posttoday

จีนไม่ได้สู้กับไต้หวัน แต่สู้กับแบ็คอัพของไต้หวัน

12 ตุลาคม 2564

เมื่อสีจิ้นผิงคิดจะผนวกไต้หวัน ฝันจะเป็นจริงหรือไม่? ความเข้มข้นของสถานการณ์การเมืองระหว่างจีนกับไต้หวันทำให้เกิดคำถามขึ้นมาบ่อยๆ ว่า "จีนจะบุกไต้หวันหรือไม่?"

วันที่ 10 ตุลาคมปีนี้ครบรอบ 110 ของการปฏิวัติซินไฮ่ ทั้งที่จีนและที่ไต้หวันต่างให้ความสำคัญกับวันนี้เพราะเป็นสิ้นสุดของระบอบศักดินาจีนที่ยาวนานหลายพันปี

แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นของความวุ่นวาย ตามมาด้วยยุคขุนศึกที่ขุนทหารตามมณฑลต่างๆ ประกาศตัวเป็นอิสระและรบพุ่งชิงอำนาจกัน ตามด้วยสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 ตามด้วยสงครามมหาเอเชียบูรพา ในระหว่างนั้นยังเกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคก๊กมินตั๋ง

หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกและสงครามญี่ปุ่น สงครามระหว่างคนจีนด้วยกันเองไม่จบลงตามไปด้วย มันเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับพรรคก๊กมินตั๋งขึ้นในทันที กินเวลา 4 ปีกว่าๆ กระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์ชิงความได้เปรียบยึดพื้นที่แผ่นดินใหญ่เอาไว้ในที่สุด ส่วนพรรคก๊กมินตั๋งอพยพไปปักหลักที่ไต้หวัน

หลังจากนั้นจีนก็แบ่งเป็น 2 จีนคือสาธารณรัฐประชาชนจีน (แผ่นดินใหญ่) และสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในช่วง20 กว่าปีแรกนั้นมหาอำนาจโลกยอมรับแค่รัฐบาลไต้หวันว่าเป็นรัฐบาลจีนที่แท้จริง ไต้หวันจึงมีเก้าอี้ในฐานะสมาชิกสหประชาชาติและยังเป็นคณะมนตรีความมั่นคงถาวรด้วย

ตราบจนกระทั่งกระแสการเมืองโลกพลิกผัน มหาอำนาจโลกเล็งเห็นประโยชน์ของแผ่นดินใหญ่มากกว่าไต้หวันจึงหันมาสนับสนุนสาธารณรัฐประชาชนเป็น "จีนที่แท้หนึ่งเดียว" และเขี่ยไต้หวันออกจากสหประชาชาติ ยอมรับนโยบาย "จีนเดียว" ของแผ่นดินใหญ่นั่นคือไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน มิใช่ชาติเอกราช แม้ใครจะคบกับไต้หวันก็ต้องคบแบบไม่เป็นทางการ

แต่การเมืองโลกไม่มีอะไรที่แน่นอน หลังจากผ่านมา 40 กว่าปี มหาอำนาจเล็งเห็นว่าจีนเริ่มปีกกล้าขาแข็ง เป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจ ไม่ใช่จีนจนๆ ที่นายทุนตะวันตกจะขูดรีดแรงงานราคาถูกอย่างสบายใจอีกต่อไป มหาอำนาจทั้งหลายจึงบ่อนทำลายจีนทีละน้อยและเริ่มหันไปสนับสนุนไต้หวันอีก

แนวคิด "ต้องห้าม" อย่างเรื่องเอกราชไต้หวัน หรืออย่างน้อยคือแนวคิดเรื่อง "สองจีน" หรือการกระทำราวกับไต้หวันเป็นประเทศเอกราชอย่างการส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปไต้หวัน เริ่มเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น

สงครามกลางเมืองจีนที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อกลางศตวรรษที่แล้ว แต่ถูกแช่แข็งมานานหลายสิบปี ทว่าจนบัดนี้ยังไม่จบลง กำลังจะเริ่มเปิดฉากอีกครั้งหรือไม่?

ผู้เขียนเคยวิเคราะห์เรื่องนี้ไปบ้างแล้ว จนบัดนี้ก็ยังไม่เชื่อว่าจะเกิดการกระทบกระทั่งถึงขนาดที่จีนจะบุกไต้หวัน

ก่อนวันครบรอบการปฏิวัติซินไฮ่นั่น สีจิ้นผิงออกมากล่างสุนทรพจน์ซึ่งสามารถมองได้ว่าเป็นทั้งการขู่และการปลอบ ส่วนที่เป็นการขู่นั้นคือการบอกว่า “เอกราชของไต้หวันเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดในการรวมชาติมาตุภูมิและอันตรายที่ซ่อนเร้นอย่างร้ายแรง”

ส่วนที่เป็นการปลอบ สีจิ้นผิงบอกว่า “การรวมชาติให้สำเร็จด้วยสันติวิธีทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติโดยรวม รวมทั้งพี่น้องของเราในไต้หวันด้วย”

จากคำพูดเหล่านี้ เราจะเห็นรูปแบบปกติของผู้นำจีนเวลาจะพูดถึงไต้หวัน คือต้องการจะรวมชาติ แต่จะไม่ใช้กำลัง ขณะเดียวกันก็เตือนไม่ให้ไต้หวันประกาศเอกราช นี่คือ "แพทเทิร์น" ที่ผู้นำจีนไม่ว่าคนไหนก็พูดแบบนี้

แต่ในขณะที่สีจิ้นผิงพูดตามสคริปต์เดิม สถานการณ์ของไต้หวันไม่อำนวยให้เขาคิดแบบเดิม เพราะในทางการเมืองนั้นพรรคฝ่ายเรียกร้องเอกราชของประธานาธิบดีไช่อิงเหวินแห่งไต้หวันมีโมเมนตัมทางการเมืองสูงในระยะหลัง ท่าทีของไช่อิงเหวินนั้นไม่ถือว่าก้าวร้าว แต่ก็ทำให้จีนอยู่เฉยไม่ได้เหมือนกัน

ยิ่งระยะหลังจีนมีกระแสชาตินิยมที่เกรี้ยวกราดมาก เมื่อไต้หวันทำอะไรที่ "ไม่เป็นจีน" ขึ้นมาสักนิดนึง จีนก็จะออกแอกชั่นรุนแรง จนทำให้ผู้สังเกตการณ์ภายนอกคิดว่าจีนจะลงมือกับไต้หวัน

ดังนั้น วันที่สีจิ้นผิงออกมาพูด แฮชแท็กยอดนิยมในโซเชียลมีเดียจีนจึงมีประเด็นเรื่องการรวมชาติและกลิ่นอายของชาตินิยมเต็มไปหมด ใครที่ขวัญอ่อนอาจรู้สึกกลัวๆ ขึ้นมาบ้างว่าคนจีนฮึกเหิมจนคิดจะบุกไต้หวันหรือเปล่า?

อันที่จริงแล้ว การกระพือเรื่องจีนจะรุกรานไต้หวันมาจากสื่อและนักการเมืองตะวันตกเสียมากกว่า (ฝ่ายไต้หวันองก็พูดถึงเรื่องนี้เช่นกัน แต่ในลักษณะเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันตนเอง) ให้อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมตะวันตกถึงกระเหี้ยนกระหือรือให้เกิด "สงครามกลางเมืองจีน" ขึ้นมาอีก?

ผู้ที่เสียหายหากเกิดสงครามระหว่างจีนกับไต้หวันขึ้นมาจริงๆ ไม่ใช่ใครก็คือจีนกับไต้หวันนั่นเอง ฝ่ายที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือพวกที่เชียร์ให้เกิดการปะทะ และพวกที่ต้องการรบกับจีนแต่ทำตัวเป็น "อีแอบ" ด้วยการใช้สงครามตัวแทนที่ตัวเองถนัด

จีนนั้นไม่ควรจะรบกับไต้หวันอย่างยิ่ง การทำเช่นนั้นเป็นการประเมินตัวเองสูงเกินไป เพราะการรบกับไต้หวันเท่ากับเป็นการรบกับสหรัฐ

วัดกันด้วยแสนยานุภาพ (ไม่ใช่แค่กำลังคน) จีนไม่มีทางเทียบสหรัฐได้ติดเลย และแน่นอนว่าหากจีนตกหลุมพรางนี้จะถูกลากไปรุมกระทืบอีกด้วยจากพรรคพวกของสหรัฐที่ตอนนี้แสดงตนคุกคามจีนอย่างชัดเจนกันหมดแล้ว

คิดกันเล่นๆ หากเกิดสงครามระหว่างช่องแคบขึ้นมาจริงๆ ใครจะได้ประโยชน์บ้าง? แน่นอน ผู้ผลิตอาวุธย่อมรวย ประเทศที่เป็นคู่แข่งการค้ากับจีนย่อมรวย ประเทศที่อยากจะมีกองทัพเป็นตัวเป็นตนจะมีฉวยโอกาสสร้างความชอยธรรมทางการทหาร

คนที่จะที่เละที่สุดคือ "ตัวเล็กๆ" ซึ่งไม่ใช่ใครนอกจากไต้หวัน

สิ่งที่จะหลีกเลี่ยง "เปรตกระหายสงคราม" ได้คือตัดตอนโอกาสของสงครามเสีย ด้วยการคงสถานะเดิม (Status quo) ระหว่างจีนกับไต้หวันเอาไว้ สถานะเดิมนี้คือต่างคนต่างอยู่ จีนจะคิดยึดไต้หวันด้วยกำลัง และไต้หวันจะต้องไม่ประกาศเอกราช

มันเป็นสถานะที่น่ารำคาญใจของทุกฝ่าย แต่มันย่อมดีกว่าการบาดเจ็บล้มตายและสิ้นชาติ

มันเป็นแบบนี้มาค่อนศตวรรษแล้ว เช่นเดียวกับเกาหลีเหนือและใต้ ไม่สามารถรวมเข้ากันได้สักที เป็นมรดกของสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็นที่ลากยาวไปเรื่อยๆ หาคิดจะยุติมันจะเกิดความรุนแรงขึ้น

เพียงแต่ Status quo แบบจีน-ไต้หวันและเกาหลีเหนือ-ใต้ มีช่องโหว่ตรงที่ยิ่งปล่อยให้มันลากยาวต่อไปจะทำให้สองฝ่ายต่อกันไม่ติดไปเรื่อยๆ

เราจะเห็นว่าสายใยที่เชื่อเกาหลีเหนือ-ใต้คือคนรุ่นสงครามเกาหลีนั้นล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ และคนรุ่นใหม่ๆ ของ 2 ประเทศต่างรู้สึกแปลกแยก ไม่รู้สึกจำเป็นว่าจะต้องมารวมชาติกัน ต่างคนต่างอยู่น่ะดีแล้ว ความรู้สึกนี้ทำให้การรวมชาติยากขึ้นเรื่อยๆ

เช่นเดียวกับจีน-ไต้หวัน ที่คนรุ่นสงครามล้มหายตายจากกันเกือบหมดแล้ว มรดกไม่กี่อย่างที่โยงสองผ่นดินระวหางช่องแคบไว้คือครัวเรือนที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่และยังบอกลูกบอกหลานว่าตนเป็นคนแผ่นดินใหญ่ อีกอยางคือพรรคก๊กมินตั๋ง

พรรคก๊กมินตั๋งเป็นศัตรูกับพรรคคอมมิวนิสต์แท้ๆ แต่ทุกวันนี้กลับถูกเรียกว่า "โปรจีน" เพราะนโยบายคง Status quo เป็นหลัก แต่เพราะถูกมองว่าโปรจีนนี่เองทำให้ก๊กมินตั๋งแพ้เลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า กระทั่งล่าสุดเพิ่งเลือกผู้นำคนใหม่เพื่อรีแบรนด์ตัวเอง ซึ่งไม่รู้จะสำเร็จหรือไม่

ก๊กมินตั๋งไม่สามารถจะแสดงท่าที "โปรจีน" เหมือนเดิมได้อีก จะต้องปรับท่าทีให้เป็น "ต้านจีน" มากขึ้นเพื่อครองใจคนรุ่นใหม่ที่แปลกแยกกับจีนมากขึ้นทุกที

แต่ฝ่ายสนับสนุนเอกราชอย่างไช่อิงเหวินใช้ก็ใช่ว่าจะต้านจีนอยู่ท่าเดียว บางครั้งก็ใช้น้ำเย็นเข้าลูบเหมือนกัน อย่างในสุนทรพจน์คล้อยหลังสีจิ้นผิง 1 วันนั้น ไช่อิงเหวินกล่าวว่า "เราหวังว่าจะคลี่คลาย... ความสัมพันธ์ (กับปักกิ่ง) และจะไม่กระทำการโดยผลีผลาม แต่ไม่ควรหลงคิดไปเองอย่างเด็ดขาดว่าชาวไต้หวันจะยอมจำนนต่อแรงกดดัน”

ขณะที่ไช่อิงเหวินพูดแบบ "ถนอมน้ำใจ" ทำเนียบประธานาธิบดีของไต้หวันกล่าวสวนสีจิ้นผิงว่าอนาคตของไต้หวันอยู่ในมือของประชาชน และความคิดเห็นของสาธารณชนในกระแสหลักนั้นชัดเจนมากในการปฏิเสธโมเดล "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ของจีน

นี่แสดงว่าจริงๆ แล้วทุกฝ่ายก็ยังโหยหา Status quo กันอยู่ ด้วยต้นทุนของความขัดแย้งนั้นสูงเกินกว่าทุกฝ่ายจะรับได้ เพียงแต่จะพูดอ่อนอยางเดียวก็กระไรอยู่ จะต้องพูดในเชิงไว้ทีเอาไว้ก่อนด้วยกันทั้งสองฝ่าย

แต่การจะรักษาสถานะดั้งเดิมจะทำฝ่ายเดียวไม่ได้ ยิ่งจีนแสดงท่าทีแข็งแกร้าวด้วยการส่งเครื่องบินล้ำเข้ามาในเขตของไต้หวันด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ไต้หวันยากจะเชื่อว่าจีนมีเจตนาใฝ่หาสันติภาพ ดังนั้นสีจิ้นผิงจะพูดแบบโอภาปราศรัยไม่ได้ จะต้องทำแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยด้วย

อย่างที่บอกไปว่าสงครามระหว่างจีนกับไต้หวันนั้นไม่เคยจบลง หลายสิบปีก่อนนั้น ไต้หวันกับจีนยังกระทบกระทั่งเล็กน้อยๆ ทางทหารบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเขตที่ไต้หวันใกล้กับจีนมาก เช่น ที่เกาะจินเหมิน เกาะหมาจู่ ที่ใกล้กับฝูเจี้ยนแค่ปลายจมูก บางครั้งถึงกับยิงถล่มปูพรมกัน แต่ในระยะหลังเหลือแค่ประกาศโฆษณาชวนเชื่อตามลำโพงเท่านั้น

การที่จีนไม่ทำอะไรผลีผลามกับไต้หวัน ก็เพราะสหรัฐคอยคุ้มให้ การปะทะกันประปรายในช่วงทศวรรษที่ 50 - 60 นั้นเคยทำให้เกิดวิกฤตการมาแล้วคือวิกฤตการช่องแคบไต้หวันครั้งที่สอง (Second Taiwan Strait Crisis) ซึ่งจีนไปปะทะกับไต้หวันที่เกาะตงติ้ง หลังจากนั้นจีนก็ยิงถล่มเกาะจินเหมินของไต้หวันอย่างหนัก เหตุบานปลายจนสหรัฐเข้ามาแทรกแซงและถึงกับเสนาธิการร่วมของสหรัฐพิจารณาความจำเป็นต้องมีการตอบสนองด้วยอาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องเกาะจินเหมิน

แต่การแทรกแซงของสหรัฐโดยเฉพาะการจะใช้นิวเคลียร์เสี่ยงจะทำให้สาธารณชนไม่พอใจรวมถึงจะทำให้พันธมิตรสหรัฐเองก็ตีตัวออกห่าง โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่หากทราบว่าในเวลานั้นสหรัฐขนหัวรบนิวเคลียร์ 2 ลูกมาปักหลักที่โอกินาวะ เตรียมที่จะถล่มจีน นี่แสดงให้เห็นว่าบางครั้งพันธมิตรของสหรัฐเองก็อาจจะไม่คล้อยตามเหมือนกันหากการเล่นงานจีนหนักมือเกินไป

จากเอกสารของจดหมายเหตุสหรัฐ สหรัฐมีแผนที่จะเปิดการโจมตีโดยใช้อาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรกกับจีนจากฐานทัพอากาศคลาร์กในฟิลิปปินส์และฐานทัพคาเดนะที่ญี่ปุ่น เท่ากับเป็นการลากฟิลิปปินส์กับญี่ปุ่นเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยโดยไม่จำเป็น ดังนั้น ประเทศไหนที่คิดจะผูกมิตรกับสหรัฐถึงขั้นจะยกแผ่นดินให้เป็นฐานทัพสมควรที่จะตรองให้ดี

แต่กรณีนี้เป็นแรงผลักดันให้จีนพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเองขึ้นมา จนกระทั่งทุกวันนี้จีนมีหัวรบนิวเคลียร์ 350 หัวรบ เทียบกับสหรัฐที่ 5,550 หัวรบ

บางครั้งไต้หวันมีการส่งทหารรุกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ด้วยซ้ำไป เช่นที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 1964 เมื่อหน่วยคอมมานโดของไต้หวัน (ในเวลานั้นเรียกกันว่าจีนคณะชาติ) จากเกาะหมาจู่ (อำเภอเหลียนเจียงของต้หวัน) ได้บุกโจมตีสำนักงานใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอำเภอเหลียนเจียงของจีน ที่มณฑลฝูเจี้ยนและยึดเอกสารของคอมมูนส่งกลับไปยังไทเป

อย่างกรณีที่เหลียนเจียงนั้นยังสะท้อนด้วยว่าหากแบ็คอัพของไต้หวันอย่างสหรัฐไม่โอเคกับการกระทำไต้หวัน ก็จะประกาศว่าไม่ช่วย หลังกรณีส่งคอมมานโดของไต้หวันบุกเหลียนเจียงแผ่นดินใหญ่นั้น กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐมีท่าทีดังนี้ (ในเอกสารประวัติศาสตร์ของกระทรวง) "การยิงปืนใหญ่ของคอมมิวนิสต์จีนถล่มหมาจู่เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการตอบโต้การยิงปืนใหญ่ของ GRC (รัฐบาลไต้หวัน) จากหมาจู่ซึ่งคุ้มครองปฏิบัติการที่เหลียนเจียงทำให้ข้าพเจ้าต้องพิจารณาย้ำเตือน GRC ที่เตือนไว้ตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิที่แล้วว่าพวกเขาไม่ควรคิดว่าสหรัฐ จะช่วย GRC หากจีนคอมมิวนิสต์โจมตีเกาะนอกชายฝั่งที่มีขนาดเล็กเพื่อตอบโต้การจู่โจมจีนของ GRC จากเกาะดังกล่าว"

แต่เรื่องนี้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 แล้ว เป็นช่วงเวลาที่สหรัฐเริ่มที่ลังเลกับท่าทีของตนต่อไต้หวัน และในเวลานั้นจีนยังถือว่า "ล้าหลัง" เพียงแต่ต้องการจะแสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งนี้มีการ "ใช้กำลัง" เกิดขึ้นประปราย และสหรัฐมีท่าทีโลเลมาโดยตลอด

เช่นเดียวกับตอนนี้ ที่การกระทำนั้นหนุนไต้หวัน แต่ไบเดนบอกกับสีจิ้นผิงว่ายังมั่นคงกับดีลเรื่อง "จีนเดียว"

ดังนั้น ตอนนี้ "การใช้กำลัง" ของจีนด้วยการส่งเครื่องบินเข้าไปในเขตไต้หวันก็ดี หรือการซ้อมรบที่ชายฝั่งประจันกับไต้หวันก็ดี ชวนให้คิดจริงๆ เป็นการขู่ไต้หวันหรือขู่แบ็คอัพไต้หวันกันแน่

อย่างที่กล่าวไป หากจีนจะรบกับไต้หวัน จีนไม่ได้รบกับไต้หวัน แต่รบกับสหรัฐ

เมื่อรบกับสหรัฐ จีนไม่ได้รบกับแค่สหรัฐ แต่รบกับพรรคพวกสหรัฐด้วย

โดย กรกิจ ดิษฐาน

REUTERS/Carlos Garcia Rawlins