posttoday

หยวนซื่อข่าย นักฉวยโอกาสปฏิวัติผู้หวังเป็น 'เจ้า' เสียเอง

10 ตุลาคม 2564

วันที่ 10 เดือน 10 ปี 2021 เป็นวันครบรอบ 110 ปีของการปฏิวัติซินไฮ่ที่โค่นล้มราชวงศ์ชิงและเริ่มต้นระบอบสาธารณรัฐของจีน แต่จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีนไม่ใช่ปูยี เขาคือบุคคลที่โค่นปูยีแล้วเป็นประธานาธิบดีเพื่อจะก้าวสู่ตำแหน่งจักรพรรดิในเวลาต่อมา

อารัมภบท - ชาวแมนจูกำราบชาวฮั่นสถาปนาราชวงศ์ชิงปกครองแผ่นดินจีนมานานกว่า 200 ปีจนกระทั่งหลายศตวรรษที่ 19 ราชวงศ์ชิงก็ถึงกาลเสื่อมถอย ถูกต่างชาติรุกรานจนต้องยอมจำนนครั้งแล้วครั้งเล่า รวมถึงเกิดกบฏต่อต้านภายในประเทศ ในระยะบั้นปลายมีการลุกฮือของขบวนการโค่นศักดินาสถาปนาสาธารณรัฐหลากหลายกลุ่ม กลุ่มใหญ่นำโดยซุนยัตเซน อย่างไรก็ตาม ขบวนปฏิวัติเหล่านี้แม้จะก่อการหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะขาดกำลังทหารและที่จะช่วยให้การยึดอำนาจเป็นไปอย่างเด็ดขาด กองทัพที่ใหญ่ที่สุดในเวลานั้นยังเป็นกองทัพของราชสำนักชิง แต่ในกองทัพหลวงยังมีกองทัพกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า "ซินจวิน" ที่เกิดจากการปฏิรูปการทหารแบบตะวันตก กลุ่มซินจวินนี้นำโดยขุนนางชาวฮั่นที่ทรงอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ เขามีชื่อว่า "หยวนซื่อข่าย"

หยวนซื่อข่ายกุมอำนาจในกองทัพใหม่นี้และราชสำนักยังต้องพึ่งพาเขาเพราะกองทัพใหม่จัดวางกำลังไว้รอบเมืองหลวงคอยคุ้มกันจากสถานการณ์ที่หมิ่นเหม่ทั้งจากคนจีนและคนต่างชาติที่ไม่พอใจราชสำนัก ราชสำนักในรัชสมัยพระเจ้ากวงซวี่พยายามปรับปรุงตนเองด้วยการริเริ่ม "การปฏิรูปร้อยวัน" เพื่อเปลี่ยนประเทศและราชสำนักที่ล้าหลังให้ทันสมัยเป็นอารยประเทศ แต่ความพยายามนี้ต้องล้มเหลว เพราะพระเจ้ากวงซวี่ไม่มีอำนาจแท้จริง อำนาจจริงๆ อยู่ในกำมือของพระพันปีหลวงซูสีไทเฮา

การปฏิวัติและการปฏิรูปจะทำบนหน้ากระดาษไม่ได้ มันต้องมีอำนาจกระบอกปืนจึงจะขับเคลื่อนได้ ฝ่ายพระนางซูสีไทเฮาก็คิดจะยึดอำนาจจักรพรรดิ ฝ่ายจักรพรรดิกวงซี่ก็ทรงทราบและคิดจะยึดอำนาจมาอยู่ในมือแบบเด็ดขาดเช่นกัน ดังนั้นฝ่ายปฏิรูปของพระเจ้ากวงซวี่จึงทาบทามหยวนซื่อข่ายผู้ควบคุมกองทัพให้มาร่วมปกป้องผู้เป็นเจ้าที่แท้จริงหยวนซื่อข่ายไม่ปฏิเสธหรือยอมรับ เพียงแต่บอกแบบหยั่งเชิงว่าเขาภักดีต่อจักรพรรดิ

แต่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หยวนซื่อข่ายกลับแย้มพรายแแผนการยึดอำนาจของฝ่ายปฏิรูปให้กับฝ่ายพระนางซูสีไทาเฮา ฝ่ายพระพันปีหลวงจึงทำก่อนแบบสายฟ้าแลบ แล้ว "เชิญ" พระเจ้ากวงซี่ไปประทับในตำหนักเชิงบังคับ หมดสิ้นอิสรภาพตั้งแต่บัดนั้น ส่วนขบวนปฏิวัติต้องหนีเอาตัวรอดกันไปคนละทิศละทาง ทำให้จีนหมดโอกาสที่จะปฏิรูปประเทศไปอีกนานและทำให้ราชวงศ์ชิงต้องดวงถึงฆาตในกาลต่อมา

หยวนซื่อข่ายเป็นคนรู้หลบเป็นปักรู้หลีกเป็นหางแบบนี้มาโดยตลอด เขาเป็นพวกนักฉวยโอกาสทางการเมือง แต่อย่างน้อยเขาไม่ได้ต่อต้านการปฏิรูปบ้านเมือง ตรงกันข้ามเขาเป็นผู้กราบทูลให้ราชสำนักปรับปรุงประเทศในด้านการศึกษา สร้างกองทัพให้ทันสมัย ซึ่งเป็นผลดีต่อกองทัพใหม่ของเขา หยวนซื่อข่ายใช้อิทธิพลของตนสร้างกองทัพภาคเหนือ หรือกองทัพเป่ยหยาง (แปลว่ากองทัพมหาสมุทรตอนเหนือ คือในเขตมณฑลภาคเหนือและภาคอีสานที่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ)

กองทัพเป่ยหยางของเขานับวันจะยิ่งมั่งคั่งและทันสมัย ส่วนกองทัพราชสำนักแต่เดิมพึ่งพา "กองทัพแปดธง" ซึ่งเป็นการจัดกองทัพแบบโบราณที่เน้นชาวแมนจูเป็นหลัก แต่กองทัพแปดธงนั้นเสียหายย่อยยับไปในช่วงกบฏอี้เหอหยวน (กบฏนักมวย) ดังนั้นในแผ่นดินจึงไม่มีกองทัพไหนที่จะต่อกรกองทัพเป่ยหยางของหยวนซื่อข่ายได้อีกต่อไป

หยวนซื่อข่าย นักฉวยโอกาสปฏิวัติผู้หวังเป็น 'เจ้า' เสียเอง

ซุ่มชิงความได้เปรียบ

แต่ถึงจะมีกองทัพในมือแต่หยวนซื่อข่ายยังอยู่ใต้อำนาจราชสำนักอยู่ดี เมื่อพระนางซูสีไทเฮาสวรรคตในเวลาไล่เลี่ยกันพระเจ้ากวงซวี่ก็สวรรคตไปด้วย ทำให้ราชสำนักขาดหัวพร้อมๆ กัน เวลาหัวเลี้ยวหัวต่อแบบนี้น่าจะเป็นคุณกับหยวนซื่อข่าย แต่ปรากฏมีเสียงร่ำลือว่าจักพรรดิทรงรู้ว่าในภายภาคหน้าหยวนซื่อข่ายจะต้องเป็นภัยต่อราชสำนักเป็นแน่ จึงมีพระบรมราชโอกงการสั่งประหารเขาเสีย แต่หยวนซื่อข่ายเอาตัวรอดจากโองการนั้นมาได้แล้วหลบลี้ไปจากราชสำนัก โดยอ้างว่าจะขอกลับบ้านเดิมไปรักษาอาการป่วย

จักพรรดิองค์ใหม่ที่ถูกเลือกขึ้นมาครองบัลลังก์คือจักรพรรดิผู่อี๋มีพระชนมายุ 2 พรรษากับอีก 10 เดือน พระราชบิดาคือ ฉุนชินหวังเชื้อพระวงศ์ชิงชั้นสูงทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ซึ่งทรงพยายามเฮือกสุดท้ายที่จะปฏิรูปประเทศและราชสำนัก แต่มันก็สายเกินการณ์แล้ว

ในเวลานั้นขบวนการปฏิวัติก่อการในหลายพื้นที่แต่ยังไม่สำเร็จสักที่ เพราะขาดกำลังทหารและมีหลากหลายกลุ่มกระจัดกระจายกันไป หยวนซื่อข่ายแม้จะเกษียณตัวเองแต่ก็เป็นเพียงฉากหน้า ยังคงติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิดและกองทัพเป่ยหยางก็ยังคงภักดีต่อเขา ฝ่ายราชสำนักเองก็ต้องการตัวเขามาช่วยต้านพวกปฏิวัติ ฝ่ายปฏิวัติก็ต้องการเขามาช่วยโค่นล้มราชวงศ์ หยวนซื่อข่ายเนื้อหอมขึ้นมาอีกครั้งเหมือนเมื่อครั้งการปฏิรูปร้อยวัน เหลือแค่เพียงว่าเขาจะเลือกฝ่ายไหนแค่นั้น

แต่หลังจากการลุกฮือที่ไม่สำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่า ก็เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญขึ้นที่เมืองอู่ชาง (ปัจจุบันอยุ่ในเขตเมืองอู่ฮั่น) เมื่อวันที่ 10 เดือน 10 ปี 1911 เมื่อกลุ่มกองทัพใหม่ (ซินจวิน) จู่ๆ ก็แปรพักตร์ไปเข้าร่วมกับฝ่ายปฏิวัติ นำกำลังทหารเข้ายึดจวนผู้ว่าการมณฑล จากนั้นจัดตั้งรัฐบาลทหารขึ้นเป็นการเฉพาะ และด้วยแรงบันดาลใจจากการลุกฮือที่อู่ชางทำให้ขบวนปฏิวัติในพื้่นที่อื่นๆ ก่อการอย่างแข็งขัน จึงยึดเมืองได้หลายแห่ง แม้แต่ละแห่งจะเป็นการเคลื่อนไหวต่างกลุ่มกัน แต่ก็มีอุดมการณ์ร่วมกันคือโค่นล้มศักดินาราชวงศ์ชิง

ถึงเวลานี้ราชสำนักรีรออีกไม่ได้ ตัวช่วยเดียวที่เหลืออยู่คือหยวนซื่อข่าย ราชสำนักจึงเรียกตัวเขากลับมา คราวนี้หยวนซื่อข่ายถือไพ่ในมือเหนือกว่า จึงกุมตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีตั้งคณะเสนาบดีที่มีชาวฮั่นเป็นส่วนใหญ่จากแต่ก่อนที่มีแต่ชาวแมนจูเป็นส่วนใหญ่ ฉุนชินหวังที่สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิผู่อี๋นั้นสละอำนาจกลับไปเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานเงียบๆ

ผู้ที่สำเร็จราชการแทนคือพระพันปีหลวงหลงอวี่ (พระมเหสีของพระเจ้ากวงซวี่) พระพันปีหลวงหลงอวี่ทรงเอาใจหยวนซื่อข่ายโดยตั้งให้เขามีบรรดาศักดิ์พระยาชั้นแรก (อีเติ่งโหว) ตอนนี้ไม่มีใครใหญ่เกินหยวนซื่อข่ายอีกแล้ว จึงส่งกองทัพเป่ยหยางลงใต้ไปควบคุมสถานการณ์ที่อู่ชาง

กองทัพเป่ยหยางนั้นเหนือกว่ากองทัพรัฐบาลทหารอู่ชางและยึดเมืองบริวารของอีกฝ่ายได้ แต่การปฏิวัติไม่ได้จำกัดวงเฉพาะอู่ชางอีกต่อไป มันได้ลามไปทั่วประเทศแล้ว ในเวลา 41 ที่กองทัพเป่ยหยางของหยวนซื่อข่ายรบที่อู่ชางนั้น สถานการณ์ชัดเจนแล้วว่าราชวงศ์ชิงถึงกาลอวสานแน่นอน ฝ่ายปฏิวัตินั้นเป็นปึกแผ่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนตั้ง "รัฐบาลเฉพาะกาล" และได้เลือก ซุนยัตเซน เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐจีน

หยวนซื่อข่าย นักฉวยโอกาสปฏิวัติผู้หวังเป็น 'เจ้า' เสียเอง

เลิกเป็นไก่รองบ่อน

ถึงเวลาที่หยวนซื่อข่ายต้องคำนวณโอกาสทางการเมืองอีกครั้ง หากช่วยราชวงศ์ชิงต่อไปมิแคล้วที่เขาก็จะต้องเป็นไก่รองบ่อนอยู่ต่อไป ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในฐานะนัมเบอร์วัน หากเขาร่วมกับฝ่ายปฏิวัติในทันทีเขาก็จะไม่ได้อะไรเลย เพราะรัฐบาลเฉพาะกาลเลือกซุนยัดเซ็นเป็นประธานาธิบดีไปแล้ว สถานการณ์แบบนี้ดูเหมือนจะตีบตันไปหมด แต่คนอย่างหยวนซื่อข่ายนั้นไม่มีทางอับจน เขาหาโอกาสพบจนได้

ในระหว่างยันทัพที่อู่ชางเขาตัดสินใจหยุดยิงกับอีกฝ่ายแล้วเจรจากัน หยวนซื่อข่ายเจรจากับรัฐบาลเฉพาะกาลว่าหากจะให้เขาร่วมวงด้วยจะต้องมอบตำแหน่งประธานาธิบดีใหม่ แล้วเขาจะเจรจากับราชสำนักให้ยอมสละอำนาจยุติบทบาทไป

แม้จะเป็นข้อเสนอที่ดุดันและยากจะยอมรับกระทั่งการถกเถียงที่ดุเดือด แต่ ซุนยัตเซนยอมยกตำแหน่งประธานาธิบดีให้ และยังยอมตามข้อเรียกร้องของหยวนซื่อข่ายที่จะให้ตั้งเมืองหลวงของสาธารณรัฐที่ปักกิ่งด้วย เพื่อปักหมุนอำนาจของกองทัพและรัฐบาลเป่ยหยางของเขาให้มั่นคงขึ้น (จากข้อเสนอเดิมให้ตั้งเมืองหลวงที่หนานจิงทางตอนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลของซุนยัตเซน)

เมื่อตกลงตามนี้แล้ว หยวนซื่อข่ายก็ไปกราบทูลกับพระพันปีหลวงหลงอวี่ให้ทรงยอมสละอำนาจยุติบทบาทของราชวงศ์ชิง ราชสำนักตอนนี้ไม่เหลืออะไรให้ต่อรองอีก มีเพียงผู้สำเร็จราชการสตรีและเด็กชายไม่กี่ขวบเป็นจักรพรรดิ ราชสำนักจึงยอมสละอำนาจแบบจนตรอก มอบให้รัฐบาลเฉพาะกาลโดยมีหยวนซื่อข่ายเป็นประธานาธิบดีคนแรก ราชวงศ์ชิงจึงถึงกาลอวสานเพราะหยวนซื่อข่ายด้วยเหตุนี้

ในหนังสืออัตชีวประวัติของจักรพรรดิผู่อี๋เล่าไว้ว่า เมื่อตอนกราบทูลขอให้ราชวงศ์ชิงสละอำนาจนั้น หยวนซื่อข่ายบีบน้ำตาคร่ำครวญราวกับเจ็บปวดเสียมิปาน

"วันหนึ่งในห้องหนึ่งของพระที่หย่างซินเตี้ยน สมเด็จพระพันปีหลวงหลงอวี่ประทับนั่งอยู่ใกล้กับบานพระแกล (หน้าต่าง) เบื้องทิศใต้และทรงใช้ผ้าซับน้ำพระเนตร ที่เบื้องหน้าพระพักตร์ที่นั่งคุกเข่าอยู่บนพรมแดง เป็นชายร่างท้วมสูงวัยมีน้ำตาไหลอาบแก้ม ข้าพเจ้านั่งอยู่ด้านขวาของพระพันปีหลวงรู้สึกงุนงงเพราะเราไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ใหญ่สองคนถึงได้ร้องไห้กัน ในวังนั้นไม่มีใครอื่นอีกนอกจาเราสามคนและมันยังเงียบมาก ชายอ้วนคนนั้นสะอึกสะอื้นเสียงดังตอนพูดซึ่งข้าพเจ้าไม่เข้าใจ ในเวลาต่อมาข้าพเจ้าจึงทราบว่าเขาคือหยวนซื่อข่าย"

น้ำตาไม่กี่หยดนับว่าคุ้มค่า ตอนนี้หยวนซื่อข่ายมีทั้งกองทัพและอำนาจสูงสุดในมือ

แต่หยวนซื่อข่ายไม่คิดแค่จะเป็นประธานาธิบดี ความหวังของเขาคือการเป็นจักรพรรดิเสียเอง ในระหว่างเป็นประธานาธิบดีนั้นหยวนซื่อข่ายกับรัฐบาลภาคใต้เกิดความขัดแย้งกันครั้งแล้วครั้งเล่า ยิ่งนับวันฝ่ายปฏิวัติยิ่งตระหนักว่าหยวนซื่อข่ายไม่ได้เป็นมิตรต่อการปฏิวัติ แต่อาจเป็นศัตรูตัวจริงที่อันตรายยิ่งกว่าราชวงศ์ชิงเสียอีก

หยวนซื่อข่าย นักฉวยโอกาสปฏิวัติผู้หวังเป็น 'เจ้า' เสียเอง

หาความชอบธรรมเป็นเจ้า

หยวนซื่อข่ายค่อยๆ กุมอำนาจเข้ามาที่ตัวเองในแบบจักรพรรดิทีละน้อยๆ การทำเช่นนี้จะต้องมีการสร้างความชอบธรรมรูปแบบต่างๆ เช่น เขารื้อฟื้นพระราชพิธีบวงสรวงฟ้าดินขึ้นมาใหม่เดิมนั้นเป็นพิธีหลวง แต่หยวนซื่อข่ายจัดขึ้นอีกครั้งโดยอุปโลกน์ตัวเองเป็นประธานในพิธีซึ่งในสมัยศักดินาคือจักรพรรดิ แต่ใน "พระราชพิธี" นี้เขาสั่งทำเครื่องแบบผู้เข้าร่วมขึ้นมาใหม่ราวกับเป็นแบบอย่างของราชวงศ์ใหม่ที่ต่างจากราชวงศ์ชิง

เรื่องพิธีรีตองนี้เป็นการสร้างความชอบธรรมในสายตาชาวบ้านทั่วๆ ไป (และอาจเป็นการบอกกล่าวฟ้าดินด้วยว่าเขาปรารถนาจะรับอาณัติสวรรค์ปกครองแผ่นดินในฐานะจักรพรรดิ) ยังมีภารกิจสร้างความชอบธรรมในแง่ทฤษฎีการเมือง การกิจด้านนี้ส่งต่อให้กับนักการเมืองและนักคิดคนต่งๆ ที่แสดงความเห็นในทำนองว่าจีนไม่เหมาะกับการปกครองแบบสาธารณะ แต่เข้ากันดีมากวากับระบอบราชาธิปไตย

ในวันที่ 14 สิงหาคม 1915 หยางตู้, ซุนอวี้หยุน, เหยียนฝู, หลิวซือเผย, หลี่เซี่ยเหอ และหูอิง รวม 6 คนตั้งสมาคมโฉวอันขึ้นมาเพื่อเป็นกลุ่มสนับสนุนให้หยวนซื่อข่ายเป็นจักรพรรดิและตั้งระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้นมา พวกเขามีแถลงการณ์ว่า "การเลือกตั้งแบบประชานิยมเป็นการเลือกตั้งโดยทหาร (เพราะผู้แทนในสภาพมีแต่พวกขุนศึก) หนทางที่จะยุติความวุ่นวายในประเทศของเราคือ ยกเลิกระบอบประชาธิปไตยและสถาปนาพระมหากษัตริย์ หนทางที่จะก่อให้เกิดธรรมาภิบาล คือการยกเลิกเผด็จการประชาธิปไตยและสถาปนาสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ”

ในบรรดาคนกลุ่มนี้หยางตู้มีแนวคิดเรื่องรื้อฟื้นระบอบราชาธิปไตยเป็นเรื่องเป็นราวที่สุด เขาเสนอแนวคิดในหนังสือ "ทฤษฎีว่าด้วยการปกป้องประเทศด้วยระบอบราชาธิปไตย" ความตอนหนึ่งว่า

“ถ้าจีนไม่ล้มล้างสาธารณรัฐและสถาปนากษัตริย์ ชาติที่เข้มแข็งก็ไม่มีหวัง ไม่มีหวังเป็นชาติที่มั่งคั่ง ไร้ความหวังที่จะมีรัฐธรรมนูญ ก็มีแต่จะถูกกดขี่ ... ดังนั้นด้วยอำนาจเผด็จการ และการดำเนินการตkมลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม นี่จะเป็นโอกาสให้ราชาปราชญ์ พญาผู้กล้าหาญ (เซิ่งจวิน อิงผี) บรรลุเป้าหมายอันยิ่งใหญ่" ปรากฎว่าหยวนซื่อข่ายถูกใจแนวคิดของหยางตู้เป็นอันมาก

หยางตู้มีเหตุผลของเขา เขาชี้ว่าประเทศจีนในเวลานั้นประชาชนยังมีการศึกษาต่ำและบ้านเมืองยังวุ่ยวายสับสน สมควรที่จะมีผู้ปกครองที่มีอำนาจสิทธิ์ขาด หากผู้ปกครองไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จก็จะไม่มีสันติภาพเกิดขึ้นในประเทศ

นอกจาก "สุภาพบุรษทั้งหก" แล้วยังมีขุนพลทหารจำนวนหนึ่ง เช่น ไช่เอ้อและถังจี้เหยา สองขุนศึกแห่งหยุนหนานแสดงจุดยืนสนับสนุนด้วย หยวนซื่อข่ายยังได้รับ "หนังสือผู้แทนทหารพิทักษ์ชาติสนับสนุนการตั้งจักรพรรดิ " ซึ่งลงนามโดยผู้บัญชาการมณฑลทหารต่างๆ สนับสนุนให้สถาปนาระบอบกษัตริย์

แม้แต่ชาวต่างประเทศ เช่น แฟรงค์ จอห์นสัน กูดนาว นักทฤษฎีการเมืองชาวอเมริกันที่เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้หยวนซื่อข่ายก็เชื่อว่าระบอบราชาธิปไตยนั้นเหมาะกับจีนที่สุด และเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งระบอบราชาธิปไตยที่ทำให้หยวนซื่อข่ายกลายเป็นจักรพรรดิที่ชอบธรรม (ตามกฎหมาย) ในที่สุด

หยวนซื่อข่าย นักฉวยโอกาสปฏิวัติผู้หวังเป็น 'เจ้า' เสียเอง

ตั้งตัวเป็นเจ้า

เวลา 9 โมงเช้าของวันที่ 11 ธันวาคม 1915 ผู้แทนระดับชาติลงมติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบรัฐ รัฐสภาแห่งชาติผ่านคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์เพื่อสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ในวันนั้น ตัวแทนของมณฑลต่างๆ ได้ขอให้หยวนซื่อข่ายเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิจีนเป็นครั้งแรก แต่หยวนซื่อข่ายทำทีเป็นบอกว่าไร้ความสามารถและปฏิเสธคำร้องขอ

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ผู้แทนร้องขอเป็นครั้งที่สอง คราวหนี้หยวนซื่อข่ายไม่อิดออดให้เสียเวลา ประกาศว่าปีหน้าจะเป็นปีแรกของรัชสมัยหงเซี่ยน เท่ากับเป็นการประกาศตนเป็นเจ้า และการเตรียมการจะเป็นจักรพรรดิพร้อมจะเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นจักรวรรดิจีน เปลี่ยนทำเนียบประธานาธิบดีเป็นพระราชวังซินหัว (ปัจจุบันคือศูนย์ราชการรัฐบาลจีนที่จงหนานไห่)

หยวนซื่อข่ายจัดตั้งระบอบบรรดาศักดิ์ขึ้นมาโดยอวยยศให้ผู้สนับสนุนคนต่างๆ ให้เป็นยศถาแบบสมัยศักดินา ขณะที่พวกรัฐบาลเป่ยหยางทางตอนเหนือกำลังเล่นเป็นเจ้ากันอย่างเอิกเกริกนั้น รัฐบาลภาคใต้ก็ประกาศต่อต้านในทันที ไม่เฉพาะแค่รัฐบาลของซุนยัตเซน แต่เป็นกระแสไม่พอใจที่เกิดขึ้นไปทั่วประเทศ ซุนยัตเซน และพรรคพวกจึงต้องทำการ "ปฏิวัติครั้งที่สอง" เพื่อโค่นล้มศักดินาตัวใหม่ แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จ เพราะหยวนซื่อข่ายมีกองทัพเป่ยหยางในมือ ทำให้ซุนยัตเซนต้องหลบหนีไปยังญี่ปุ่น

แต่ในเวลาต่อมา ไช่เอ้อและถังจี้เหยา สองขุนศึกแห่งหยุนหนานที่แต่ก่อนเชียร์ให้หยวนซื่อข่ายเป็นเจ้าอยู่ดีๆ ก็ประกาศตัวเป็นศัตรูประกาศโค่นล้มเจ้ากำมะลอ และดำเนินการ "สงครามพิทักษ์ชาติ" คราวนี้หยวนซื่อข่ายส่งกองทัพเป่ยหยางไปปราบ แต่ปรากฏว่ามันไม่ง่ายเหมือนการปราบการปฏิวัติครั้งที่สอง กองทัพเป่ยหยางถูกปราบเสียเอง หลังจากนั้นมณฑลต่างๆ ก็ประกาศเอกราชจากรัฐบาลหยวนซื่อข่าย เป็นจุดเริ่มต้นของบ "ยุคขุนศึก" ที่จะทำให้จีนแตกแยกวุ่นวายไปอีกหลายปี

เมื่อทั้งแผ่นดินไม่เป็นใจ "ว่าที่จักรพรรดิ" หยวนซื่อข่ายจึงเริ่มเพลี่ยงพล้ำ กอปรกับมีเสียงคัดค้านหนักขึ้นที่ปักกิ่ง แม้แต่ในครอบครัวบรรดาลูกๆ ก็ยังแย่งกันเป็น "องค์รัชทายาท" กันเสียแล้วทั้งๆ ที่พ่อยังไม่ได้ครองราชย์เลยด้วยซ้ำ

หยวนซื่อข่าย นักฉวยโอกาสปฏิวัติผู้หวังเป็น 'เจ้า' เสียเอง

เป็นเจ้าในโลกหน้า

ในวันที่ 22 มีนาคม 1916 หยวนซื่อข่ายจึงประกาศสละระบอบราชาธิปไตย เลิกเป็นจักรพรรดิกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง รวมแล้ว "จักรวรรดิจีน" มีอายุขัยเพียง 102 วัน และชื่อรัชศกหงเซี่ยนที่ปรtกาศใช้ต้นปี 1916 ก็ใช้แบบไม่เป็นทางการเพราะหยวนซื่อข่ายยังไม่ได้ครองราชย์ ดังนั้นบางคนจึงถือว่าเขายังเป็นประธานาธิบดีไม่ได้เป็นจักรพรรดิในช่วงนั้น แต่บางคนก็ถือว่าเขาเป็นเจ้าแล้วและเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน "ตัวจริง"

บางคนว่าหยวนซื่อข่ายนั้นมีทุกอย่างแต่ไม่มีวาสนาจะได้เป็นเจ้า หลังจากล้มเลิกความคิดที่จะเป็นจักรพรรดิแล้ว หยวนซื่อข่ายก็ล้มป่วยหนักด้วยอาการจากไตวายเรื้อรัง กระทั่งเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ วันที่ 6 มิถุนายน 1916

เมื่อตายไปแล้วมีการสร้างสุสานอย่างยิ่งใหญ่สิ้นเงินไปถึง 700,000 เหรียญเงินดอลลาร์และใช้เวลานานถึง 2 ปี รูปแบบนั้นเป็นแบบสุสานหลวงของจักรพรรดิ นัยว่าตอนเป็นยังเป็นเจ้าไม่เต็มตัวอย่างน้อยตอนตายก็ขอเป็นเจ้าในปรภพก็ยังดี

หยวนเค่อติ้ง บุตรชายคนโตของหยวนซื่อข่ายคิดจะตั้งชื่อสุสานว่า "หยวนหลิง" (สุสานหลวงของหยวน) โดยคำว่า "หลิง" นั้นสงวนไว้ใช้กับสุสานหลวงของเจ้าแผ่นดินเท่านั้น แต่สวีซื่อชาง ประธานาธิบดีในขณะนั้นคัดค้านโดยบอกว่าหยวนซื่อข่ายไม่ได้ประสบความสำเร็จในการสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิและยังระงับการใช้รัชศกหงเซี่ยน ไม่เคยได้นั่งบัลลังก์ ดังนั้นไม่ควรใช้คำว่าหยวนหลิง แต่ควรใช้คำว่า "หยวนหลิน" แทนจะดีกว่า

คำกว่า "หลิน" หมายถึงป่า แต่ยังหมายถึงสุสานของปูชนียบุคคลที่มิได้เป็นเจ้า เช่น สุสานของขงจื๊อเรียกว่า "ข่งหลิน" หรือสุสานของกวนอูก็เรียกว่า "กวนหลิน" เป็นต้น การที่หยวนซื่อข่ายไม่ได้คำเรียกสุสานอย่างเจ้าก็นับว่าสมเหตุผล แต่การเรียกสุสานของเขาเทียบเท่าบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ ก็ยังนับว่าไม่เหมาะสมอยู่ดี

โดย กรกิจ ดิษฐาน