posttoday

Merck ยันชาติยากจนได้ 'โมลนูพิราเวียร์ ' อย่างเท่าเทียม ไม่ซ้ำรอยวัคซีน

11 พฤศจิกายน 2564

ผู้ผลิตยันทุกชาติไม่ว่ารวยหรือจนสามารถเข้าถึง 'โมลนูพิราเวียร์' ได้พร้อมกันอย่างเท่าเทียม ไม่เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในการแจกจ่ายวัคซีน

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า Merck (เมอร์ค) ยักษ์ใหญ่ด้านเภสัชกรรมของสหรัฐ ผู้ผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) ยาเม็ดรักษาโควิด-19 ให้คำมั่นว่าจะจัดสรรยาดังกล่าวให้แก่ประเทศทั่วโลกพร้อมๆ กันไม่ว่าจะเป็นประเทศร่ำรวยหรือยากจน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เคยเกิดขึ้นจากการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก

พอล ชาเพอร์ ผู้อำนวยการบริหารด้านนโยบายต่างประเทศของ Merck กล่าวกับเอเอฟพีว่า บริษัทได้วางแผนเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานของยาโมลนูพิราเวียร์มาตั้งแต่เดือนก.ค. ปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีการเผยแพร่ผลการทดลองขั้นสุดท้ายในเดือนต.ค. ที่ผ่านมา

"ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 จะมียาโมลนูพิราเวียร์จำนวนมากแจกจ่ายไปยังประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ทุกชาติไม่ว่าจะมีรายได้ต่ำ ปานกลาง หรือสูง จะเข้าถึงยาดังกล่าวได้อย่างเท่าเทียมในเวลาเดียวกัน ไม่เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในการแจกจ่ายวัคซีน" ชาเพอร์กล่าว

โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถผลิตยาดังกล่าวได้ 10 ล้านชุดภายในสิ้นปีนี้ และเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 2 เท่าภายในปี 2022 ซึ่งจะถูกกำหนดราคาตามศักยภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยก่อนหน้านี้มีรายงานว่าบริษัทได้เซ็นสัญญากับรัฐบาลสหรัฐในการจัดหายาโมลนูพิราเวียร์ในราคาชุดละ 700 เหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ Merck ยังทำข้อตกลงร่วมกับ Medicines Patent Pool เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ให้แก่บริษัทต่างๆ ใน 105 ประเทศโดยไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ส่งผลให้ประเทศรายได้ปานกลางและต่ำสามารถผลิตและจำหน่ายยาดังกล่าวเองได้ในราคาไม่แพง

ขณะเดียวกันมูลนิธิ Bill and Melinda Gates Foundation ประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่าจะร่วมสมทบทุนเป็นเงิน 120 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำสามารถเข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์ได้อย่างเท่าเทียม

ทั้งนี้ Merck เผยว่ายาเม็ดดังกล่าวแตกต่างจากวัคซีนโควิด-19 ทั่วไปตรงที่ไม่ได้กำหนดเป้าหมายไปที่โปรตีนหนาม (spike protein) ซึ่งเป็นตัวกำหนดสายพันธุ์ของไวรัส แต่กำหนดเป้าหมายไปที่ viral polymerase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่จำเป็นของไวรัสที่ในการคัดลอกเชื้อ โดยตัวยาจะทำให้รหัสพันธุกรรมของไวรัสผิดพลาดจนไม่สามารถขยายจำนวนขึ้นได้ จึงมีแนวโน้มว่าจะสามารถยับยั้งโควิด-19 ได้แม้ว่าจะมีการกลายพันธุ์

ซึ่งผลการทดลองที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมาพบว่ายาโมลนูพิราเวียร์สามารถลดอาการป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลและอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ครึ่งหนึ่ง

ด้าน Pfizer ก็ได้เผยข่าวดีว่าแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) ยาเม็ดต้านโควิด-19 ของบริษัทยสามารถลดการเข้ารักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้ 89% ในกลุ่มผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการหนัก และยื่นข้อมูลให้องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) ให้เร็วที่สุดเพื่อขออนุมัติการใช้ในกรณีฉุกเฉิน

Photo by Handout / Merck & Co,Inc. / AFP