคอมมิวนิสต์จีน (ลิ่วจงเฉวียนฮุ่ย) ชุดที่ 19 ประจวบเหมาะกับที่พรรคคอมมิวนิสต์ก่อตั้งครบ 100 ปีพอดีซึ่งจัดเฉลิมฉลองไปเมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ประชุมยังมีมติสำคัญ คือ "มติคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่าด้วยความสำเร็จสำคัญและประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ในการต่อสู้ตลอดช่วง 100 ปี"

มันสำคัญอย่างไร? มันสำคัญตรงที่เป็น "มติ" (เจวี๋ยอี้) ครั้งที่ 3 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่พิจารณาผลงานที่ผ่านมา เพื่อประเมินอนาคตที่จะเดินหน้าต่อไป มีเพียง 2 ครั้งเท่านั้นที่พรรคเคยทำแบบนี้

สองมติก่อนหน้านี้คือคือ "มติว่าด้วยประเด็นประวัติศาสตร์บางข้อ" และ "มติว่าด้วยประเด็นทางประวัติศาสตร์บางข้อของพรรคนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ (สาธารณรัฐประชาชน)"

สองมตินี้เรียกสั้นๆ ว่า "มติประวัติศาสตร์" (ลี่สื่อ เจวี๋ยอี้)

"มติว่าด้วยประเด็นประวัติศาสตร์บางข้อ" ในปี 1945 เป็นการพิจารณา "ขบวนการปรับปรุงให้ถูกต้องที่เหยียนอัน" ริเริ่มโดยเหมาเจ๋อตงระหว่างปี 1942 - 1945 ในช่วงที่พรรคฯ เริ่มที่จะมีโมเมนตั้มในการชิงอำนาจปกครองแผ่นดิน หลังจากพรรคไม่มีเอกภาพมายาวนาน เหมาเจ๋อตงก็สามารถรวบอำนาจและผลักดันแนวคิดของเขาจนสำเร็จเบ็ดเสร็จและผลักดัน "สังคมนิยมที่อิงกับเงื่อนไขของจีน" สลัดพ้นอิทธิพลสหภาพโซเวียตสลายกลุ่มก้อนต่างๆ ที่มีแนวคิดต่างกัน

หลังจาก "ขบวนการปรับปรุงให้ถูกต้องที่เหยียนอัน" ทำให้เหมาเจ๋อตงและพลพรรคกุมอำนาจได้ เหมาเจ๋อตงก็ริเริ่มให้มีการพิจารณาประวัติศาสตร์ความสำเร็จและล้มเหลวของพรรค ในทางหนึ่งเป็นการประเมินอดีตเพื่อก้าวสู่อนาคต ในทางหนึ่งคือการ "นิยาม" ฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นพวกที่ล้มเหลวและถ่วงการปฏิวัติ มติที่ออกมาเป็นการย้ำอำนาจของเหมาเจ๋อตงและแนวคิดของเหมาเจ๋อตง พร้อมกับกำจัดแนวคิดที่ "เป็นตัวถ่วง" พัฒนาการของพรรค

นี่คือการรวบอำนาจครั้งที่ 1 ก่อนการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949

"มติว่าด้วยประเด็นทางประวัติศาสตร์บางข้อของพรรคนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ (สาธารณรัฐประชาชน)" ในปี 1981 ในยุคสมัยของเติ้งเสี่ยวผิง เป็นการประเมินเหตุการณ์ต่างๆ นับตั้งแต่การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจีนล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด ทั้งเหตุการณ์ซ้ายพิฆาตขวา การก้าวกระโดดใหญ่ และการปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม ล้วนแต่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมและมีผู้คนล้มตายไปมากมาย

มติแรกเป็นการรวบอำนาจเหมาเจ๋อตง แต่มติที่สองนี้เป็นการประเมินเหมาเจ๋อตงเสียใหม่ จากที่เคยดีเด่นดั่งเทวดา ก็มีการประเมินทั้งข้อดีข้อเสียอย่างสมดุล รวมถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของพรรคด้วย ในทางหนึ่งมันเป็นการประเมินความล้มเหลวของพรรคจริงๆ แต่ในทางหนึ่งเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับเติ้งเสี่ยวผิงและนโยบายใหม่คือการเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจ

เติ้งเสี่ยวผิงเคยถูกเล่นงานมาหลายครั้งในช่วงเหตุการณ์ซ้ายพิฆาตขวา และเหตุการปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรมที่เริ่มเริ่มโดยเหมาเจ๋อตง ข้อหาที่เขาโดนยัดเยียดคือฝ่ายปฏิกิริยาต่อต้านสังคมนิยม ทำให้ชีวิตเขาต้องตกระกำลำบาก แต่ก็ยังสามารถกลับมากุมอำนาจได้อีกครั้ง ทั้งยังปรับแนวทางจากซ้ายสุดขั้วของเหมามาเป็นสังคมนิยมค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นมติที่ผ่านครั้งนี้ก่อนอื่นจึงต้อง "ประเมินข้อเสีย" ของเหมาเจ๋อตงเสียก่อน แล้วจึงผลักดันแนวคิดของเติ้งเสี่ยวผิงว่ามีความชอบธรรม

นี่คือการรวบอำนาจครั้งที่ 2

โปรดสังเกตว่า "มติประวัติศาสตร์" ทั้งสองครั้งคือการประกาศการวบอำนาจของผู้นำระดับสูงสุด คือทั้งเป็นผู้นำประเทศและผู้นำความคิด

และกระบวนการสำคัญของการผ่านมติประวัติศาสตร์คือการ "ลดคุณค่า" แนวทางเดิม และยกย่องแนวทางใหม่

ตอนนี้ ที่ประชุมพรรคล่าสุดมีการยกผลงานของสีจิ้นผิงขึ้นมาเป็น "มติประวัติศาสตร์" เหมือนกับกับมติสมัยเหมาเจ๋อตงและเติ้งเสี่ยวผิง ไม่อาจคิดเป็นอื่นได้ว่า นี่คือการยกสถานะของสีจิ้นผิงเทียบกับผู้นำระดับท็อปในประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเหมาและเติ้ง

การมีมติครั้งที่ 3 ไม่อาจคิดเป็นอื่นได้ว่า สีจิ้นผิงกำลังจะสร้างยุคสมัยของเขา

แน่นอนว่า มันต้องมีการประเมินสิ่งที่ผ่านมา ดังที่สีจิ้นผิงเรียกร้องให้ที่ประชุม "เรียนรู้จากประวัติศาสตร์เพื่อสร้างอนาคต"

สิ่งที่พึงสังเกตคือ มติประวัติศาสตร์ทั้ง 2 ก่อนหน้านี้ มีช่วงเวลาการประเมินประวัติศาสตร์ช่วงสั้นๆ มติแรกประเมินแค่ระยะเวลาการปรับปรุงเหยียดอันระหว่างปี 1942 - 1945 เท่านั้น ส่วนมติที่สองประเมินเหตุการณ์ระหว่างปี 1949 - 1981

แต่ในยุคของสีจิ้นผิง มติมีชื่อว่า "มติคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่าด้วยความสำเร็จสำคัญและประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ในการต่อสู้ตลอดช่วง 100 ปี"

มันเป็นการประเมินยาวนานถึง 100 ปีเลยทีเดียว

ทำให้คิดได้เป็น 2 อย่างคือ

หนึ่ง สีจิ้นผิงเพียงแค่ต้องการประเมินประวัติศาสตร์ความสำเร็จและล้มเหลวของพรรคเท่านั้น เนื่องในวาระ 100 ปีการสถาปนาพรรคพอดี

สอง เขาต้องการลบล้างบางแนวคิดเดิมของพรรค อย่างน้อยก็นับตั้งแต่เติ้งเสี่ยวผิง แล้วสร้างทฤษฎีใหม่ที่ไม่เหมือนเหมาและเติ้ง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการรวบอำนาจแบบยาวๆ

หากเป็นข้อสอง กระบวนการนี้ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่ปลุกปั้นกันมานานหลายปี โดยเฉพาะคราวที่ยก "แนวคิดของสีจิ้นผิง" ขึ้นมาเป็นทางการนำประเทศ และยิ่งผลักดันให้มีการศึกษาแนวคิดของสีจิ้นผิงในสถาบันการศึกษา ยิ่งคล้ายกับคราวที่มีการส่งเสริมให้ประชาชนศึกษาแนวคิดของเหมาและเติ้ง

อย่างไรก็ตาม ข้อสองนี้ไม่อาจเป็นไปได้ เงื่อนไขของสังคมจีนไม่ได้วุ่นวายจนกระทั่งทำให้เกิดมติประวัติศาสตร์ที่ทรงพลังเหมือนสองครั้งก่อนได้ อีกทั้งแถลงการที่ประชุมก็ระบุว่าไม่มีการล้มล้างแนวคิดของเติ้งเสี่ยวผิงและเหมาเจ๋อตง แต่ยังยกย่องทั้งสองแนวคิด เพียงแต่เชิดชูแนวทางของสีจิ้นผิงไปพร้อมๆ กัน

ว่ากันตามตรงแล้ว เหมาเจ๋อตงมีแนวคิดที่เฉียบคม เพราะเหมาเป็นนักยุทธศาสตร์ที่เก่งกาจ เป็นนักปรัชญาที่ลุ่มลึก และเป็นผู้ที่เขียนภาษาเรียบง่ายเข้าถึงมวลชน แนวคิดของเหมาจึงแพร่หลายไปไกลไม่เฉพาะในจีน แต่เป็นดั่งคัมภีร์การปฏิวัติสังคมนิยมในบางประเทศ

กับเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งเป็นนักปฏิบัตินิยม แนวคิดของเขายิ่งเข้าถึงง่าย เป็นโรดแมปในการสร้างจีนยุคเปิดประเทศในสมัยประธานาธิบดีต่างๆ ผู้นำยุคหลังๆ แม้จะมีการผลักดันทฤษฎีของตนเองบ้าง แต่ไม่อาจเทียบได้กับเติ้ง

เหมาและเติ้งเป็นหลักไมล์ของยุคสมัยประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของจีน แนวคิดของเหมามีขึ้นเพื่อสร้าง "จีนใหม่" (หรือซินหัว คือจีนหลังการปกครองพรรคคอมมิวนิสต์) แนวคิดของเติ้งมีขึ้นเพื่อสร้างจีน "ยุคปฏิรูปเศรษฐกิจ" (ไก่เก๋อ ไคฟ่าง คือจีนหลังเลิกปิดตัวเองและน้อมรับทุนนิยมหรือ "สังคมนิยมที่มีลักษณะแบบจีน)

มาถึงจุดนี้ย่อมต้องเกิดคำถามก็คือ หลักไมล์ในยุคของสีจิ้นผิงคืออะไร? 

คำตอบของคำถามนี้ยังไม่จำเป็น

เพราะความจำเป็นแรกสุดคือการยกย่องแนวทางของสีจิ้นผิง เพื่อให้ทุกคนต้องไปตามเส้นทางนี้โดยดุษฎีจึงต้องบวกแนวคิดของเหมาและเติ้ง รวมถึงแนวคิดของเจียงเจ๋อหมิน (ทฤษฎีสามตัวแทน) ทั้งนี้เพื่อให้ "ขลัง" แล้วค่อยตามด้วยแนวทางของสีจิ้นผิงรวมถึงสิ่งที่เขาชี้แนะและวิเคราะห์ (เช่น สี่ยุทธศาสตร์บูรณาการ) 

ใช้คำว่ามติประวัติศาสตร์เพื่อทำให้เขามีความสำคัญเทียบเท่าอดีตผู้นำระดับปูชนียบุคคลในอดีต ทั้งนี้ก็เพื่อตอกย้ำความชอบธรรมให้สีจิ้นผิง เพราะการเมืองจีนนั้นไม่ได้เป็นเอกภาพอย่างที่คนภายนอกเห็น แต่เป็นการต่อสู้และต่อรองของกลุ่มก้อนทางการเมืองต่างๆ ในพรรค หรือสายอำนาจต่างๆ 

กลุ่มที่ถูกฝ่ายของสีจิ้นผิงจับตาและลงมือกวาดล้างไปแล้ว เช่น กลุ่มของเจียงเจ๋อหมิน แต่ในแถลงการณ์ยังยกย่องทฤษฎีสามตัวแทนของเจียงเจ๋อหมินและเอ่ยถึงการสร้างเอกภาพ นั่นหมายความว่าเป็นการส่งสัญญาณไปยังฝ่ายต่างๆ ว่า สีจิ้นผิงไม่คิดล้มล้างสายอำนาจต่างๆ ยังซูฮกเจียงเจ๋อหมิน แต่ก็มีคำเตือนซ่อนไว้ด้วยว่าฝ่ายต่างๆ จงอย่าเหิมเกริม

ด้วยเหตุที่มติประวัติศาสตร์ต่างๆ เกิดจากการกำราบฝั่งฝ่ายทางการเมือง คราวนี้ก็มีจุดประสงค์เพื่อสร้าง "ยุคสมัยสีจิ้นผิง" เช่นกัน มันมีจุดมุ่งหมายบั่นทอนกลุ่มอำนาจอื่นๆ ให้ยอมสยบ ในเบื้องต้นมันจึงมีนัยในด้านการรวบอำนาจมากกว่าการสร้างแนวทางพัฒนาประเทศ ณ จุดนี้มันจึงคล้ายกับมติประวัติศาสตร์สองครั้งก่อน ที่มีการกวาดล้างกลุ่มอำนาจเดิมด้วย 

เราจึงต้องจับตาดูว่ามันจะมีเหตุการณ์แบบนั้นอีกหรือไม่ อย่างเบาะๆ เรารู้แล้วว่าจีนกำลังดำเนินการจัดระเบียบหลายๆ ด้าน

และก่อนที่จะมีการประชุมนี้ไม่กี่วัน บุคคลรายล่าสุดที่อาจจะถูกเล่นงานคือจางเกาหลี่ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในสายเจียงเจ๋อหมิน ซึ่งถูกแฉว่าลวนลามอดีตนักเทนนิสหญิงชื่อดัง

และเมื่อวิเคราะห์จากแถลงการณ์การประชุมแล้ว เป็นการประเมินความสำเร็จเสียมาก แทบไม่ไม่มีการประเมินแบบวิพากษ์ตนเองในเชิงผิดและพลาดเหมือนมติประวัติศาสตร์ครั้งก่อน เพียงแต่มันบวกเอา "ความสำเร็จ" ของสีจิ้นผิงเข้าไปด้วย นั่นหมายความว่านี่คือการรวบยอดคุณงามความดีของพรรคตลอดร้อยปีเอามาไว้ในยุคสมัยของเขานั้นเอง โดยที่ยังไม่ชั่งน้ำหนักดีชั่วด้วยกระบวนการประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง

ดังนั้น กับคำถามที่ว่าหลักไมล์ในยุคของสีจิ้นผิงคืออะไรจึงยังตอบไม่ได้ แต่ที่ตอบได้คือมันจะช่วยให้สีจิ้นผิงมีอำนาจมากขึ้นจนสร้างหลักไมล์สำคัญขึ้นมาได้ในอนาคต

คำตอบของคำถามข้างต้นนั้น จะมีผู้ตอบก็ต่อเมื่อมีการประชุมเพื่อกำหนดมติประวัติศาสตร์ของพรรคครั้งต่อไป เหมือนกับที่ครั้งแรกเหมาเจ๋อตงประเมินสมาชิกยุคแรกของพรรค เหมือนมติที่สองที่เติ้งเสี่ยวผิงประเมินเหมาเจ๋อตง

และครั้งต่อไปบุคคลในอนาคตจะประเมินสีจิ้นผิง ว่ามีคุณหรือโทษอย่างไรกับประวัติศาสตร์จีน

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Greg BAKER / AFP