posttoday

'มงกุฎกา' กับอำนาจมนตราแห่งกษัตริย์ภูฏาน

05 พฤศจิกายน 2564

วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นวันขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ประมุขแห่งราชอาณาจักรภูฏาน

ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย มักมี "เครื่องราชกกุธภัณฑ์" ที่เป็นสัญลักษณ์อำนาจแห่งองค์เหนือหัว ในประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดีย เช่นในไทย ลาว กัมพูชา จามปา ชวาและบาหลี "ร่มขาว" หรือเศวตฉัตร คือสัญลักษณ์แห่งพระมหากษัตริย์ ในไทยนั้นยิ่งฉัตรมีหลายชั้น (เก้าชั้น คือนพปฎลมหาเศวตฉัตร) ยิ่งหมายถึงพระราชอำนาจอันสูงส่ง

เครื่องกกุธภัณฑ์จำพวกนี้มักมีความเชื่อเรื่องอำนาจศักดิ์สิทธิ์พ่วงมาด้วย เช่น ในไทยเชื่อว่านพปฎลมหาเศวตฉัตรนั้นมีเทพยดาเป็นอารักษ์อยู่ จะต้องทำพลีกรรมบวงสรวงอยู่เป็นนิตย์และจะล่วงละเมิดไม่ได้ เทพผู้รักษาเศวตฉัตรยังเป็นผู้รักษาแผ่นดินด้วยในทำนองเดียวกับความเชื่อเรื่องพระสยามเทวาธิราช

ในกัมพูชายังมีเครื่องกกุธภัณฑ์อีกองค์หนึ่งที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์และมีอิทธิฤทธิ์เล่าสืบต่อมาเป็นตำนาน คือ "พระขรรค์ราชย์" จะถวายให้พระมหากษัตริย์เพื่อคราวทรงขึ้นครองราชย์ และจต้องจัดบารคูหรือพราหมณ์คอบทำพิธีบวงสรวงเสมอ เชื่อกันว่าสีของพระขรรค์ราชนั้นบอกดวงชะตาของบ้านเมืองได้ หากมีสีสนิมแดงดั่งเลือดแสดงว่าบ้านเมืองถึงกาลวิบัติ

ที่ญี่ปุ่นมีกกุธภัณฑ์ 3 ประการ คือพระแสงคุซานางิหนึ่ง คันฉ่องยาตะหนึ่ง และมณียาซากานิหนึ่ง ทั้งสามสิ่งนี้ พระแสงคุซานางิดูเหมือนจะมีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากเกี่ยวพันกับเทพเจ้าผู้เป็นบรรพชนของจักรพรรดิญี่ปุ่น และมีบันทึกถึงอิทธิฤทธิ์ของพระแสงนี้ในประวัติศาสตร์โบราณ (บันทึกประวัติศาสตร์โคจิกิ)

ความเชื่อของฤทธิ์เดชของเครื่องกกุธภัณฑ์จึงเกี่ยวข้องกับศาสนาในประเทศนั้น เรื่องพระแสงคุซานางิเกี่ยวข้องโดยตรงกับเทพเจ้าในศาสนาชินโต เรื่องพระเศวตฉัตรเป็นคติที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์ เช่นเดียวกับพระขรรค์ราชของกัมพูชาที่เกีย่วข้องกับศาสนาพราหมณ์และความเชื่อท้องถิ่น

ภูฏาน เป็นประเทศพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแบบวัชรยาน พระมหากษัตริย์นอกจากจะทรงเป็นประมุขทางโลกยังทรงมีภารกิจในทางธรรมด้วย

ตามปกติแล้ว วัฒนธรรมในเอเชียจะไม่ถือมงกุฎว่าเป็นกกุธภัณฑ์ที่มีอภินิหารและเป็นเครื่องหลักเหมือนคติที่ถือกันในยุโรป เแต่ภูฏานเป็นข้อยกเว้น เครื่องกกุธภัณฑ์สำคัญของกษัตริย์คือมงกุฎ (หรืออันที่จริงควรเป็นพระมาลามากกว่า แต่ทางภูฏานเรียกอุษา) เรียกว่า "มงกุฏกา" (Raven Crown)

กรรมา พุนโช (Karma Phuntsho)นักคิดและนักสังคมสงเคราะห์ ประธานมูลนิธิ Loden และเป็นผู้เขียนหนังสือและบทความมากมาย รวมทั้งหนังสือ The History of Bhutan เล่าถึงที่มาของมงกุฎกาว่า อีกาเป็นสัตว์มงคล เมื่อครั้งที่ท่านงาวัง นัมกยัล พระลามะชั้นสูง (มีสมณะฉายาว่า ซับดรุง รินโปเช) มีเหตุให้ต้องลี้ภัยจากทิเบตมาปักหลักที่ภูฏาน ท่านเกิดนิมิตว่าได้เหาะมาจากทิเบตมายังทิมพู (ปัจจุบันคือเมืองหลวงของภูฏาน) โดยบินมากับกาตัวหนึ่ง

พุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานมีเทพและโพธิสัตว์มากมาย หนึ่งในนั้นคือ "มหากาล" ซึ่งมีหลายปาง เมื่อท่านงาวัง นัมกยัลมาถึงภูฏานแล้ว ก็เชื่อกันว่ากานั้นเป็นการจำแลงของมหากาล ชาวภูฏานจึงบูชามหากาลปางหน้าอีกาในฐานะเทพผู้ปกป้องแผ่นดินมานับแต่นั้น

แต่ในยุคแรกนั้น ภูฏานไม่ได้เป็นเอกภาพ แต่มีเจ้ามณฑลคือ "เพนลอป" ปกครองมณฑลทั้ง 9 ค่อนข้างเป็นเอกเทศ ในระดับส่วนกลางจะมีการคัดเลือกฆราวาสมาเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารเรียกว่า "ดรุก เดซี" ปกครองในทางโลกเรียกว่า "เทพราชา" ส่วนในทางธรรมมี "เจ เคนโป" หรือ "ธรรมราชา" หรือสังฆราชแบ่งกันปกครอง

ในปลายศตวรรษที่ 19 มณฑลตรองซา มีขุนนางที่มากความสามารถคนหนึ่งชื่อว่า จิกมี นัมกยัล ขณะที่เขาเป็นปลัดมณฑลอยู่นั้นได้พบกับพระลามะท่านหนึ่งชื่อว่าจังชุบ ซุนดรู และฝากตัวเป็นศิษย์กับท่าน ท่านจังชุบ ซุนดรูจึงสร้างมงกุฎกาขึ้นมาแล้วมอบให้จิกมี นัมกยัล ราวกับมองเห็นว่าอนาคตคนผู้จะเป็นมหาบุรุษของแผ่นดิน

มงกุฎกายุคแรกนั้นหน้าตาไม่เหมือนทุกวันนี้ มียอดเป็นเศียรและปีกครุฑ ประดับด้วยพระเนตรของมหากาล และมีศีรษะของหงส์ประดับไว้ พร้อมด้วยวัชระ

ในเวลาต่อมาจิกมี นัมกยัลก็ได้ก้าวขึ้นมาจากปลัดมณฑล ขึ้นมาเป็นเจ้าผู้ปกครองมณฑล แต่เขายังไม่ได้หยุดลงแค่นั้น

ในเวลานั้นมณฑลและผู้มีอำนาจต่างๆ ในภูฏานขัดแย้งกันเอง จิกมี นัมกยัลก็ทำการปราบกลุ่มก๊กต่างๆ จนเกิดสันติภาพขึ้นหลังจากใช้ความพยายามยาวนานถึง 30 ปี

ไม่เพียงเท่านั้น ในศตวรรษที่ 19 อนุทวีปอินเดียถูกอังกฤษครอบครองจนเกือบหมด อังกฤษเริ่มขยายอิทธิพลขึ้นเหนือมายังหิมาลัยและทิเบตและปะทะเข้ากับภูฏานเพราะอังกฤษต้องการดินแดนตอนล่างของภูฏานซึ่งเป็นที่ราบอุดมสมบูรณ์

จนกระทั่งเกิดสงครามกัน จิกมี นัมกยัลผู้ครองมงกุฎกานำทัพภูฏานยันอังกฤษเอาไว้ได้และยังเอาชนะอังกฤษได้อีกด้วย แต่สุดท้ายทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันได้ โดยภูฏานเสียที่ราบไป (เรียกว่าพื้นที่ดูอา) แต่อังกฤษจะจ่ายเงินชดเชยให้ภูฏานปีละ 50,000 รูปี

กรรมา พุนโชเล่าว่า จิกมี นัมกยัลใช้มงกุฎกาในพิธีกรรมเพื่อปราบปรามพลังชั่วร้าย และมีตำนานมุขปาฐะเล่ากันว่า “เมื่อจิกมี นัมกยัลอัญเชิญ เลเกิน หรือมหากาลหน้าอีกาก่อนที่เขาจะเดินออกจากมณฑลตรองซา แท่นบูชาก็สั่นสะเทือนและมีอีกาติดตามเขาไปจนถึงสนามรบ เมื่อเขายิง ประสุนเจาะเข้าที่หน้าผากเจ้าหน้าที่อังกฤษ ”

กล่าวกันว่า จิกมี นัมกยัลเป็นผู้ชนะสี่ทิศและไม่มีใครพิชิตได้ก็เพราะอำนาจของมงกุฎกา

เชอริง ทาชิ (Tshering Tashi) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ภูฏานผู้ร่วมเขียนหนังสือ The Bodhisattva King, Bold Bhutan Beckons, Symbols of Bhutan เขียนไว้ว่า ทุกครั้งที่จิกมี นัมกยัลเดินทางไปไหนจะจัดม้าดำเอาไว้ สวมบังเหียนและโกลนเหมือนพร้อมสำหรับนั่ง แต่เขาไม่ได้นั่งมัน จะจูงไปข้างกายเสมอ เชื่อกันว่าจัดท้าเอาไว้ให้พระมหากาลทรงประทับ และม้าจะมีเหงื่อโซมกายมันเหมือนกับว่ากำลังเหนื่อยหอบเพราะมีคนนั่งมัน

จิกมี นัมกยัล กลายเป็นบุคคลทรงอำนาจ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเดซีหรือ "เทพราชา" ผู้ปกครองส่วนกลางและในกาลข้างหน้ายังบรรพชนของราชสกุลวังชุก ในเวลานั้นยังแต่งตั้งบุตรชายของตนคือ อุกเยน วังชุกขึ้นเป็นเจ้ามณฑลตรองซาแทนตนด้วย

แต่หลังจากนั้น เจ้ามณฑลต่างๆ เริ่มขัดแย้งกันเอง เพราะแบ่งเป็นฝ่ายเอียงทิเบตต่อต้านอังกฤษและฝ่ายที่เอียงเข้าหาอังกฤษ อุกเยน วังชุกก็สานต่องานของพ่อด้วยการทำศึกสงครามกลางเมือง และกำราบฝ่ายตรงข้ามได้สำเร็จรวบรวมอำนาจเป็นหนึ่งเดียว พร้อมกับที่ระบบเทพราชาและธรรมราชาเสื่อถอยลง

ในปี 1907 คณะสงฆ์และคณะชนชั้นสูงฝ่ายฆราวาสก็เชิญ อุกเยน วังชุกขึ้นเป็น "ดรุก กยัลโป" หรือพระราชา สืบทอดตำแหน่งทางสายเเลือดเป็นองค์แรกของราชอาณาจักรภูฏาน และมงกุฎกาก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ภูฏานนับแต่นั้น

กรรมา พุนโช กล่าวว่า เมื่อถึงรัชกาลที่ 5 คือ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ได้สร้างมงกุฎกาอีกองค์ แล้วไปประกอบพิธีที่ศาลของท่านซับดรุง ผู้สถาปนาประเทศภูฏานเพื่อให้เกิดอำนาจศักดิ์สิทธิ์ และยังออกแบบให้รักษารูปลักษณ์ตามขนบพุทธตันตระ คือปักลายรูปกะโหลกและโครงกระดูที่ขอบมาลา มีเศียรครุฑขนาบข้างด้วยมังกรสายฟ้าสองตัว (มังกรสายฟ้า หรือดรุก เป็นสัญลักษณ์ของประเทศภูฏาน)

และมีรูปกาประดับเพชรและจะงอยปากทำจากนอแรด ดวงตาทำจากหินทิเบตที่เชื่อกันว่ามีพลังอำนาจลี้ลับ

โดย กรกิจ ดิษฐาน

ภาพจาก King Ugyen Wangchuck — in Punakha, the old capital of Bhutan, in 1905. by John Claude White - British Library