posttoday

โลกจะรอดหรือไม่ ประชุม COP26 ชี้ชะตาปัญหาโลกร้อน

01 พฤศจิกายน 2564

จับตาผู้นำโลกเคลื่อนไหวแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศในการประชุม COP26

การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ครั้งที่ 26 ได้เปิดฉากขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ สก็อตแลนด์ โดยมีผู้นำประเทศเกือบ 200 ประเทศทั่วโลกเดินทางเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกเฉลี่ยไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ลดความเสี่ยงในการเกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ลดการใช้ถ่านหินและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการจัดสรรเงินในการดำเนินการด้านสภาพอากาศ

โดยนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าภาพในการประชุม กระตุ้นให้ประเทศต่างๆ เร่งดำเนินการเพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติด้านสภาพอากาศ พร้อมเน้นย้ำว่า "เราต้องลงมือเดี๋ยวนี้...หากเรายังไม่จริงจังกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในวันนี้ พรุ่งนี้มันก็สายเกินไปสำหรับลูกหลานของเราแล้ว"

"เราต้องเปลี่ยนจากการพูดคุย โต้วาที และอภิปราย ไปสู่การลงมือทำจริง ทั้งถ่านหิน รถยนต์ เงินสด และป่าไม้...ต้องมีคำมั่นสัญญาที่ชัดเจนและตารางเวลาที่เป็นรูปธรรมสำหรับการเปลี่ยนแปลง"

ทำไมถึงสำคัญ?

บรรดาผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนถึงวิกฤตสภาพอากาศในปัจจุบัน โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เผยแพร่รายงานว่าด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประจำปี 2021 ระบุว่า โลกจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 2.7 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้

ขณะที่เมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมาองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ออกรายงานระบุว่าภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจทะลุ 1.5 องศาเซลเซียสในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยสภาพอากาศแปรปรวน รวมถึงการเกิดไฟป่า และน้ำท่วมจะส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก

รายงานจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) หน่วยงานด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติ (UN)ยังเตือนว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขณะนี้กำลังจะทำให้ภูเขาน้ำแข็ง 3 แห่งสุดท้ายในแอฟริกาละลายหายไปภายใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณของภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกที่ไม่อาจย้อนกลับได้

ทั้งนี้ ในปี 2020 ที่ผ่านมาเป็น 1 ใน 3 ปีที่โลกร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกตั้งแต่ปี 1850 หรือเมื่อ 170 ปีที่แล้ว ซึ่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเตือนว่าโลกกำลังอยู่ในช่วง "หายนะของสภาพภูมิอากาศ"

ขณะที่อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติเคยระบุว่าโลกกำลังเข้าใกล้ภัยพิบัติจากสภาพอากาศ โดยภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างไฟไหม้ น้ำท่วม พายุไซโคลน และเฮอริเคนกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ยังผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทางการเงินอีกด้วย โดยคริสตาลินา จอร์จีวา หัวหน้ากองทุนการเงินระหว่างประเทศเรียกร้องให้ผู้นำโลกเข้าร่วมประชุม COP26 และแสดงความมุ่งมั่นด้านนโยบายในการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนมากกว่านี้ โดยเรียกว่าเป็น "ภัยคุกคามร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจระดับมหภาคและความมั่นคงทางการเงิน"

ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในปัจจุบันจะส่งผลให้การปล่อยคาร์บอนในปี 2030 สูงกว่าความจำเป็นมาก ซึ่งจอร์จีวาชี้ว่าเป็นสิ่งที่บรรดาผู้นำโลกควรเร่งดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่านี้

ฝากความหวังไว้กับ COP26

ภายหลังจากการประชุมสุดยอดของผู้นำกลุ่มประเทศ G20 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30-31 ต.ค. ที่ผ่านมา ยังไม่มีข้อเสนอและการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน และการลดการใช้พลังงานถ่านหินที่ชัดเจน ซึ่งเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก

ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ก็ได้ออกมาแสดงความผิดหวังในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน โดยกล่าวโทษว่าเป็นเพราะรัสเซียและจีนที่ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

ส่งผลให้หลายฝ่ายฝากความหวังไว้กับการประชุม COP26 ว่าจะมีข้อตกลงที่ชัดเจนหรือการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Photo by ALAIN JOCARD / AFP