posttoday

การค้นพบขุมสมบัติ 'ศรีวิชัย' ในดินแดน 'สุวรรณทวีป'

25 ตุลาคม 2564

เป็นที่ถกเถียงกันมานานว่าศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ที่ไหนกันแน่ นักประวัติศาสตร์ในไทยเชื่อว่าอยู่ที่ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี ในขณะที่นักประวัติศาสตร์อินโดนีเซียเชื่อว่าอยู่ที่เมืองปาเล็มบัง บนเกาะสุมาตรา กาค้นพบล่าสุดอาจเผยที่ตั้งแท้จริงของศรีวิชัย

ดร.ฌอน คิงส์ลีย์ (Dr Sean Kingsley) นักโบราณคดีทางทะเลของอังกฤษ บอกกับ MailOnline ว่า นักสำรวจผู้ยิ่งใหญ่หลายรายพยายามตามล่าที่ตั้งของอาณาจักรศรีวิชัย โดยบุกไปไกลถึงประเทศไทยและแม้แต่ในอินเดีย แต่พวกเขาเหล่านั้นไม่มีโชค ไม่พบทั้งที่ตั้งของศรีวิชัยและขุมสมบัติที่ล้ำค่า

คิงส์ลีย์เชื่อว่าศรีวิชัยอาจอยู่ที่ปาเล็มบัง แต่เขาบอกว่า "แม้แต่ที่ปาเล็มบัง ที่ตั้งดั้งเดิมของอาณาจักรที่สาบสูญไป นักโบราณคดีก็ยังไม่สามารถหาเครื่องปั้นดินเผาได้มากพอที่จะอวดว่ามีเท่ากับหมู่บ้านเล็กๆ ได้ ศรีวิชัย อาณาจักรสุดท้ายที่สูญหายไปจากโลก เก็บความลับของมันเอาไว้อย่างเหนียวแน่น"

คิงส์ลีย์อาจจะ "เว่อร์" ไปหน่อยเรื่องที่บอกว่าศรีวิชัยเป็นอาณาจักรสุดท้ายที่สูญหายไปจากโลก เพราะความจริงมีบันทึกความเชื่อมที่ทำให้เราทราบว่าศรีวิชียไม่ได้หายไปไหน มันยังอยู่ในความทรงจำของคนรุ่นต่อและในประวัติศาสตร์ของประเทศอื่นเช่นจีน เพียงแต่ที่ตั้งของมันเท่านั้นที่เป็นปัญหา

แต่คิงส์ลีย์พูดถูกเรื่องปาเล็มบัง เพราะแม้จะมีการเสนอว่าที่นี่คือที่ตั้งของศรีวิชัย แต่พบหลักฐานทางโบราณคดีน้อยมาก ในขณะที่ไชยาพบโบราณวัตถุและโบราณสถานมากกว่า แต่ก็ไม่มีสมบัติที่ล้ำค่ามากพอที่จะบอกว่านี่คือเมืองหลวง ไม่ใช่หัวเมืองสำคัญของอาณาจักร

จนกระทั่งนักดำน้ำงมสมบัติที่แม่น้ำมูซีใกล้กับเมืองปาล็มบังค้นพบสิ่งของล้ำค่า ตั้งแต่พระพุทธรูปขนาดเท่าคนจริงจากศตวรรษที่ 8 (อายุประมาณ 1,200 ) ที่ประดับประดาด้วยอัญมณีล้ำค่า มูลค่าหลายล้านปอนด์ ไปจนถึงเครื่องทองโบราณและลูกปัดซึ่งเป็นของประดับในยุคสมัยนั้น

การค้นพบขุมสมบัติ 'ศรีวิชัย' ในดินแดน 'สุวรรณทวีป'

นอกจากของประดับแล้ว สิ่งสำคัญคือสิ่งที่าสะท้อนวัฒนธรรมของศรีวิชัย เช่นแหวนพิธีทองประดับด้วยทับทิมและวัชระสี่ง่ามทำจากทองคำ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีตันตระในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธนิกายมนตรยาน อันเป็นศาสนาหลักของศรีวิชัยและทำให้นักบวชจากดินแดนต่างๆ เดินทางมายังที่นี่เพื่อศึกษาเล่าเรียนธรรมะ

ดร.ฌอน คิงส์ลีย์เปิดเผยงานวิจัยของเขาในนิตยสาร Wreckwatch (นิตยสารว่าด้วยสมบัติใต้ทะเลและเส้นทางสายไหม) ฉบับฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งสามารถชมภาพการค้นพบได้จากนิตยสารเล่มนี้

จากงานเขียนใน Wreckwatch รวมถึงการรายงานของสื่อต่างๆ เช่น กับ MailOnline และ Guardian ดูเหมือนว่าฌอน คิงส์ลจะเชื่อมั่นว่าเขาค้นพบศรีวิชัยเข้าให้แล้ว และสื่อบางแห่งบอกว่านี่คือ "เกาะทองคำ" ที่สาบสูญไป

"เกาะทองคำ" คืออะไร? อันที่จริงแล้วมันไม่ใช่สถานที่ลึกลับอะไร มันเป็นการแปลชื่อโบราณของสถานที่แห่งหนึ่งที่เชื่อกันว่าอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือ "สุวรรณทวีป" ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตที่แปลว่า เกาะทองคำ

สุวรรณทวีปเป็นชื่อที่มาพร้อมกับคำว่า "สุวรรณภูมิ" (แผ่นดินทอง) ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปว่าสุวรรณทวีปกับสุวรรณภูมิเป็นดินแดนแห่งเดียวกันหรือไม่ และมันควรตั้งอยู่ที่ไหน

ชื่อสุวรรณทวีปปรากฏในตำราอินเดียสมัยศตวรรษที่ 8 ชื่อ "สมราอิจจกหา" ที่เขียนโดยหริภัทระ สูริ (ค.ศ. 700–770) บรรยายถึงการเดินทางทางทะเลสู่สุวรรณทวีป บอกว่าที่นั่นทำอิฐจากทรายที่อุดมด้วยทองคำ ทิศที่ตั้งของสุวรรณทวีปอยู่ทางตะวันตกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงน่าจะเป็นสุมาตรา คาบสมุทรมาเลย์ บอร์เนียว และชวา

การค้นพบขุมสมบัติ 'ศรีวิชัย' ในดินแดน 'สุวรรณทวีป'

นอกจากนี้ยังปรากฏในตำรา "กถากริตสาคร" เขียนโดยโสมะเทวะแห่งกัศมิระ (แคชเมียร์) ในศตวรรษที่ 11 บอกว่า สุวรรณทวีปคือดินแดนที่พ่อค้าวาณิชย์เดินทางไปบ่อยๆ ระหว่างทางไปยังประเทศจีน

จากหลักฐานเหล่านี้ เฮนดริก เคิร์น (Johan Hendrik Caspar Kern) นักภาษาศาสตร์และบูรพวิทยาชาวดัตช์ สรุปในบทความชื่อ "ชวาและเกาะทองตามรายงานที่เก่าแก่ที่สุด" ว่าสุมาตราคือสุวรรณทวีปที่กล่าวถึงในตำราฮินดูโบราณ

แน่นอนว่า มันยังเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกัน เพราะแม้นักวิชาการอย่างเคิร์นจะสรุปว่ามันคือเกาะสุมาตรา แต่บันทึกการเดินทางของพระอี้จิ้ง พระชาวจีนที่เดินทางไปแสวงบุญที่อินเดียและแวะผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่าสุวรรณภูมิและสุวรรณทวีปคือสถานที่แห่งเดียวกัน

หากเลี่ยงเรื่องสุวรรณภูมิ/สุวรรณทวีปออกไป (เพราะยังเป็นประเด็นที่ลงรอยได้ยากมากกว่า) แล้วโฟกัสที่การค้นพบสมบัติที่แถวๆ ปาเล็มบังบนเกาะสุมาตรา ทฤษฎีเรื่องศรีวิชัยและสุวรรณทวีปอยู่ที่เกาะสุมาตราดูเหมือนจะมีน้ำหนักมากขึ้น

ทำไมจึงมีน้ำหนัก? ในบันทึกของจีนเรียกดินแดนหนึ่งในแถบคาบสมุทรมลายู-หมู่เกาะอินโดนีเซียว่า "ซานฝอฉี" ซึ่งมักจะเชื่อกันว่ามันหมายถึงศรีวิชัย เพราะมีบันทึกจีนเรียกปรเะทศนี้อีกอย่างว่า "ซื่อลี่ฝอซื่อ" ซึ่งออกเสียงคล้ายกับศรีวิชัย

แล้ว "ซานฝอฉี" หรือศรีวิชัยที่จีนบันทึกไว้อยู่ที่ไหน? ตอนที่ศรีวิชัยยังเป็นอาณาจักร (หรือบางคนเสนอว่าไม่ใช่อาณาจักรแต่เป็นสมาพันธรัฐ) อยู่นั้นเราไม่รู้แน่ว่ามันอยู่ที่ไหน เพราะไทยก็อ้างว่าอยู่ที่ไชยา อินโดนีเซียก็เชื่อว่าอยู่ปาเล็มบัง

แต่เมื่อศรีวิชัยถูกอาณาจักรอื่นรุกราน ตอนนี้เองที่มีบันทึกของจีนบอกว่า หลังจากศรีวิชัยล่มแล้ว เชื้อพระวงศ์ศรีวิชัยหนีไปสิงคโปร์ (ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน) จากนั้นไปตั้งอาณาจักรมะละกา

การค้นพบขุมสมบัติ 'ศรีวิชัย' ในดินแดน 'สุวรรณทวีป'

ในเวลานั้นเอง คนจีนในท้องถิ่น 1,000 คนยกให้ "เหลียงต้าวหมิง" เป็นคนจีนจากเมืองหนานไห่ มณฑลกวางตุ้งเป็นผู้นำ เหลียงต้าวหมิงนำชาวจีนและคนท้องถิ่นในปาเล็มบังต่อต้านการรุกรานของอาณาจักรมัชปาหิตจากชวา เมื่อสำเร็จแล้วเหลียงต้าวหมิงก็ตั้งศรีวิชัยขึ้นมาใหม่เรียกว่า "ซินซานฝอฉี" (แปลว่าซานฝอฉีแห่งใหม่หรือศรีวิชัยใหม่)

หลังจากนั้น "ซินซานฝอฉี" ก็ส่งบรรณาการไปจิ้มก้องเพื่อขอรับการรับรองจากจีน แต่อาณาจักรนี้มีอายุไม่ยืดยาวนัก ถึง ค.ศ. 1470 ก็ถูกอาณาจักรมะละกาโค่นล้มลงได้ในที่สุด

ตอนที่เป็น "ซินซานฝอฉี" นี่เองบันทึกจีนระบุสถานที่ตั้งว่าศรีวิชัยอยู่ตรงไหน ในบันทึกเรียกเมืองที่ตั้งว่า "ท่าเรือเก่า" (จิ้วกั่ง) และยังเรียกว่า "ป่าหลินเฟิง" ซึ่งถอดเสียงมาจากคำว่าปาเล็มบัง

การที่มันชื่อว่า "ท่าเรือเก่า" ทำให้สงสัยว่ามันเป็นท่าเรือมาแต่เดิมโบร่ำโบราณหรือไม่? การค้นพบสมบัติล้ำค่าในแม่น้ำมูซีน่าจะช่วยยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่า "ท่าเรือเก่า" น่าจะคับคั่งจริงๆ ถึงได้มีทรัพย์สมบัติมากมายอย่างนั้น

ชื่อ "ท่าเรือเก่า" ของปาเล็มบังก็อาจหมายถึงความว่ามันเป็นท่าเรือแต่โบราณจริงๆ แต่มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เพราะการปรากฏขึ้นมาของสมบัติล้ำค่าไม่ได้หมายความว่าปาเล็มบังป็นที่ตั้งของเมืองหลวงมาแต่เดิม (อย่างน้อยก็ก่อนที่เหลียงต้าวหมิงตั้งตนเป็นเจ้า) เพราะมันอาจเป็นสมบัติของใครก็ได้ที่ทำตกไว้ หรือถูกโยนทิ้งหลังจากเสียเมืองระหว่างสงครามหลายครั้ง หรืออาจจะเกิดจากเรือล่มก็ได้เพราะนี่คือท่าเรือที่คึกคัก

การค้นพบขุมสมบัติ 'ศรีวิชัย' ในดินแดน 'สุวรรณทวีป'

ในหนังสือสมัยราชวงศ์หมิง ชื่อ "หมิงซานจั้ง" บทที่ว่าด้วยซานฝอฉี กล่าวถึงเหตุการณ์ในแคว้นนี้และเริ่มต้นด้วยการบอกว่า "ประเทศซานฝอฉี สมัยก่อนคือก้านถัวลี่ ยังเรียกว่าปั๋วหลิน" และยังบอกว่าหลังจากถูกชวาครอบครองแล้ว "เมืองหลวงชื่อท่าเรือเก่าถูกทำลาย"

ปั๋วหลินในที่นี้ก็คือปาเล็มบังหรือท่าเรือเก่า แต่ "ก้านถัวลี่" ควรจะเป็นอีกเมือง และข้อมูลนี้ทำให้เราต้องเดินทางมายังไทย เพราะว่า "ก้านถัวลี่" มักจะแปลกันว่าเป็นเมืองคันธุลี เป็นชื่อเมืองโบราณที่ปรากฏในบันทึกจีนมานานแล้ว แล้วต่อมาหายไปจากบันทึกจีน เพราะจีนหันไปเอ่ยถึง "ท่าเรือเก่า" แทน

สถานที่ที่มีชื่อใกล้เคียงกับคันธุลีมากที่สุด ก็คือตำบลคันธุลี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี ที่ไทยเชื่อมั่นว่าคือที่ตั้งของศรีวิชัย

ในแผนที่โบราณของจีนนั้นไม่ได้บอกว่า "ซานฝอฉี" ตั้งอยู่ที่เกาะสุมาตรา แต่บอกว่าอยู่ตรงคาบสมุทรมลายูตรงเป๊ะกับคันธุลี-ไชยา ที่ตั้งนี้ยังตรงกับแผนที่สมัยกรีก-โรมันของโทเลมี ที่ชี้ว่า "แหลมทอง" (Golden Chersonese) อยู่ตรงคาบสมุทรแถบคันธุลี-ไชยา เช่นกัน

การที่แผนที่บอกที่ตั้งชัดขนาดนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าปาเล็มบังไม่ใช่ศรีวิชัย แต่มันอาจเป็นเมืองหลวงในภายหลัง และตอนแรกนั้นมันเป็นแค่ท่าเรือหลัก พอยกระดับเป็นเมืองหลวงแล้วจึงได้ชื่อ "ท่าเรือเก่า" นั่นเอง หมายความว่ามันคือท่าเรือมาแต่เดิมแล้วค่อยเป็นเมืองหลวงเมืองหลักในภายหลัง

แม้ว่าคันธุลีจะไม่มีหลักฐานโบราณคดีที่ยิ่งใหญ่อะไรเทียบได้กับไชยและไม่มีขุมทรัพย์เหมือนปาเล็มบัง แต่ผู้เขียนเชื่อว่ามันจะต้องสำคัญแน่ๆ เพียงแต่ทั้งไทยและเทศไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันนัก

บางทีคงต้องกลับไปศึกษาหลักฐานจากจีนมากๆ แล้วใช้มันเป็นแผนที่นำทาง บางทีเราอาจไขปริศนาเกี่ยวกับศรีวิชัยได้มากกว่านี้

โดย กรกิจ ดิษฐาน

(หมายเหตุ - เรื่องจากภาพการค้นพบเป็นของนิตยสาร Wreckwatch จึงไม่สามารถนำมาเผยแพร่ได้ ผู้เขียนจึงใช้ภาพโบราณวัตถุจากสุมาตราที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ The Metropolitan Museum of Art  ในนิวยอร์ก มาประกอบงานเขียนแทน)