posttoday

ของกินที่เกิดจากวิกฤตการเงิน 'ทัลโกนา' กลับมาฮิตเพราะ Squid Game

11 ตุลาคม 2564

พ่อค้าแม่ค้าเฮ ขนมน้ำตาลแผ่นหรือ 'ทัลโกนา' ขายดีหลังกิจการซบเซามานาน

หลังจากที่ Squid Game ซีรีส์จากเกาหลีใต้ได้รับความนิยมจากทั่วโลกนั้น นอกจากจะทำให้อุตสาหกรรมสื่อเกาหลีใต้ได้รับความนิยมจากผู้ชมและนักลงทุนมากขึ้นแล้ว ยังถือเป็นการชุบชีวิตบรรดาผู้ประกอบการรายย่อยที่ซบเซาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และชุบชีวิตขนมน้ำตาลแผ่นหรือ "ทัลโกนา" (dalgona) ให้โด่งดังไปทั่วโลกอีกด้วย

นักประวัติศาสตร์กล่าวว่าทัลโกนาเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 เมื่อประชาชนเผชิญกับวิกฤตทางการเงินหลังสงคราม ซึ่งทำให้ของหวานอย่างไอศกรีมหรือช็อกโกแลตมีราคาแพงมาก น้ำตาลแผ่นหรือทัลโกนาจึงได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามร้านขนมหน้าโรงเรียน

อิม ชางจู และจอง จองซุน สามีภรรยาคู่หนึ่งเริ่มเปิดกิจการทัลโกนาด้วยทุน 30,000 วอน หลังจากที่กิจการตัดเย็บเสื้อผ้าของพวกเขาไปไม่รอดเมื่อเกิดวิกฤตการเงินในเอเชียในปี 1997

แต่แล้วช่วงต้นทศวรรษ 2000 ขนมทัลโกนาค่อยๆ หายไป และมีขนมอื่นๆ เข้ามาเป็นที่นิยมแทน จนกระทั่งทัลโกนาไปปรากฏอยู่ในซีรีส์เรื่อง Squid Game ทำให้มันกลับมาอีกครั้ง และครั้งนี้โด่งดังไกลไปทั่วโลกเลยทีเดียว

โดยทัลโกนาที่ปรากฏในซีรีส์นั้นจะมีลวดลายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวงกลม สามเหลี่ยม ดาว และร่ม ซึ่งผู้เข้าแข่งขันในเกมจะต้องแกะขนมออกมาตามลวดลายที่ได้รับโดยไม่ทำให้ขนมหัก

แต่ก่อนที่จะมีทัลโกนาที่เราเห็นกันในซีรีส์นั้น ฮวัง ดงฮยอก ผู้เขียนบทและผู้กำกับ Squid Game เล่าว่ามันเป็นอุปกรณ์ประกอบฉากที่จัดการยากที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะน้ำตาลสามารถละลายได้ง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการถ่ายทำในช่วงฤดูฝนที่มีความชื้น เขาจึงต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญเพื่อมาทำขนมทัลโกนากันแบบสดใหม่ในสถานที่เลยทีเดียว

ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่ว่าคือ อิม ชางจู และจอง จองซุน สามีภรรยาที่ต้องทำทัลโกนาจำนวน 300 ถึง 400 ชิ้นในการถ่ายทำระยะเวลา 3 วัน แม้ผู้กำกับฮวังจะทำให้พวกเขางุนงงอย่างมากเมื่อต้องทำลวดลายยากๆ อย่างร่ม แต่พวกเขาก็สามารถทำออกมาได้สำเร็จ

จนกระทั่งซีรีส์เริ่มออนแอร์และได้รับความนิยม ไม่ใช่แค่ 300 หรือ 400 ชิ้นเท่านั้น แต่สามีภรรยาคู่นี้ต้องทำขนมทัลโกนามือระวิง เมื่อมีออเดอร์จากลูกค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขนมดังกล่าวได้รับความนิยมขนาดที่ว่าลูกค้ายอมรอคิวนานถึง 6 ชั่วโมงเพื่อสั่งซื้อทัลโกนา แต่บางคนอาจต้องยอมแพ้และกลับบ้านไปมือเปล่าเมื่อพบว่ามีคนสนใจซื้อทัลโกนามากขนาดนี้

อิม ชางจู ใช้เวลาประมาณ 90 วินาทีเพื่อละลายน้ำตาล ก่อนที่จะเติมเบกกิ้งโซดา รีดให้เป็นวงกลม และพิมพ์ลวดลายที่ต้องการลงบนแผ่นน้ำตาล นอกจาก 4 ลวดลายที่เราได้เห็นกันในซีรีส์แล้วเขายังเพิ่มลายต่างๆ ให้ลูกค้าได้เลือกกันตามใจชอบ รวมถึงตัว "N" ที่มาจากคำว่า Netflix สตริมมิงที่ทำให้ Squid Game โด่งดัง

"ผมไม่คิดไม่ฝันเลยว่ามันจะได้รับความนิยมขนาดนี้" อิมกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีเกี่ยวกับกระแสของซีรีส์ Squid Game และขนมน้ำตาลแผ่น ซึ่งทำให้เขามือเป็นระวิงอยู่ในขณะนี้ เช่นเดียวกับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าทัลโกนาอีกจำนวนมากที่เติบโตหลังซีรีส์ออกอากาศ

พร้อมกล่าวว่าเขามีความสุขที่ธุรกิจของเขากำลังเติบโตไปได้ด้วยดี และได้เห็นทัลโกนาถูกพูดถึงในต่างประเทศ

ของกินที่เกิดจากวิกฤตการเงิน 'ทัลโกนา' กลับมาฮิตเพราะ Squid Game

ของกินที่เกิดจากวิกฤตการเงิน 'ทัลโกนา' กลับมาฮิตเพราะ Squid Game

ของกินที่เกิดจากวิกฤตการเงิน 'ทัลโกนา' กลับมาฮิตเพราะ Squid Game

ของกินที่เกิดจากวิกฤตการเงิน 'ทัลโกนา' กลับมาฮิตเพราะ Squid Game

Photo by Yelim LEE / AFP