posttoday

จีนพบซากเหล้า-เส้นไหมอายุ 5,000 ปี พร้อมเครื่องหยกโบราณ

01 ตุลาคม 2564

นักโบราณคดีจีนพบซากแอลกอฮอล์และเส้นไหมโบราณอายุกว่า 5,000 ปีในมณฑลเหอหนาน

คณะนักโบราณคดีจีนเปิดเผยการค้นพบซากแอลกอฮอล์และเส้นไหมโบราณ ซึ่งมีความเก่าแก่มากกว่า 5,000 ปี ระหว่างการขุดค้นแหล่งโบราณคดีหมู่บ้านหย่างเสาครั้งที่ 4 ในมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน

เหล่านักโบราณคดีจีน ซึ่งทำงานร่วมกับสถาบันทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของสหรัฐฯ และพิพิธภัณฑ์ผ้าไหมแห่งชาติจีน ตรวจพบโปรตีนไหมตกค้างในตัวอย่างดินของกระดูกมนุษย์ที่หมู่บ้านหย่างเสา และพบสุราทำจากเมล็ดพืชหมักในขวดก้นแหลมที่สามารถสืบอายุย้อนกลับถึงวัฒนธรรมหย่างเสาตอนกลางและตอนปลาย

หลี่ซื่อเหว่ย ผู้ดูแลสถานที่ขุดค้นแห่งดังกล่าว ระบุว่าการค้นพบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โบราณเป็นหลักฐานโดยตรงที่บ่งชี้ถึงการกลั่นและการบริโภคแอลกอฮอล์จากเมล็ดพืช ณ บริเวณพื้นที่อยู่อาศัยหลักของวัฒนธรรมหย่างเสา

ด้านหลิวไห่วั่ง หัวหน้าสถาบันมรดกทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลเหอหนาน เผยว่าเส้นไหมที่หลงเหลืออยู่และถูกพบในช่วงไม่กี่ปีมานี้สะท้อนว่าบรรพบุรุษแถบตอนกลางแม่น้ำเหลืองเพาะเลี้ยงหนอนไหมและผลิตเส้นไหมตั้งแต่กว่า 5,000 ปีก่อนแล้ว

นอกจากนั้นคณะนักโบราณคดียังขุดพบสิ่งประดิษฐ์จากหยกหลายชิ้นเป็นครั้งแรกในหมู่บ้านหย่างเสา อาทิ ขวานหยก ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทางทหาร

การขุดค้นแหล่งโบราณคดีหมู่บ้านหย่างเสา ครั้งที่ 1 ในอำเภอเหมี่ยนฉือของเหอหนาน เมื่อปี 1921 นับเป็นจุดกำเนิดของโบราณคดีจีน และเป็นที่มาของชื่อวัฒนธรรมหย่างเสา วัฒนธรรมทางโบราณคดีที่เป็นที่รู้จักแห่งแรกของจีน ขณะการขุดค้นครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 มีขึ้นในปี 1951 และปี 1980

ทั้งนี้ วัฒนธรรมหย่างเสามีต้นกำเนิดบริเวณตอนกลางของแม่น้ำเหลือง ถือเป็นต้นธารสำคัญของอารยธรรมจีน และเป็นที่รู้จักกว้างขวางจากเทคโนโลยีทำเครื่องปั้นดินเผาขั้นสูง ส่วนการขุดค้นแหล่งโบราณคดีหมู่บ้านหย่างเสา ครั้งที่ 4 เริ่มต้นเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2020 และยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการในปัจจุบัน

*หมายเหตุ ภาพจากสถาบันมรดกทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลเหอหนาน : กลุ่มไมโครฟอสซิล อาทิ เม็ดแป้ง ไฟโตลิธ รา และยีสต์ ซึ่งสกัดจากตัวอย่างที่พบในแหล่งโบราณคดีหมู่บ้านหย่างเสา มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน