posttoday

ยุคสมัยแห่งสงครามเรือดำน้ำกำลังจ่อคอหอยไทย

18 ตุลาคม 2564

จู่ๆ ก็มารบที่หน้าบ้าน เมื่อเราต้องอยู่แนวหน้าสงครามเรือดำน้ำ ไทยและภูมิภาคอาเซียนทั้งหมดกำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย เมื่อมหาอำนาจกำลังใช้น่านน้ำและดินแดนแถบนี้ทำสงคราม - อย่างน้อยก็สงครามตัวแทน

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม เรือดำน้ำของกองทัพสหรัฐ USS Connecticut ชนข้ากับ "บางสิ่ง" ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ โชคดีที่เครื่องจักรนิวเคลียร์ไม่ได้รับความเสียหาย แต่ลูกเรือได้รับบาดเจ็บ 11 คน

กองทัพสหรัฐไม่ยอมปริปากบอกว่า "บางสิ่ง" ที่เรือชน (หรือชนเข้ากับเรือ?) นั้นคืออะไร

USS Connecticut เป็นหนึ่งในสามของเรือดำน้ำชั้น Seawolf ซึ่งกองทัพเรือสหรัฐระบุว่า “มีความเงียบเป็นพิเศษ เร็ว มีอาวุธครบครัน และมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ขั้นสูง” เรือลำนี้มีท่อตอร์ปิโดแปดท่อและสามารถเก็บอาวุธได้มากถึง 50 ชิ้นในห้องตอร์ปิโด

เมื่อดูสเป็กของเรือจะพบว่ามันไม่น่าจะซุ่มซ่ามขนาดนั้นหากไม่ใช่เพราะความบกพร่องของผู้บังคับเรือ ก็คงต้องเป็นอะไรที่เหนือความควบคุม

การที่มันมีอาวุธครบครันและขับเคลื่อนด้วยพลังนิวเคลียร์ พอเกิดชนเข้ากับ "อะไรก็ไม่รู้" แบบนี้ทำให้เกิดความกังวลกันว่าพวกมหาอำนาจที่กำลังจะรุมจีนนั้น กำลังทำให้อาเซียนซวยไปด้วยหรือเปล่า

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงทำให้น่านน้ำทะเลจีนใต้และอาเซียนตกอยู่ในอันตรายเพิ่มขึ้นอีกระดับ

จีนไม่พลาดที่จะไล่ขยี้เรื่องนี้ กดดันให้สหรัฐเปิดเผยข้อมูลว่ามันชนหรือถูกอะไรชนกันแน่ พร้อมกับประณามว่าหสรัฐกำลังบั่นทอนสันติภาพของภูมิภาค ซึ่งเป็นการด่าที่เข้าจังหวะพอดี เพราะเกิดเรื่องกับ USS Connecticut ตอนที่สหรัฐกับพันธมิตรซ้อมรบที่ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันออกเพื่อ "ส่งแรงใจช่วยไต้หวัน" อยู่พอดี

ข่าวนี้เป็นหนึ่งข่าว อีกข่าวที่มาไล่เลี่ยกันคือสหรัฐจับตัวชาวอเมริกันสองสามีภรรยา (สามีเป็นวิศวกรของกองทัพเรือ) ที่ขายความลับเรื่องเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้กับประเทศหนึ่งซึ่งไม่มีการเปิดเผยว่าเป็นประเทศใด แต่ทราบว่าหนึ่งในข้อมูลที่ส่งให้เกี่ยวกับเรือดำน้ำชั้น Virginia ซึ่งเป็นรุ่นต่อจากชั้น Seawolf (ที่เพิ่งชนอะไรไม่รู้ในทะเลจีนใต้)

สหรัฐเพิ่งจะจับมือกับออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร ตั้งกลุ่มพันธมิตรเรือดำน้ำ หรือ AUKUS ขึ้นมา โดยจะแบ่งปันเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ให้ออสเตรเลีย ออสเตรเลียจะใช้เทคโนโลยีที่ได้มาแปลงโฉมเรือดำน้ำชั้น Collins ที่เป็นเครื่องดีเซล-ไฟฟ้า โดยใช้ระบบควบคุมยุทธวิธีและอาวุธ AN/BYG-1 ของเรือดำน้ำชั้น Virginia รวมถึงการสั่งซื้อเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์เพิ่มจากสหรัฐด้วย และมีรายงานว่าออสเตรเลียอาจเลือกแบบของชั้น Virginia หรือใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนนิวเคลียร์ของชั้น Virginia ในการออกแบบเรือดำน้ำใหม่ของตน

ดังนั้นเรื่องเรือดำน้ำชั้น Virginia มันจึงเกี่ยวกับอาเซียนจนได้

ขณะที่ในไทยยังเถียงกันไม่จบเรื่องซื้อหรือไม่ซื้อเรือดำน้ำ ดูเหมือนว่ามหาอำนาจต่างๆ จะไม่รอไทยอีกต่อไป ต่างประกาศรวมหัวตั้งพันธมิตรเรือดำน้ำ (AUKUS) และพันธมิตรเรือบนน้ำ (QUAD) มาป้วนเปี้ยนแถบมหาสมุทรอินเดียแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่อยไปจนถึงทะเลจีนใต้ แน่นอนว่าเป้าหมายก็เพื่อข่มขู่จีน

แต่ก่อนที่จีนจะถูกขู่ อาเซียนเจอเข้าไปจังๆ จนนั่งไม่ติด ประเทศที่ตื่นตัวกับเรื่องนี้เป็นพิเศษคืออินโดนีเซียและมาเลเซียที่ขยับตั้งแต่วันแรกๆ ที่มีการประกาศตั้งกลุ่ม AUKUS

เมื่อกลางเดือนกันยายน นายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ ของมาเลเซียกล่าวว่าเขาได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับโครงการนี้กับสก็อต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และเตือนว่าโครงการเรือดำน้ำนิวเคลียร์อาจเพิ่มความตึงเครียดทางทหารในเอเชีย เพราะมัน "จะกระตุ้นให้มหาอำนาจอื่นๆ ดำเนินการเชิงรุกมากขึ้นในภูมิภาคนี้” ซึ่งเดาไม่ยากว่าเขาหมายถึงจีน ยิ่งตะวันตกมายั่วจีนแถวๆ นี้ ประเทศย่านนี้จะถูกร่างแหไปด้วย

ในเวลาเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับดีลเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของออสเตรเลีย (ซึ่งทำให้ออสเตรเลียต้องแตกคอกับฝรั่งเศส) โดยฝ่ายอินโดนีเซียมีท่าทีแข็งกร้าวกับออสเตรเลียมากกว่าถึงกับแคนเซิลการเยือนของมอร์รินสัน และชี้ว่าการเสริมเขี้ยวเล็บเรือดำน้ำของออสเตรเลียจะทำเกิดการสั่งสมอาวุธและแผ่อิทธิพลในภูมิภาค

ท่าทีของเพื่อนบ้านอาเซียนทั้งสองมีขึ้นในวันที่ 18 และ 19 กันยายน พอถึงวันที่ 18 ตุลาคม ครบ 1 เดือนพอดี ทั้งสองก็มีท่าทีอีกครั้งผ่านทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสอง ฝ่ายมาเลเซียกล่าวว่า “เราเห็นพ้องในประเด็นล่าสุดในภูมิภาคนี้เกี่ยวกับประเทศใกล้อาณาเขตของเราที่กำลังซื้อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ใหม่ ถึงแม้ประเทศนั้นจะไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ แต่เราก็ยังกังวลและเป็นห่วง”

อินโดนีเซียมีเหตุผลที่จะต้องกังวล เพราะอยู่ใกล้กับออสเตรเลีย วันดีคืนดีจิงโจ้กลายเป็นฉลามนิวเคลียร์ขึ้นมาย่อมนั่งเอ้อระเหยไม่ไหว ขณะที่มาเลเซียเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญของโลก (ช่องแคบมะละกา) และยังมีภูมิศาสตร์ที่ครอบคลุมทะเลจีนใต้อันเป็นจุดตายของการเมืองโลก

ประเทศที่เห็นดีเห็นงามกับ AUKUS ก็คือสิงคโปร์กับฟิลิปปินส์

กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ยินดีต่อการลงนามในสนธิสัญญาความมั่นคงไตรภาคี แต่รัฐมนตรีต่างประเทศย้ำว่าการขยายอิทธิพลของ AUKUS ควรจะเป็นการสร้างเสถียรภาพไม่ใช่ทำลายเสถียรภาพ ถึงจะพูดแบบไว้ทีฟิลิปปินส์นั้นยังต้องการที่เริ่มการซ้อมรบกับสหรัฐโดยเร็วที่สุดในปีหน้าด้วย พร้อมกับจะเชิญออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักรมาร่วมสังเกตการณ์ เท่ากับเชิญ AUKUS เข้าบ้าน (อาเซียน) นั่นเอง

สิงคโปร์นั้นพอเข้าใจได้ว่ากำลังเดินเกมการเมืองที่เป็นกลางอย่างที่สุด พยายามที่จะเอาใจทั้งจีนและตะวันตก สิงคโปร์จึงควรจะมีสถานะเป็น "สวิตเซอร์แลนด์แห่งอาเซียน" มากที่สุด

แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์กลับบอกว่า “สิงคโปร์มีความสัมพันธ์ระยะยาว ที่สร้างสรรค์ และไว้วางใจได้กับทุกฝ่ายในข้อตกลง – ออสเตรเลีย บริเตนใหญ่ สหรัฐอเมริกา – และไม่รู้สึกกลัวเกี่ยวกับรูปแบบของ AUKUS” แถมยังหวังด้วยว่า AUKUS จะมาช่วยเสริมโครงสร้างของอาเซียน!

โดยสรุปก็คืออินโดนีเซียกับมาเลเซียคัดค้าน AUKUS ส่วนฟิลิปปินส์ที่เป็นลูกหม้อสหรัฐสนับสนุน AUKUS แต่การค้าน AUKUS ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าข้างจีน เพราะเมื่อต้นเดือนนี้มาเลเซียเพิ่งจะเรียกเอกอัครราชทูตจีนเข้าพบกรณีเรือจีนล้ำน่านน้ำเข้ามา ขณะที่ฟิลิปปินส์แม้จะสนับสนุน AUKUS แต่ก็ไม่ได้แข็งกร้าวกับจีน

ประเทศใหญ่ๆ ในอาเซียนที่ยังไม่ขยับมีแต่ไทยเท่านั้น

กัมพูชา ลาว หรือเมียนมามีแนวโน้มที่จะเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งสูงมาก โดยเฉพาะเอียงไปทางจีน

ส่วนเวียดนามนั้นจีนพยายามที่จะซื้อใจในระยะหลังโดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ และการลงทุน ทำให้เวียดนามเริ่มใจอ่อนลงไปมากจากแต่เดิมจะเอียงเข้าสหรัฐท่าเดียว

แต่เวียดนามนั้นเป็นศัตรูตามธรรมชาติกับจีน ไม่ทะเลาะวันนี้ก็ต้องทะเลาะกันวันหน้า ดังนั้นจึงยกให้เป็นฝ่ายตะวันตกไปจะง่ายกว่า ดังที่โฆษกของรัฐบาลเวียดนามตอบคำถามเกี่ยวกับท่าทีต่อ AUKUS ซึ่งเขาตอบแบบคลุมเครือจนดูเหมือนจะเป็นคุณกับ AUKUS ว่า “ทุกประเทศต่างมุ่งมั่นเพื่อเป้าหมายสันติภาพ เสถียรภาพ ความร่วมมือและการพัฒนาเดียวกันในภูมิภาคและทั่วโลก”

ส่วนไทยเราถูกติฉินนินทาทั้งในและต่างประเทศว่า "รัฐบาลเอียงจีน" ถูกครหาตั้งแต่เรื่องซื้อเรือดำน้ำจากจีนไปจนถึงวัคซีนจากจีน ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกหรือผิดประการใดเราจะไม่อภิปรายกันในที่นี้ เพราะประเด็นหลักก็คือไทยควรแสดงท่าทีอย่างไรในฐานะสมาชิกอาเซียน

อาเซียนนั้นเหมือนหมู่บ้านที่มี "นิติฯ" ที่ทำงานแบบชิลๆ ไม่ค่อยจะมีอำนาจเด็ดขาดอะไร ยิ่งในระยะหลังสมาชิกในหมู่บ้านชอบแตกความสามัคคี แม้จะไม่ทะเลาะกันเอง แต่ก็ไม่สมัครสมานกันในแง่อุดมการณ์ บางบ้านนั้นพอมีผลประโยชน์ตกถึงมือนักการเมือง ก็เข้าไปออเซาะคนนอกหมู่บ้านโดยไม่แยแสสมาชิกร่วมหมู่บ้าน

อาเซียนจึงเต็มไปด้วยความหลากหลายที่อันตราย แม้เราจะเห็นอินโดนีเซียและมาเลเซียจะต้านการสั่งสมแสนยานุภาพเรือดำน้ำ แต่ฟิลิปปินส์กลับโอเค เรามีกัมพูชาที่มีข่าวว่าจะปล่อยให้จีนตั้งท่าเรือ มีเมียนมาที่ดึงอินเดียเข้ามาแจมในยุทธศาสตร์เรือดำน้ำ

เอาเข้าจริงอาเซียนนั้นตั้งขึ้นเพื่อเป็นแนวร่วมต้านคอมมิวนิสต์ในโลกยุคสงครามเย็นที่การแบ่งฝ่ายชัดเจน มันจึงมีประโยชน์ในยุคนั้น แต่ยุคนี้มันไม่มีสงครามอุดมการณ์อีก อีกทั้งแต่ละฝ่ายที่เผชิญหน้ากันก็ต่างเป็นพระเอกและผู้ร้ายด้วยกันทั้งคู่

แม้จะคลุมเครือแบบนี้ แต่อาเซียนดันเลือกฝ่ายมันซะเลย เพียงแต่ทั้ง 10 ประเทศต่างคนต่างเลือก ไม่ได้สมัครสมานกันว่าจะเลือกฝ่ายเดียวกันเหมือนสมัยสงครามเย็น

อาเซียนไม่มีพลังที่จะต่อรองกับมหาอำนาจที่ดุดันขึ้นทุกวันได้เลย แต่วิธีที่จะเชิญมหาอำนาจอื่นมาถ่วงดุลสถานการณ์แบบนี้ เป็นความคิดใช้การไม่ได้ เพราะยิ่งเชิญเข้ามาเหมือน "โฮจิ๋นเรียกตั๋งโต๊ะเข้าเมืองหลวง" รังแต่จะนำความฉิบหายมาให้หนักกว่าเดิม

พูดถึงโฮจิ๋นกับตั๋งโต๊ะแล้ว อดคิดไม่ได้ว่าในเมื่อ "พันธมิตรสหรัฐ" ก๊กหนึ่ง "จีนและพันธมิตร" ก๊กหนึ่ง ไหนๆ ก็จะชนกันอยู่แล้ว เราไม่ควรจะเข้าข้างใดหากสถานการณ์อำนวยควรสร้างอาเซียนให้เป็น "ก๊กที่สาม" ไม่ใช่เพื่อคานอำนาจ แต่พยายามทำให้พื้นที่เป็นโซนปลอดภัยของทุกฝ่าย

รู้ว่าเป็นเรื่องยาก แต่อย่างน้อยการลงมือทำยังดีกว่านั่งรอให้คนอื่นมากกำหนดชะตากรรมของเรา

สำหรับเรื่องนี้ ไทยไม่สามารถลอยตัวจาก "ยุคสมัยแห่งเรือดำน้ำ" ได้ ต่อให้ไม่มีวาสนาได้เรือดำน้ำมา (หรืออย่างน้อยได้มาล่าช้า) เราจะตอบสนองกับสถานการณ์นี้ด้วยกำลังไม่ได้ มีแต่จะใช้การทูตที่ต้นทุนต่ำกว่าแต่ประสิทธิภาพสูง

แต่ไม่ควรเป็นการทูตประเภทพินอบพิเทาจีนหรือยอมก้มหัวให้สหรัฐ มีแต่การแสดงท่าทีให้ชัดเจนว่า "สองไม่เอา" เท่านั้นที่จะสร้างสันติภาพในอาเซียนได้ ไม่ใช่ AUKUS หรือเรือดำน้ำจีน

ไทยควรจะโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายกำหนดให้อาเซียนเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ที่ครอบคลุมกว่าเดิม ไม่ใช่แค่หัวรบนิวเคลียร์แต่รวมถึงเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ด้วย

ที่มาเลเซียและอินโดนีเซียกังวลกับ AUKUS นั้นไม่ใช่แค่เรือดำน้ำจะเข้ามาเพ่นพ่านมากขึ้น แต่กลัวว่ากลุ่มนี้จะแชร์เทคโนโลยีนิวเคลียร์กันจนเกินขอบเขต กระทั่งทำให้บางประเทศพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาใกล้ๆ กับอาเซียน

บางประเทศนั้นแสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่าทำเพื่อที่จะ "เบ่ง" 

อย่างรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของออสเตรเลียกล่าวว่าที่ออสเตรเลียร่วม AUKUS เพราะ “เราต้องการเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เพื่อความเหนือกว่าในภูมิภาค”

พูดกันขนาดนี้แล้วใครยังจะเชื่อว่า AUKUS ตั้งมาเพื่อธำรงสันติเหมือนสิงคโปร์กับฟิลิปปินส์อวดอ้าง?

ฟิลิปปินส์นั้นเข้าใจได้ว่าเป็น "ผู้ติดตาม" สหรัฐมาแต่ไหนแต่ไร แต่สิงคโปร์นั้นควรจะเป็นกลาง แต่ดันทำตัวเหมือนโฮจิ๋นเรียกตั๋งโต๊ะเข้าเมืองหลวง จะทำให้อาเซียนวินาศเอาง่ายๆ 

และอย่างกรณีเรือสหรัฐที่ชนกับอะไรก็ไม่รู้นั้น ใครจะรับประกันได้ว่าหากวันหน้ามีเรือดำน้ำมาสัญจรมากๆ เข้าจะไม่กระทบกระทั่งกันจนเกิด "เผลอชน" จนเกิดอุบัติเหตุซึ่งอาจทำให้เกิดการรั่วไหลของกัมมันตรังสี?

เมื่อเกิดหายนะแบบนี้แล้วคนที่จะนั่งรอความซวยมีแต่อาเซียน ประเทศอื่นลอยตัวตามระเบียบ

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Handout / US NAVY / AFP