posttoday

'น้ำทะเลหนุนสูงทำไงได้?' ต่างประเทศเขาทำแบบนี้

09 พฤศจิกายน 2564

ต่างประเทศทำอย่างไรเพื่อรับมือกับปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง ป้องกันน้ำท่วมเมือง

สืบเนื่องจากที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่น้ำทะเลหนุนสูงส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาในบางพื้นที่ โดยตั้งคำถามว่า "จะทำอย่างไรได้ ก็น้ำหนุนมาก" มาดูกันว่าต่างประเทศทำอย่างไรเพื่อป้องกันน้ำท่วมจากปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง

Thames Barrier ลอนดอน สหราชอาณาจักร

- น้ำท่วมในลอนดอนเป็นปัญหาตั้งแต่มีการก่อตั้งเมืองขึ้นในสมัยโรมัน โดยจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีการก่อสร้าง Thames Barrier หรือพนังกั้นน้ำแม่น้ำเทมส์ เกิดขึ้นเมื่อปี 1953 เกิดพายุถล่มชายฝั่งตะวันออกของอังกฤษ รวมถึงเนเธอร์แลนด์ และประเทศอื่นๆ บริเวณชายฝั่งทะเลเหนือ

- ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำเทมส์ทะลักเข้าท่วมรุนแรง ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 300 คน นับว่าเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติในพื้นที่ทางตอนเหนือของยุโรปที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 2 ศตวรรษ ซึ่งพิสูจน์ว่าคันกั้นน้ำตามแนวชายฝั่งไม่เพียงพอที่จะปกป้องลอนดอนให้พ้นจากน้ำท่วม

'น้ำทะเลหนุนสูงทำไงได้?' ต่างประเทศเขาทำแบบนี้

(Environment Agency-Defra Data Services Platform/Wikipedia)

- ในปีต่อมา (1954) จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์น้ำท่วมอันเลวร้ายครั้งนั้น และมีการหารือเกี่ยวกับโครงการเพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติจากน้ำท่วมในลอนดอนมาเรื่อยๆ จนได้ข้อสรุปที่จะสร้าง Thames Barrier ขึ้นในเขตเมืองวูลวิช ทางตะวันออกของนครลอนดอน

- การก่อสร้างเริ่มต้นในปี 1974 และเปิดใช้งานในปี 1984 ด้วยงบประมาณ 534 ล้านปอนด์ ซึ่งนับว่าเป็นพนังกั้นน้ำท่วมที่เคลื่อนได้ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจาก Oosterscheldekering ในเนเธอร์แลนด์

'น้ำทะเลหนุนสูงทำไงได้?' ต่างประเทศเขาทำแบบนี้

(Arpingstone/Wikipedia)

- Thames Barrier ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันกระแสน้ำและคลื่นพายุจากทะเลเหนือที่จะพัดเข้าท่วมที่ราบส่วนใหญ่ของมหานครลอนดอน โดยพนังกั้นน้ำสามารถเปิดปิดตามระดับน้ำ โดยจะเคลื่อนปิดเมื่อระดับน้ำขึ้นสูง และในช่วงน้ำลงก็สามารถเปิดเพื่อให้กระแสน้ำไหลลงสู่ทะเลได้

- พนังกั้นน้ำมีความสูง 20.1 เมตร ทางเหนืออยู่ที่ซิลเวอร์ทาวน์และทางใต้อยู่ที่นิวชาร์ลตัน รวมความยาวทั้งสิ้น 520 เมตร โดยมีประตูเหล็ก 10 บานเรียงต่อกันซึ่งสามารถเคลื่อนปิดและเปิดเพื่อระบายน้ำได้ โดย Thames Barrier สามารถปกป้องลอนดอนจากน้ำทะเลหนุนสูงมาได้หลายครั้งตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

Oosterscheldekering ซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์

- โครงการกั้นน้ำที่ใหญ่และยาวที่สุดจากทั้งหมด 13 แห่งใน Delta Works โครงการที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นระบบป้องกันน้ำท่วมที่ดีที่สุดในโลก และ American Society of Civil Engineers (ASCE) ยังยกให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกสมัยใหม่

'น้ำทะเลหนุนสูงทำไงได้?' ต่างประเทศเขาทำแบบนี้

(Rens Jacobs/Wikipedia)

- Oosterscheldekering สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังจากภัยพิบัติน้ำท่วมจากทะเลเหนือในปี 1953 เช่นเดียวกับ Thames Barrier และมีประตูซึ่งสามารถเคลื่อนเปิดและปิดได้เช่นเดียวกัน เพื่อให้เรือใหญ่สามารถเคลื่อนผ่านได้

- เขื่อนดังกล่าวเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 1976 แล้วเสร็จในปี 1986 สร้างขึ้นระหว่างเกาะ Schouwen-Duiveland และ Noord-Beveland ความยาว 9 กิโลเมตร ประกอบด้วยเสาคอนกรีตขนาดใหญ่ 65 ต้น ความสูงระหว่าง 35 ถึง 38.5 เมตร น้ำหนักต้นละ 18,000 ตัน มีประตูเหล็ก 62 บาน โดยแต่ละบานกว้าง 42 เมตร สูง 6 ถึง 12 เมตร

'น้ำทะเลหนุนสูงทำไงได้?' ต่างประเทศเขาทำแบบนี้

(Nils van der Burg/Wikipedia)

- ทั้งนี้ ระบบป้องกันน้ำท่วม Delta Works ของเนเธอร์แลนด์ประกอบด้วยโครงการย่อย 13 โครงการ โดยมีทั้งเขื่อน พนังกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ และแนวกั้นคลื่นพายุ ที่ตั้งอยู่ในเซาท์ฮอลแลนด์และซีแลนด์ สร้างขึ้นหลังเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 1953 ซึ่งส่งผลให้พื้นที่กว่า 930,000 ไร่จมอยู่ใต้น้ำ